ลำปาง – มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง จับมือ 12 โรงงานระดับครัวเรือน ชุบชีวิตอุตสาหกรรมเซรามิกด้วยการผสมผสานชุดความรู้จากงานวิจัย ภายใต้การสนับสนุนของ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) สร้างอัตลักษณ์สินค้าเชื่อมโยงภูมิปัญญาและวัฒนธรรมท้องถิ่นนำร่องด้วยผลิตภัณฑ์ ‘ระฆังอธิษฐาน’ สร้างรายได้ให้ครัวเรือนและชุมชน เฉียด 1 ล้านบาท
วันที่ 1 กรกฎาคม 2565 รศ.ธิติมา คุณยศยิ่ง จากมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง ในฐานะหัวหน้า ’โครงการจัดการทุนทางวัฒนธรรมท้องถิ่นเพื่อรักษาคุณค่าสู่การยกระดับมูลค่าทางเศรษฐกิจของเซรามิก จ.ลำปาง’ ระบุว่า อุตสาหกรรมเซรามิก ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมระดับครัวเรือน ที่เป็นเอกลักษณ์ของ จ.ลำปาง และมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของจังหวัด ถูกกระทบอย่างรุนแรงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา กระทั่งผู้ประกอบการจำนวนมากต้องเลิกกิจการไป ส่งผลให้ผลผลิตหดหายไปกว่า ร้อยละ 33 การจ้างงานลดลงไปกว่า ร้อยละ 28 กำลังได้รับการฟื้นฟูให้กลับคืนสู่ความมีชีวิตชีวาขึ้นอีกครั้ง ด้วยการประสานความร่วมมือระหว่าง มหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) ลำปาง กับโรงงานเซรามิกระดับครัวเรือน 12 แห่ง
โดยใช้องค์ความรู้และการวิจัยอย่างเป็นระบบ ด้วยการสนับสนุนจาก หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ในการระดมความคิดเห็นจากผู้ประกอบการ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกส่วน ภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชน ร่วมกับคณาจารย์ นักวิชาการ ที่มีองค์ความรู้เกี่ยวข้องกับการจัดการทุนทางวัฒนธรรมท้องถิ่น อุตสาหกรรมเซรามิก และการจัดการทางการตลาดเพื่อหาทางออกร่วมกันในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น
รศ.ธิติมา คุณยศยิ่ง เปิดเผยอีกว่า กระบวนการฟื้นฟูอุตสาหกรรมเซรามิกลำปาง เริ่มจากการสังเคราะห์ข้อมูลอย่างรอบด้าน แล้วนำมาวิเคราะห์ออกแบบแผนการทำงานเพื่อความอยู่รอดของโรงงานเซรามิกระดับครัวเรือน ภายใต้แนวความคิดที่ตกผลึกร่วมกันระหว่างทีมวิจัย และผู้ประกอบการ คือ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ความหลากหลาย ตอบโจทย์ความต้องการของตลาด รวมทั้งการนำอัตลักษณ์ทุนทางวัฒนธรรมล้านนาจังหวัดลำปาง เช่น ลวดลายของวัดพระธาตุลำปางหลวงจิตรกรรมฝาผนัง หรือการละเล่นของจังหวัดลำปาง มาใช้ในการออกแบบสร้างสรรค์และผลิตผลิตภัณฑ์เซรามิก เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า
ข่าวน่าสนใจ:
นอกจากนี้ ยังพบความจำเป็นที่จะต้องหาตลาดให้กว้างขึ้น เพราะบางโรงงานเคยขายของให้แก่ผู้ค้ารายใหญ่ไม่กี่ราย เมื่อขาดออเดอร์ทำให้ได้รับผลกระทบมาก อย่างไรก็ตาม หากจะปรับเปลี่ยนมาขายสินค้าออนไลน์ ก็จำเป็นต้องปรับปรุงสินค้าให้ทันความต้องการของลูกค้า และต้องทำผลิตภัณฑ์งานเคลือบ งานอาร์ต และเล่นสีสันให้ทันสมัย
ซึ่งการออกแบบลวดลายผลิตภัณฑ์เซรามิก ให้ได้รับความสนใจจากผู้ซื้อมากขึ้น คณะผู้วิจัยได้ทำงานร่วมกับโรงงานเซรามิกที่เข้าร่วมโครงการทั้ง 12 แห่ง เพื่อออกแบบผลิตภัณฑ์ และลวดลายขึ้นใหม่โดยอ้างอิงจากอัตลักษณ์ทุนทางวัฒนธรรมล้านนา จ.ลำปาง ที่เป็นเอกลักษณ์ดั้งเดิม ทำให้ได้สินค้าใหม่ และเป็นเอกลักษณ์ไม่ซ้ำกันของแต่ละโรงงาน
♦โรงงานบ้านปั้นแต่งดินเผา พัฒนาผลงาน ‘กระถางปลูกต้นไม้เซรามิก’ จากแนวความคิดลายคำล้านนา
♦โรงงานเสมียนเซรามิก พัฒนาผลงาน ‘ระฆังเซรามิก’ จากแนวความคิดลายคำจั๋งโก๋
♦โรงงานฆ้อนทองเซรามิก พัฒนาผลงาน ‘กระถางเซรามิก’ สำหรับปลูกต้นไม้ขนาดเล็ก
♦โรงงานพัชธิดาเซรามิก พัฒนาผลงาน ‘จานเซรามิก’ จากแนวความคิดดาวเพดาน
♦โรงงานบ้านปั้นจันทร์ พัฒนาผลงาน ‘ชุดกรวดน้ำเซรามิก’
♦โรงงาน ก.เซรามิก พัฒนาผลงาน ‘กระถางปลูกต้นไม้’ จากแนวความคิด นาคทัณฑ์หรือคันทวย
♦โรงงานสร้อยทิพย์เซรามิก พัฒนาผลงาน ‘แจกันเซรามิก’ จากแนวความคิดการจำลองรูปทรงน้ำต้น
♦โรงงานประภาสิทธิ์เซรามิก พัฒนาผลงาน ‘ชุดสปาเชรามิก’ จากแนวความคิดลายเตาเมืองวัง
♦โรงงานลีลามิค พัฒนาผลงาน ‘แจกันเซรามิก’ จากแนวความคิดการแต่งกายของกลุ่มชาติพันธุ์
♦โรงงานมณีเซรามิก พัฒนาผลงาน ‘เครื่องประดับเซรามิก’ จากแนวความคิดลายคำล้านนา
♦โรงงานปั้นงานเซรามิก พัฒนาผลงานผลิตภัณฑ์ ‘จานและเขียงเซรามิก’
♦โรงงานนกเซรามิก พัฒนาผลงาน ‘กระถางปลูกต้นไม้เซรามิก’ จากแนวความคิดลวดลายปูนปั้น
หัวหน้าโครงการจัดการทุนทางวัฒนธรรมท้องถิ่นเพื่อรักษาคุณค่าสู่การยกระดับมูลค่าทางเศรษฐกิจของเซรามิก จ.ลำปาง กล่าวอีกว่า การวิจัยเมื่อปี 2564 คณะผู้วิจัยได้ทดลองสร้างช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าเซรามิก โดยผลิตจากดินขาวลำปางในรูปแบบระฆังและความเป็นสิริมงคล เพื่อทดสอบความสนใจของตลาดผ่านการจัดกิจกรรมพิเศษทางการตลาด โดยมุ่งการสื่อสารเรื่องอัตลักษณ์ทุนทางวัฒนธรรมล้านนาลำปาง เมืองเซรามิก ผ่านแนวคิด “ระฆังอธิษฐาน” ด้วยกิจกรรมพิเศษทางการตลาดที่ผู้วิจัยได้จัดขึ้น ภายใต้ความร่วมมือกับเจ้าอาวาสวัดพระธาตุดอยพระฌานอำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง
คณะนักวิจัยได้จัดเก็บข้อมูล ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ จากการวิจัยใน 1 ปี ของปี 2564 มีผู้เกี่ยวข้องได้ประโยชน์จากโครงการวิจัย เป็นมูลค่ารวมกว่า 900,000 บาท โดยมีผู้ได้ผลประโยชน์ 6 กลุ่มได้แก่ วัด ชุมชนโดยรอบ ร้านกาแฟ ร้านอาหาร ร้านขายของที่ระลึก ผู้ประกอบการเซรามิกระดับครัวเรือน มีรายได้เพิ่มขึ้น จากการจำหน่ายระฆังเซรามิก 199,000 บาท
วัดพระธาตุดอยพระฌานมีรายได้เข้าวัด จากการจำหน่ายระฆังเซรามิกให้ผู้มีจิตศรัทธา และนักท่องเที่ยว ฯลฯ 199,000 บาท พนักงานจำหน่ายที่จำหน่ายระฆังอธิษฐาน เป็นผู้ได้รับเงินจากการจ้างงาน45,000 บาท ส่วนผู้ให้บริการรถรับ-ส่ง ได้รับรายได้เพิ่มขึ้น 50,000 บาท ร้านกาแฟและร้านจำหน่ายของที่ระลึกภายในวัดถือเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์ทางอ้อม ในด้านรายได้และการจ้างงานจาก จากจำนวนของนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น 35,000 บาท ส่วน ร้านกาแฟและร้านอาหาร ภายในชุมชน ได้รายได้จากจำนวนของนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น 25,000 บาท
“กิจกรรมระฆังอธิษฐาน ได้แนวคิดและแรงบันดาลใจ มาจากพระไดบุทสึ ประเทศญี่ปุ่น ที่เจ้าอาวาสได้ร่วมกับลูกศิษย์และผู้เลื่อมใสศรัทธาสร้างองค์พระขึ้นมา ประกอบกับวัดดอยพระฌานแห่งนี้ มีความงดงาม ตามธรรมชาติ ที่ตั้งวัดอยู่บนดอยที่มีอากาศดี สามารถมองเห็นวิวทิวทัศน์เมืองลำปางได้ 360 องศา จึงเหมาะสมที่จะสร้างกิจกรรมนี้ขึ้นมาและได้รับความสำเร็จเป็นอย่างดี” รศ.ธิติมา กล่าว
ส่วนในปี 2565 นี้ ทีมวิจัยเตรียมจะเสนอโครงการต่อเนื่อง เพื่อขอทุนสนับสนุนจาก บพท.เพื่อทำโครงการในการพัฒนาย่านวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น ใน จ.ลำปาง เพื่อให้สามารถผลิตสินค้าจากท้องถิ่นที่มีความหลากหลาย เชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมท้องถิ่น ตามแนวทางเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และพัฒนาช่องทางการทางการตลาดในการจำหน่ายสินค้าของผู้ประกอบการใน จ.ลำปาง เพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยฟื้นฟูอุตสาหกรรมเซรามิกในจังหวัดให้ฟื้นตัวและมีความเข้มแข็งเพิ่มขึ้นในอนาคต
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: