กรุงเทพฯ – กรมควบคุมโรค เข้มมาตรการคัดกรองผู้เดินทางเข้าประเทศ เตือนกลุ่มเสี่ยงลดการสัมผัสใกล้ชิดและมีเพศสัมพันธ์กับคนที่ไม่รู้จัก ปฏิบัติตามมาตรการ Universal Prevention ชี้ หายได้เองได้ใน 4 สัปดาห์ อาการไม่รุนแรง ส่วน 16 คนร่วมบ้านผู้ป่วยชายไทย รอด
วันที่ 30 กรกฎาคม 2565 นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุว่า โรคฝีดาษลิงพบการระบาดในยุโรป ส่วนใหญ่เกิดในกลุ่มชายรักชาย โดยเฉพาะผู้ที่มีคู่นอนหลายคน ซึ่งหากมีการป้องกันที่ถูกต้องและปฏิบัติตัวเพื่อลดความเสี่ยง โดยการไม่สัมผัสใกล้ชิดและมีเพศสัมพันธ์กับคนแปลกหน้า จะสามารถป้องกันการแพร่ระบาดของโรคได้
สำหรับสถานการณ์โรคฝีดาษลิงทั่วโลก (ข้อมูล ณ วันที่ 29 ก.ค.65) มีผู้ป่วยยืนยันทั่วโลก 22,485 คน พบเพิ่มขึ้นเป็น 79 ประเทศ พื้นที่การแพร่ระบาดส่วนใหญ่พบอยู่ในแถบทวีปยุโรป ประเทศที่มีผู้ป่วยสูง 5 ลำดับแรก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา 4,906 คน สเปน 4,298 คน เยอรมันี 2,595 คน สหราชอาณาจักร 2,546 คน ฝรั่งเศส 1955 คน โดยมีผู้เสียชีวิต 5 ราย อยู่ในแอฟริกาทั้งหมด ซึ่งเป็นผู้ที่มีโรคร่วม
ส่วนในประเทศไทย
ผู้ป่วยรายที่ 1 ชายชาวไนจีเรีย อายุ 27 ปี หลบหนีไปกัมพูชาวันที่ 21 ก.ค.65 ปัจจุบันแผลแห้งตกสะเก็ดแล้ว ผลตรวจเป็นสายพันธุ์ Western African A.2 จากการเฝ้าระวังผู้สัมผัสโรคใน จ.ภูเก็ต และผู้ที่พบปะในสถานบันเทิงรวมกว่า 50 คน ยังไม่พบผู้ป่วยรายใหม่ในพื้นที่
ข่าวน่าสนใจ:
ผู้ป่วยรายที่ 2 ชายไทยอายุ 47 ปี ติดเชื้อจากชายต่างชาติ มีอาการวันที่ 15 ก.ค.65 เป็นตุ่มหนองที่อวัยวะเพศและใบหน้าแขนขา วันที่ 26 ก.ค. ไปรักษาที่โรงพยาบาลวชิรพยาบาล วันที่ 27 ก.ค. ผลตรวจ PCR ยืนยันโรคฝีดาษลิง วันที่ 28 ก.ค. และผลตรวจวิเคราะห์พบเป็นสายพันธุ์ Western African B.1 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่กำลังระบาดในแถบประเทศยุโรป กำลังติดตามชายชาวยุโรปที่มีเพศสัมพันธ์ด้วย และคาดว่าเป็นผู้แพร่เชื้อ โดยทีมสอบสวนโรคได้ฆ่าเชื้อในบ้านของผู้ป่วยแล้ว พร้อมเก็บตัวอย่างจากผู้สัมผัสในบ้าน 2 หลัง รวม 17 คน ผลตรวจออกมาแล้ว 16 คนเป็นลบ และรอผลตรวจอีก 1 คน ทั้งนี้ ต้องเฝ้าระวังต่อจนครบ 21 วัน
นายแพทย์โสภณ กล่าวต่อว่า ได้กำชับไปยังกองด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศและกักกันโรค กรมควบคุมโรค และด่านควบคุมโรคติดต่อท่าอากาศยานนานาชาติ ให้ตรวจคัดกรองผู้ที่เดินทางเข้าประเทศอย่างเข้มงวด ข้อมูลประจำวันที่ 29 ก.ค.65) คัดกรองทั้งหมด 2,527 คน แบ่งเป็นผู้เดินทางจากโซนยุโรป 2,389 คน จากแอฟริกา 138 คน พร้อมแจกบัตรคำเตือนสุขภาพ ซึ่งทั้งหมดไม่พบผู้มีอาการสงสัยป่วยโรคฝีดาษลิง
หากมีอาการป่วยสงสัย สามารถติดต่อสถานพยาบาลใกล้บ้านเพื่อรับการตรวจหาเชื้อได้ทันที สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422
แพทย์ ชี้ ฝีดาษลิง หายได้เองใน 4 สัปดาห์ รักษาตามอาการ ถ้าอาการรุนแรง สธ.พร้อมรักษา ย้ำตื่นตัวแต่อย่าตื่นตระหนก
แพทย์หญิงนฤมล สวรรค์ปัญญาเลิศ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมการแพทย์ ระบุว่า การติดต่อและการแพร่กระจายของโรคฝีดาษลง ส่วนมากติดต่อจากการสัมผัสสารคัดหลั่งจาก ตุ่มหนอง สะเก็ดแผล ของผู้ป่วย ถ้าอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยในระยะประชิด เช่น กินข้าวหรือ อยู่ห้องเดียวกัน หรืออาศัยนอนด้วยกัน การแพร่กระจายอาจติดต่อทางฝอยละอองได้ ไวรัสฝีดาษลิง มีเปลือกหุ้ม ธรรมชาติเป็นไวรัสที่ไม่แข็งแรง โดนสบู่ล้างก็ตาย แต่เชื้อจะอยู่ในสิ่งแวดล้อมนานหรือไม่ ยังมีข้อมูลไม่เพียงพอ
จริง ๆ ไวรัสตัวนี้ไม่ได้ติดง่าย แต่ก็ไม่ยาก หากใกล้ชิดผู้ป่วยยืนยันก็มีโอกาส แต่ถ้าล้างมือบ่อย ๆ ป้องกันตัวเอง สวมหน้ากาก จะลดโอกาสการสัมผัสเชื้อ
ระยะฟักตัวของโรคขึ้นอยู่กับภูมิคุ้มกันของแต่ละคน โดยทั่วไป ระยะฟักอยู่ ระหว่าง 7- 21 วัน แต่บางรายก็มีระยะฟักตัวนานกว่านั้น
แพทย์หญิงนฤมล กล่าวเพิ่มเติมว่า อาการที่พบในผู้ป่วย นอกจากมีไข้ ปวดเมื่อยตามร่างกาย ต่อมน้ำเหลืองโตแล้ว มีรายงานการศึกษาในวารสารทางการแพทย์ พบว่า ผู้ป่วยจะมีผื่นหรือแผลตามผิวหนองหรือเยื่อบุในอวัยวะต่าง ๆ ผื่น ตุ่ม หรือแผลนั้นเกิดที่อวัยวะเพศ 56.3 %, บริเวณทวารหนัก 41.6 % ผู้ป่วยส่วนใหญ่ (86 %) จะมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ไข้ ต่อมน้ำเหลืองโต หรือปวดกล้ามเนื้อ อาการเหล่านี้เกิดขึ้นก่อนมีผื่น หรือหลังผื่นขึ้นก็ได้ มีผู้ป่วยบางส่วน ที่มีผื่น โดยไม่มีอาการร่วมอื่น ๆ เลย
อาการผิดปกติอื่นที่พบ คือ ปวดทวารหนัก เจ็บคอ แผลในช่องปาก และองคชาติบวม มีผู้ป่วยถึง 1 ใน 3 ที่ติดเชื้อเอชไอวีร่วมด้วย อาการหายได้เองภายในระยะ 2-4 สัปดาห์ การรักษาเน้นการรักษาแบบประคับประคอง เป็นการรักษาตามอาการ เช่น มีไข้ ให้ยาลดไข้ ยังไม่มียารักษาเฉพาะ มียาที่ใช้รักษาผู้ป่วยไข้ทรพิษ ในต่างประเทศนำมาศึกษาวิจัยในการดูแลผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง
ทั้งนี้ กรมการแพทย์ได้ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญ สรุปแนวทางการรักษาพยาบาลโรคฝีดาษลิง อยู่ระหว่างจัดทำข้อมูลเพื่อเสนอที่ประชุม ศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน หรืออีโอซี ระดับกระทรวง เพื่อพิจารณาอนุมัติใน วันจันทร์ที่ 1 สิงหาคมนี้
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: