ลีโอนาร์ไดต์ (Leonardite) คืออะไร
‘ลีโอนาร์ไดต์’ คือ ชั้นดินปนถ่านหิน ที่เกิดจากการทำปฏิกิริยากับออกซิเจนตามธรรมชาติ หรือปฏิกิริยาออกซิเดชัน (Oxidation Reaction) ซึ่งในขั้นตอนการขุดลิกไนต์จากใต้ผิวดินที่เรียงตัวสลับกันกับชั้นดิน จะมีชั้นดินปนถ่านหิน หรือ ลีโอนาไดต์อยู่ ซึ่งถือเป็นถ่านคุณภาพต่ำ ไม่สามารถนำมาเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าได้ จึงเป็นส่วนที่เหลือทิ้งจากการทำเหมือง ซึ่งมีปริมาณมาก และยังไม่ได้ถูกนำไปใช้ประโยชน์เท่าที่ควร
ลีโอนาร์ไดต์ในประเทศไทย
ทางภาคเหนือของประเทศไทยมีการผลิตไฟฟ้า โดยใช้พลังงานจากถ่านลิกไนต์ ที่โรงไฟฟ้าแม่เมาะ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ตั้งอยู่ที่ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง โดยมีการขุดถ่านลิกไนต์มาใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งในกระบวนการนี้จะมีลีโอนาร์ไดต์ ปริมาณกว่า 1.1 ล้านตัน (ข้อมูล ณ พฤศจิกายน 2564) หรือเรียกว่าวัตถุพลอยได้จากการทำเหมือง เหมือง
กฟผ. ได้ศึกษาวิจัยร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อหาแนวทางในการนำลีโอนาร์ไดต์ มาใช้ประโยชน์ในด้านการเกษตร
ประโยชน์ของลีโอนาร์ไดต์
จากการศึกษาวิจัยของ กฟผ. ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พบว่าลีโอนาร์ไดต์ ของเหมืองแม่เมาะ มีอายุการเกิดกว่า 13 ล้านปี จึงมีปริมาณอินทรีย์วัตถุสูง ประกอบด้วย สารฮิวมิค (Humic substance) 3 ตัวหลัก คือ กรดฮิวมิค (Humic Acid) กรดฟูลวิค (Fulvic acid) และฮิวมิน (Humin) รวมถึงธาตุอาหาร ทั้งธาตุหลักและธาตุรองที่เป็นประโยชน์ต่อพืช โดยที่ Humic substance มีคุณสมบัติในการช่วยปรับปรุงโครงสร้างดิน เพิ่มความสามารถในการอุ้มน้ำ การระบายน้ำและถ่ายเทอากาศ เป็นแหล่งอาหารของจุลินทรีย์ดินที่เป็นประโยชน์ และเพิ่มความสามารถในการดูดซับธาตุอาหาร ช่วยในการเจริญเติบโตของพืช จึงเหมาะแก่การนำมาใช้ในทางการเกษตร โดยนำมาแปรรูปเป็นวัสดุปรับปรุงดิน ผสมเป็นปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยอินทรีย์เคมี ซึ่งช่วยลดการใช้ปุ๋ยเคมีลงได้ประมาณ ร้อยละ 50
ต่อยอดสร้างรายได้สู่ชุมชน
กฟผ. ให้ความสำคัญกับชุมชนรอบพื้นที่เป็นอันดับต้นๆ โดยได้ส่งเสริมให้วิสาหกิจชุมชน อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง นำลีโอนาร์ไดต์ไปผลิตเป็นวัสดุปรับปรุงดินเพื่อใช้งานเองและจำหน่าย เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับชุมชน โดยปัจจุบัน กฟผ. จำหน่ายลีโอนาร์ไดต์ให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแม่เมาะ ปีละประมาณ 5,000 – 10,000 ตัน ซึ่งจากการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนดังกล่าว ได้ช่วยให้เกษตรกรลดต้นทุนการซื้อปุ๋ยเคมีลงได้ และยังเพิ่มรายได้จากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์แปรรูปจากลีโอนาร์ไดต์ คิดเป็นมูลค่าเพิ่มประมาณ 5 – 7 เท่า หรือปีละกว่า 6.25 ล้านบาท กระจายสู่ชุมชนท้องถิ่นโดยรอบ ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาพรวมของชุมชน ช่วยลดการใช้สารเคมีในภาคการเกษตร สำหรับพื้นที่ใน กฟผ.แม่เมาะเองก็ได้นำลีโอนาร์ไดต์มาใช้เป็นส่วนผสมเป็นวัสดุในการปลูกพืช และส่วนผสมปุ๋ยหมักสำหรับแปลงปลูกต้นไม้ในงานฟื้นฟูสภาพเหมือง และแปลงปลูกต้นไม้ต่าง ๆ อีกด้วย
ส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)
การสร้างมูลค่าเพิ่มจากวัตถุพลอยได้จากการทำเหมืองแม่เมาะ นอกจากจะเป็นการนำทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy: CE) ของ กฟผ. แล้ว ยังมีส่วนช่วยสร้างงานและสร้างรายได้ให้กับชุมชนรอบพื้นที่ กฟผ. แม่เมาะ เพื่อให้ชุมชนมีความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืน
นอกจากนี้ กฟผ. ได้เตรียมต่อยอดความร่วมมือโครงการวิจัยกับสถาบันการศึกษาและหน่วยงานอื่นๆ ในการจัดทำแผนพัฒนาเพื่อเพิ่มมูลค่าลีโอนาร์ไดต์ให้มีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์สูงสุดในเชิงธุรกิจ ทั้งการวิจัยผลิตภัณฑ์ การวิจัยสกัดกรดฮิวมิค และกรดฟุลวิคเข้มข้นจากลีโอนาร์ไดต์ มาเพิ่มมูลค่า ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในปัจจุบัน โดยคำนึงถึงการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในระยะยาวตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนของ กฟผ. เพื่อเป็นทางเลือกใหม่ในการพัฒนาเศรษฐกิจสู่ความยั่งยืนในอนาคต
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: