กรุงเทพฯ – กระทรวงสาธารณสุข ร่วมตำรวจสอบสวนกลาง จับกุมเครือข่าย ขายยารักษาโควิดเถื่อน มีโทษทั้งจำทั้งปรับ เตือน ให้หยุดทันที เจอเอาผิดถึงที่สุด
วันที่ 4 สิงหาคม 2565 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นำคณะผู้บริหารกระทรวง และกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง แถลงผลการจับกุมผู้ต้องหา 3 คน ฐาน ‘ร่วมกันขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต, ร่วมกันขายยาที่ไม่ขึ้นทะเบียนตำรับยา’ ประกอบด้วย
1.นายประเสริฐ (สงวนนามสกุล) ผู้ต้องหาตามหมายจับ ศาลอาญา ที่ 1514/2565 ลงวันที่ 1 สิงหาคม 2565
2.นางสาวขนิษฐา (สงวนนามสกุล) ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญาที่ 1516/2565 ลงวันที่ 1 สิงหาคม 2565
3.นางสาวฉลวยรัตน์ (สงวนนามสกุล)
สืบเนื่องจาก กองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ได้รับเรื่องร้องเรียนและแจ้งเบาะแสจาก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ว่ามีการลักลอบขายยากลุ่มรักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 ผ่านสื่อออนไลน์ผิดกฎหมายจำนวนมาก ซึ่งยาในกลุ่มนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับการขึ้นทะเบียนตำรับจาก อย. และผ่านการตรวจสอบคุณภาพมาตรฐาน รวมถึงการใช้ยาดังกล่าวต้องได้รับการสั่งจ่ายจากแพทย์ เพื่อไม่ให้เกิดอันตรายหรือผลกระทบกับสุขภาพของผู้ป่วย
ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. จึงให้สายลับสั่งซื้อยาดังกล่าวผ่านช่องโซเชียลมีเดีย 2 ร้าน ที่ถูกจัดส่งจากสถานที่เดียวกัน เป็นบ้านหลังหนึ่งในเขตวังทองหลาง เชื่อได้ว่าเป็นสถานที่จัดเก็บและกระจายสินค้า จึงรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อขออนุมัติหมายค้นจากศาลอาญา เข้าตรวจค้นบ้านในซอยลาดพร้าว 80/3 แขวง-เขตวังทองหลาง กรุงเทพมหานคร ค้นพบผลิตภัณฑ์ยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา ดังนี้ ยาโมลนูพิราเวียร์ 3 ยี่ห้อ รวม 1,851 กล่อง ยาฟาวิพิราเวียร์ 270 กล่อง
ข่าวน่าสนใจ:
- รับสมัคร นายกอบจ.-ส.อบจ.ตรัง วันแรกคึกคัก! บ้านใหญ่ตระกูลโล่ฯ-ส.ส.ตรังทุกพรรค-กองเชียร์นับพัน แห่ให้กำลังใจ “ทีมนายกบุ่นเล้ง” สู้ศึกอีกสมัย…
- ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิขานรับนโยบายกระทรวงคมนาคม พร้อมอำนวยความสะดวกผู้โดยสาร ช่วงเทศกาลปีใหม่ 2568
- “ปลายฝน ต้นหนาว เคาท์ดาวน์ มิวสิคเฟส สุราษฎร์ธานี” ไฮไลท์ประกวดควายไทยมูลค่ากว่า 10 ล้าน
- สอ.สามัญศึกษาเพชรบูรณ์ประชุมใหญ่ โชว์กำไร 52 ล้าน พร้อมเลือกตั้งกรรมการและผู้ตรวจสอบกิจการ
รวมของกลางมูลค่าประมาณ 9 ล้าน 5 แสนบาท มีนางสาวฉลวยรัตน์ (สงวนนามสกุล) รับเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์มีไว้เพื่อจำหน่ายให้ลูกค้า จึงเชิญตัวไปพบพนักงานสอบสวน กก.4 บก.ปคบ. และแจ้งข้อกล่าวหาตาม พ.ร.บ ยา พ.ศ.2510 และยึดผลิตภัณฑ์ยาดังกล่าวไว้เป็นของกลาง
ต่อมา วันที่ 2 สิงหาคม 2565 ตำรวจพร้อมเจ้าหน้าที่ อย. ร่วมกันนำหมายค้นของศาลอาญาตลิ่งชัน 2 หมาย เข้าตรวจค้นบ้านพักในซอยราชพฤกษ์ 9 แขวงบางเชือกหนัง เขตตลิ่งชัน พบผลิตภัณฑ์ยากลุ่มยารักษาผู้ติดเชื้อโควิด 19 และยาอื่น ๆ ที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา 8 รายการ รวมมูลค่าของกลางประมาณ 1 ล้านบาท
นายประเสริฐ ผู้ต้องหาตามหมายจับ แสดงตนเป็นเจ้าบ้านและเจ้าของยาดังกล่าว จึงจับกุมตัวและตรวจยึดยาเป็นของกลาง ผู้ต้องหาให้การว่า สั่งซื้อมาจากประเทศอินเดียผ่านตัวแทนขาย โดยไม่เคยมีความรู้หรือใบประกอบวิชาชีพทางเภสัชกรรม
วันที่ 3 สิงหาคม 2565 ขยายผลจับกุมผู้ค้ารายย่อยในขบวนการดังกล่าวได้อีก 1 คน คือ นางสาวขนิษฐา (สงวนนามสกุล) ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญา
การกระทำของผู้ต้องหาทั้งสอง เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 มาตรา 12 ฐาน ‘ขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต’ ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 10,000 บาท, พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 มาตรา 72(4) ‘ขายยาที่ไม่ขึ้นทะเบียนตำรับยา’ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกินห้าพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นายอนุทิน ชาญวีรกูล ระบุว่า ของกลางมีทั้งหมดรวมกว่า 2,300 กล่อง ประมาณ 80,000 เม็ด มูลค่ากว่า 10 ล้านบาท ผู้ต้องหาสารภาพว่ารู้จักกับคนอินเดียให้ช่วยซื้อให้ และส่งมาจากอินเดีย ส่วนใหญ่ลักลอบนำเข้าผ่านทางด่านศุลกากร ไปรษณีย์ แจ้งวัฒนะ และมียาบางส่วนที่ผู้ต้องหาหิ้วติดตัวทยอยนำเข้า ทำมาแล้วประมาณ 2 เดือน
ขอเตือนประชาชนว่า ไม่ควรซื้อยาออนไลน์กินเอง ยาโมลนูพิราเวียร์ เป็นยาควบคุมพิเศษ ต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยและสั่งจ่ายยาโดยแพทย์ถึงจะปลอดภัย ต้องเลิกคิดซื้อมาตุนสำรองไว้ที่บ้าน อาจได้ยาปลอมที่ไม่มีตัวยาสำคัญ หรือยาที่ไม่มีคุณภาพและประสิทธิภาพในการรักษาโควิด-19 อีกทั้งอาจก่อให้เกิดเชื้อดื้อยาได้ ขอย้ำว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะได้ยาต้านไวรัสโมลนูพิราเวียร์หรือฟาวิพิราเวียร์ ขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์
ด้าน พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เตือนผู้ลักลอบขายยารักษาโควิด-19 ที่ไม่ได้รับอนุญาต ให้หยุดทันที เนื่องจากการขายยาออนไลน์ยังเป็นความผิดอยู่ ต้องรับโทษทั้งปรับและจำคุก หากตรวจพบจะดำเนินคดีถึงที่สุด หากประชาชนพบเห็นการกระทำความผิด สามารถแจ้งได้ที่สายด่วน ปคบ.1135 หรือเพจ ปคบ. เตือนภัยผู้บริโภค หรือแจ้งสายด่วน อย.1556 อีเมล์ [email protected]
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: