กรุงเทพฯ – หมอชี้ ควันไฟจากไฟไหม้ เต็มไปด้วยสารพิษ ที่ส่งผลต่อสุขภาพ ก่อโรคหลายชนิด โดยเฉพาะอนุภาค (PM) ที่มองไม่เห็น หากหายใจควันไฟเข้าไปมาก ๆ อาจะถึงแก่ชีวิตในสถานที่เกิดเหตุ ห่วงดับเพลิง-กู้ภัย ที่ต้องเข้าไปดับไฟบ่อย ๆ
วันที่ 6 สิงหาคม 2565 จากเหตุเพลิงไหม้ Mountain B ผับดังใน อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี นอกจากก่อให้เกิดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินแล้ว ควันไฟและสารเคมีต่าง ๆ จากเพลิงไหม้ ยังเป็นอันตรายต่อชีวิตและสุขภาพของผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ รวมถึงพนักงานดับเพลิงและหน่วยกู้ภัย อย่างที่คาดไม่ถึง
นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ระบุว่า สิ่งหนึ่งที่ควรทำเวลาไปสถานที่ใด ๆ คือ ต้องหาทางหนีไฟว่าอยู่บริเวณใด แต่ยังมีสิ่งอื่น ๆ ที่ทำได้อีก เช่น ถ้าเกิดไฟไหม้ในอาคารปิด และเราอยู่ในห้อง อย่าเปิดประตูเข้าไปทันที ให้ลองใช้มืออังดูก่อนว่าประตูร้อนหรือไม่ ถ้ารู้สึกร้อนให้หาทางออกอื่น
ถ้าไม่มีทางออกให้ปิดรูรอบ ๆ ประตูและทางระบายอากาศที่มีอยู่ ใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำเปียกมาอุดช่องใต้ประตูเพื่อไม่ให้ควันไฟเข้า ถ้ารู้สึกหายใจลำบาก ให้ก้มตัวต่ำลง เพราะบริเวณด้านล่างจะมีออกซิเจนมากกว่า และอย่าตกใจ พยายามหายใจสั้น ๆ เพราะจะเอาก๊าซพิษเข้าไปน้อยกว่า
ด้านนายแพทย์เกรียงไกร นามไธสง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี อธิบายว่า ควันจากไฟไหม้ ประกอบด้วย คาร์บอนมอนออกไซด์ คาร์บอนไดออกไซด์ และอนุภาค (PM หรือเขม่า) ซึ่งประกอบด้วยสารเคมีต่าง ๆ ควันไฟมีสารเคมีหลายชนิด เช่น อัลดีไฮด์ ก๊าซที่มีคุณสมบัติเป็นกรด ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ไนโตรเจนออกไซด์ โพลีซัยคลิก อโรมาติก ไฮโดรคาร์บอน (PAHs) เบนซีน โทลูอีน สไตรีน โลหะ และไดออกซิน ซึ่งเกิดจาก โฟม สี หรือวัสดุต่าง ๆ ที่ถูกเผาไหม้
ถ้าหายใจเอาควันไฟเข้าไปจำนวนมาก จะต้องไม่ออกแรงมาก โดยเฉพาะในคนที่ไม่แข็งแรงอยู่แล้ว เช่น คนที่มีโรคประจำตัว เป็นโรคหัวใจ หรือทางเดินหายใจ จะทำให้หัวใจและปอดทำงานมากขึ้น ส่วนใหญ่ประชาชนที่ติดอยู่ในสถานที่ซึ่งเกิดไฟไหม้ จะตื่นตระหนกและพยายามวิ่งหนี โดยเฉพาะถ้าไฟดับก็จะทำให้ยิ่งตื่นตระหนก ทำให้หายใจเร็วขึ้น ยิ่งหายใจเอาก๊าซพิษเข้าไปมากขึ้น
นายแพทย์เกรียงไกร นามไธสง กล่าวต่อว่า การหายใจมีควันไฟในระยะแรกจะเกิดผลเฉียบพลัน ควันจะระคายเคืองตา จมูก คอ และกลิ่นจะทำให้คลื่นไส้ ปอดทำงานลดลงทำให้ออกซิเจนในร่างกายน้อยลง มีสาร 2 ชนิดในควันไฟที่มีผลต่อสุขภาพมาก คือ ก๊าซคาร์บอนมอนออกไซด์และอนุภาคขนาดเล็ก ๆ เช่น PM2.5 หรือ อนุภาคที่มีขนาดเล็กกว่า ซึ่งมองด้วยตาไม่เห็น
เมื่อหายใจเอาคาร์บอนมอนออกไซด์ ร่างกายจะใช้ออกซิเจนไม่ได้ ทำให้เกิดอาการขาดออกซิเจน ได้แก่ ปวดศีรษะ ลดความตื่นตัว และทำให้เกิดอาการของหลอดเลือดหัวใจ เช่น เจ็บหน้าอก
นอกจากนี้ อนุภาคยังเข้าไปยังทางเดินหายใจโดยตรง ทำให้ไอ หายใจลำบาก และทำให้คนที่เป็นโรคมีอาการรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะคนที่ไปเที่ยวผับ บาร์ จะสูบบุหรี่ ทำให้สมรรถภาพปอดเลวลงอีก เมื่อหนีออกมาได้ อาการก็จะลดลง แต่จะยังคงอยู่อีก 2-3 วัน คนที่ติดอยู่ภายในและหายใจควันไฟมาก ๆ จะทำให้ขาดออกซิเจนและอาจหมดสติ ถ้าช่วยออกมาไม่ได้ก็จะถึงแก่ชีวิตในสถานที่นั้น
ข้อปฏิบัติของคนที่หนีออกมาจากผับได้ คือ ต้องเฝ้าระวังตนเองว่ามีอาการการหายใจผิดปกติหรือไม่ ถ้าไม่แน่ใจควรมาตรวจร่างกาย
อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวด้วยว่า นอกจากประชาชนแล้ว ยังมีผู้ได้รับผลกระทบจากควันไฟอีก ได้แก่ พนักงานดับเพลิงและหน่วยกู้ภัย ซึ่งต้องเข้าไปดับเพลิงบ่อย ๆ ทำให้หายใจเข้าไปซ้ำ ๆ กัน ทั้งนี้ ควันไฟที่เห็นก็อันตราย แต่ส่วนที่อันตรายกว่า คือ อนุภาค (PM) ที่มองไม่เห็น การเข้าไปดับเพลิงแม้ในระยะสั้นบ่อย ๆ จะทำให้เกิดผลต่อสุขภาพระยะยาวได้ เช่น ในพนักงานดับเพลิงอาจจะเกิด มะเร็ง โรคปอด และโรคของหัวใจและหลอดเลือด
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: