X

เรื่องเล่าอัศจรรย์จาก ‘ป่าชายเลน’ ปากแม่น้ำบางปะกง

แสงแดดยามเช้าสาดส่องมายังเหล่าต้นโกงกางและพันธุ์ไม้ป่าชายเลน เขียวขจีน่ามองทั่วทั้งเกาะธรรมชาติท่าข้ามที่โอบล้อมด้วยแม่น้ำบางปะกง อุดมสมบูรณ์ราวกับว่าอยู่ในฤดูฝนที่น้ำชุ่มฉ่ำ แม้เพิ่งจะผ่านฤดูร้อนมาไม่ทันไร สัตว์ประจำถิ่นของป่าชายเลนอย่างเจ้าปูแสมตัวจิ๋ว เหล่าปลาตีน และนกหลากหลายสายพันธุ์ ก็ออกมารับแดดพร้อมผลัดกันส่งเสียงทักทายพวกเราที่สัญจรเข้ามาเยือนอย่างสนุกสนาน ความสวยงามและอุดมสมบูรณ์นี้เป็นแหล่งเรียนรู้เชิงนิเวศของชาวตำบลท่าข้าม อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา ที่สามารถพลิกฟื้นคืนชีวิตป่าชายเลนจากความร่วมมือระหว่างชุมชนตำบลท่าข้าม โรงไฟฟ้าบางปะกง กฟผ. และ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

“ภาพจำในอดีตยังคอยย้ำเตือนใจอยู่เสมอ ป่าจากแก่ ๆ ป่าชายเลนที่เสื่อมโทรม ไม่มีความอุดมสมบูรณ์ ถูกทอดทิ้งไม่ได้รับการดูแล หนำซ้ำยังถูกบุกรุกเข้ามาใช้พื้นที่เป็นบ่อเลี้ยงกุ้ง จนไม่มีใครอยากเข้ามาในพื้นที่ แต่เพราะที่แห่งนี้เป็นพื้นที่ในตำบลท่าข้าม ถ้าพวกเราชาวท่าข้ามไม่ดูแลแล้วใครจะดูแล” นายกอ้วน นางสมจิตร์ พันธุ์สุวรรณ นากยกเทศมนตรีตำบลท่าข้าม เล่าถึงจุดเริ่มต้นที่มาของการปลุกระดมชุมชนมาช่วยกันพลิกฟื้นผืนป่าชายเลน

นายกอ้วน

เกาะธรรมชาติท่าข้ามที่กว้างถึง 125 ไร่ ได้รับการอนุญาตจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งให้เหล่าจิตอาสาตำบลท่าข้าม เข้ามาดูแลฟื้นฟูพื้นที่บนเกาะกว่า 60 ไร่  โดยได้รับการสนับสนุนจากโรงไฟฟ้าบางปะกง กฟผ. ทั้งระดมแรงกายแรงใจมาช่วยกันปลูกป่า จัดเตรียมพันธุ์ต้นกล้า สนับสนุนการสร้างสะพานศึกษาเส้นทางธรรมชาติ หอดูนก และห้องบรรยาย ทำให้พื้นที่เกาะธรรมชาติท่าข้ามกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านระบบนิเวศแห่งใหม่

“จนถึงวันนี้ผ่านมาแล้วกว่า 10 ปี ความสำเร็จจากความร่วมมือของทุกหน่วยงาน เห็นได้จากต้นโกงกางทั้งใบใหญ่และใบเล็กที่แผ่รากค้ำจุนไปทั่วทั้งเกาะ ต้นลำพู ต้นประสักขาว-แดง ต้นไม้ป่าชายเลนสามารถเกิดขึ้นเองได้ตามธรรมชาติ ระบบนิเวศอุดมสมบูรณ์ จำนวนสัตว์เพิ่มมากขึ้น เหล่านกนานาพันธุ์ก็ได้บินมาขออาศัยความร่มเย็นในพื้นที่แห่งนี้มากกว่า 50 ชนิด สร้างอาชีพในการนำเที่ยวให้กับชุมชนในพื้นที่ นับว่า สมใจชาวท่าข้ามไม่น้อยเลยทีเดียว” นกยกอ้วน เล่าให้ฟังด้วยสีหน้าสุขใจ พร้อมพาพวกเรามาส่งที่ฝั่งหลังจากได้สูดบรรยากาศที่สดชื่นกันเรียบร้อยแล้ว

ข้ามมาอีกฝั่งของแม่น้ำบางปะกง พื้นที่ชุมชนคลองหัวจาก ชุมชนเล็ก ๆ ที่มีจุดศูนย์กลางของชุมชนอยู่ที่ โรงเรียนพระพิมลเสนี (พร้อม หงสกุล) พวกเราได้พบกับ ผอ.สิริกร บุญทัน ผู้อำนวยการโรงเรียนฯ ที่มาพร้อมกับเด็ก ๆ ในโรงเรียนและชุมชน ที่ถือต้นกล้าและอุปกรณ์ปลูกป่า เดินมุ่งหน้าตรงไปยังป่าชายเลนที่กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนา เพื่อใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ที่สามารถสร้างรายได้และสร้างอากาศที่บริสุทธิ์ให้แก่ชุมชน

“ย้อนไปเมื่อปี 2562 ป่าชายเลนในพื้นที่ของโรงเรียนแห่งนี้ ไม่ได้ใช้ประโยชน์ ดินและน้ำเน่าเสียส่งกลิ่นเหม็นปกคลุมไปทั่วบริเวณ ต้นไม้ก็ทยอยตายกันทีละต้นๆจนเกลี้ยง สัตว์น้ำไม่สามารถอาศัยอยู่ได้ กลายเป็นพื้นที่รกร้าง โรงเรียนจึงได้ร่วมมือกับชุมชน ซึ่งเป็นผู้ปกครองของเด็กๆ ช่วยกันฟื้นคืนชีพป่าชายเลน แต่ในขณะนั้นเราไม่มีองค์ความรู้ ไม่มีแนวทางที่จะแก้ไข โรงไฟฟ้าบางปะกง กฟผ. ได้หยิบยื่นน้ำใจที่จะเข้ามาช่วยเป็นแรงสนับสนุนให้กับเรา พร้อมนำทีมโครงการพลังชุมชนและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน เข้ามาเป็นที่ปรึกษาให้แก่ชุมชน” ผอ.สิริกร เล่าให้พวกเราฟัง ในขณะกำลังเดินเข้าป่าชายเลนไปพบกับ ดร.ชลกานดาร์ นาคทิม ผู้ประสานงานโครงการพลังชุมชนและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน ที่เกิดจากความร่วมมือของ กฟผ. สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม สมาคมพัฒนาศักยภาพและอัจฉริยภาพมนุษย์ และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ดร.ชลกานดาร์ เล่าว่า เราเริ่มแก้ไขจากปัญหาดินเสียเป็นอันดับแรก เพราะป่าชายเลนจะเติบโตได้อย่างยั่งยืนนั้น ดินเป็นองค์ประกอบที่สำคัญมาก โรงไฟฟ้าบางปะกง กฟผ. และโครงการ ฯ จึงได้พาชุมชนไปหาความรู้จากศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดจันทบุรี และพื้นที่ป่าชายเลนที่ประสบความสำเร็จอื่นๆ เพื่อนำความรู้มาประยุกต์กับภูมิปัญญาชาวบ้านในการแก้ไขปัญหาดิน ไม่ว่าจะเป็นการทำคลองไส้ไก่ การโพรงดินให้น้ำสามารถไหลได้อย่างสะดวก และเติมจุลินทรีย์สังเคราะห์แสง เพิ่มออกซิเจนให้กับดินในพื้นที่ป่าชายเลนของโรงเรียน พวกเราใช้เวลากว่า 1 ปี ปัญหาดินเสียเริ่มดีขึ้น เห็นได้จากเจ้าปูแสมและปลาตีนที่กลับเข้ามาให้ได้เห็นกันบ้าง หลังจากนั้นจึงค่อยๆปลูกป่าชายเลน ควบคู่ไปกับการดูแลรักษาดินอย่างต่อเนื่อง

พื้นที่ป่าชายเลนในวันนี้ เขียวขจี เป็นสัดเป็นส่วนมากขึ้น สัตว์เจ้าถิ่นวิ่งไปมาให้ได้เห็นอย่างหนาตา แม้จะดูด้วยสายตา อาจยังไม่สมบูรณ์มากนัก เพราะเป็นเพียงก้าวแรกๆของชุมชน ที่กำลังร่วมแรงร่วมใจกันพัฒนา แต่เหนือสิ่งอื่นใดนั้น ชุมชนได้รับองค์ความรู้ รู้จักการดูแลป่า ดูแลดิน ดูแลน้ำ และพัฒนาป่าแห่งนี้ให้กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ทางระบบนิเวศป่าชายเลน จากประสบการณ์ตรงของชุมชนที่เปิดโอกาสให้ทุกหน่วยงานสามารถเข้ามาเรียนรู้ได้  พร้อมทั้งยังสามารถปลูกฝังจิตสำนึกรักป่าชายเลนให้กับลูก ๆ หลาน ๆ ในชุมชนที่เป็นผลพลอยได้ที่ยิ่งใหญ่อีกด้วย

พี่ธันย์ชนก เดชหนู ตัวแทนชุมชน ยังเล่าให้เราฟังอีกว่า ชุมชนได้จัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนกลุ่มต้นกล้าป่าชายเลน ชุมชนคลองหัวจาก นำความรู้ที่ได้รับมาก่อให้เกิดการสร้างอาชีพเสริมในชุมชน ทั้งการเพาะต้นกล้าพันธุ์ไม้ขาย การสานตระกร้าจากใบจากเพื่อใช้แทนถุงดำเพาะต้นกล้า รวมทั้งการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผลลัพธ์จากความอุดมสมบูรณ์ขึ้นของป่าชายเลน เช่น การทำปูแสมดอง และการทำชาใบขลู่ 3 สหาย ที่พี่ ๆ เตรียมมาให้พวกเราได้ลองชิมแก้ดับกระหายกันอย่างเต็มที่ ก่อนที่จะโบกมือลากันในเย็นวันนั้น

ป่าชายเลนทั้ง 2 พื้นที่ที่พวกเราได้มาเยือน ต่างมีเรื่องเล่าความเป็นมาและปัญหาที่แตกต่างกัน แต่มีจุดมุ่งหมายเดียวกัน คือ การสร้างความสมบูรณ์ของระบบนิเวศป่าชายเลนให้ฟื้นคืนกลับมา ความสำเร็จไม่ต้องพูดก็สามารถเห็นได้จากรอยยิ้มและเสียงหัวเราะของทุกคนที่เล่าเรื่องราวให้ฟัง บ่งบอกได้ว่า วันนี้พวกเขามีความสุขกับความอุดมสมบูรณ์นี้มากแค่ไหน นับเป็นความภาคภูมิใจของ กฟผ. ที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการร่วมปลูกป่าและดูแลรักษาป่าร่วมกับชุมชน จนกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ทางระบบนิเวศที่สำคัญของชาวบางปะกงที่จะเชิญชวนให้เหล่านักเดินทางผู้หลงรักในป่าชายเลนเข้ามาเยี่ยมเยียนศึกษาเรื่องราว และนำไปเล่าขานถึงดินแดนที่สามารถพลิกฟื้นคืนความอุดมสมบูรณ์ได้อย่างน่าอัศจรรย์

♦ หากหน่วยงานใด สนใจร่วมโครงการปลูกป่าล้านไร่อย่างมีส่วนร่วมกับ กฟผ. สามารถติดต่อประสานงานได้ที่ ฝ่ายบริหารด้านการใช้ไฟฟ้าและกิจการเพื่อสังคม กฟผ. โทร 08 2337 5040

 

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

Picture of ลักขณา สุริยงค์

ลักขณา สุริยงค์

ทำหน้าที่สื่อมวลชนมาเกือบ 30 ปี ทั้งงานสายข่าวและจัดรายการทีวี-วิทยุมานับไม่ถ้วน "ไม่เป็นกลาง แต่เป็นธรรม พร้อมนำเสนอความจริง"