กรุงเทพฯ – นายกรัฐมนตรี วอนร้านอาหารคำนึงความปลอดภัยของผู้บริโภค ขอแจ้งส่วนผสมกัญชา กำชับ 3 กระทรวง เร่งสร้างการรับรู้ถึงคุณประโยชน์และโทษของกัญชา/กัญชง ย้ำเจตนารมณ์ปลดล็อคเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และสุขภาพ
วันที่ 16 มิถุนายน 2565 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สั่งการกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงมหาดไทย รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งสื่อสาร ทำความเข้าใจ เด็ก เยาวชน และประชาชนทั่วไป ถึงการใช้กัญชาที่ถูกต้อง รวมไปถึงอันตรายและโทษของกัญชา หากถูกนำไปใช้ผิดวิธีหรือมากเกินความจำเป็น รวมทั้งการสนับสนุนให้สถานศึกษาทุกระดับเป็นพื้นที่ปลอดกัญชา
นายกรัฐมนตรี ยังย้ำถึงการปลดล็อคกัญชา เพื่อ 3 วัตถุประสงค์หลัก คือ เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ เพื่อประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจ และเพื่อประโยชน์ทางด้านสุขภาพ จึงขอให้ประชาชนให้ความร่วมมือตามวัตถุประสงค์ดังกล่าว ในช่วงสูญญากาศทางกฎหมายระหว่างรอ ร่างพระราชบัญญัติ กัญชา กัญชง พ.ศ. .… ซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างการเร่งรัดในกรรมาธิการ โดยกระทรวงสาธารณสุข กำลังเร่งประชุมพิจารณาให้กัญชาเป็น ‘สมุนไพรควบคุม’ ป้องกันการเข้าถึงของเยาวชน
ข่าวน่าสนใจ:
- ททท. จัดงานใหญ่ "วิจิตรเจ้าพระยา 2024" สวยงามตระการตา กระตุ้นการท่องเที่ยวส่งท้ายปีนี้
- วธ.จัด“ลอยกระทงวิถีไทย ปลอดภัย ใส่ใจสิ่งแวดล้อม” น้อง“หมูเด้ง” Thai Cuteness ร่วมสร้างสีสัน
- รมว.ท่องเที่ยว ชวนลอยกระทง "สีสันแห่งสายน้ำฯ" สร้างสรรค์และใส่ใจสิ่งแวดล้อม
- ทีดีอาร์ไอ จัดเวิร์คชอป “ CONTENT CREATOR WORKSHOP: SYNERGY FOR CLEAN ENERGY”
นายกรัฐมนตรียังฝากขอความร่วมมือ ร้านค้า ร้านอาหาร-เครื่องดื่ม ที่นำส่วนของกัญชามาใช้ในการทำ ประกอบ หรือปรุงอาหาร ต้องแจ้งข้อมูล ปริมาณการใช้ เพื่อให้ผู้บริโภครับทราบเพื่อความปลอดภัยแก่ผู้บริโภค หลีกเลี่ยงส่งกระทบต่อสุขภาพที่จะตามมา
“ภายหลังที่กัญชาได้พ้นจากบัญชีจากเสพติดประเภทที่ 5 เป็นต้นมา ปรากฏในช่วงระยะเวลา 6 วันที่ผ่านมา มีการจดแจ้งในเว็บไซต์ และแอปพลิเคชัน ‘ปลูกกัญ’ เพื่อการปลูกมากถึง 37 ล้านครั้ง และมีผู้ได้รับการจดแจ้งแล้วกว่า 7 แสนรายแล้ว อย่างไรก็ตาม การปลดกัญชาออกจากการเป็นยาเสพติด มีเจตนารมณ์ที่สำคัญเพื่อการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์และสุขภาพ โดยกระทรวงสาธารณสุข กรมอนามัยได้ออกข้อแนะนำในการใช้กัญชาและกัญชง ให้ระวังผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นหากบริโภคอย่างไม่เหมาะสม และห้ามจำหน่ายแก่บุคคล 3 กลุ่ม ได้แก่ เด็กและเยาวชน สตรีมีครรภ์ มารดาที่ให้นมบุตร เพื่อคุ้มครองไม่ให้กลุ่มเปราะบางเหล่านี้เกิดผลข้างเคียง เด็กและเยาวชนที่มีโอกาสเสพติดมากกว่าผู้ใหญ่ และยังส่งผลกระทบต่อพัฒนาการของสมอง ระดับสติปัญญา ขณะที่ในหญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร สารสกัดจากกัญชาอาจส่งผลต่อเด็กในครรภ์หรือทารกได้” นายธนกร กล่าว
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: