กรุงเทพฯ – ตำรวจสอบสวนกลาง ร่วม คณะกรรมการอาหารและยา ทลายแหล่งผลิตและขายชุด ATK ตรวจโควิด-19 และเครื่องมือแพทย์ปลอมหลายยี่ห้อ มูลค่าของกลางกว่า 2 ล้านบาท
วันที่ 11 สิงหาคม 2565 พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง และนายแพทย์ไพศาล ดั่นคุ้มเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา นำแถลงผลการกวาดล้างจับกุมชุดตรวจโควิด-19 ปลอมครั้งนี้ว่า สืบเนื่องจากตำรวจกองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคจำนวนมากว่า ซื้อชุดตรวจ ATK ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ แล้วมีลักษณะต่างจากที่ซื้อจากร้านขายยาหรือร้านขายอุปกรณ์ทางการแพทย์ทั่วไป
โดยผู้แทนจำหน่ายชุดตรวจ ATK หลายราย ยืนยันว่ามีลักษณะต่างจากชุดตรวจ ATK ที่ได้รับอนุญาตให้นำเข้ามาขายจริง ตำรวจ กก.4 จึงตรวจสอบพบว่า มีการลักลอบผลิตเครื่องมือแพทย์ ประเภทชุดตรวจ ATK ปลอม เพื่อหลอกขายให้แก่ประชาชนทั่วไป ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์เป็นจำนวนมาก จนทราบถึงแหล่งผลิตและจัดเก็บผลิตภัณฑ์ดังกล่าว โดยลักลอบนำเข้าอุปกรณ์แยกชิ้นส่วนมาจากประเทศจีน จากนั้นสั่งกล่องบรรจุภัณฑ์และคู่มือภาษาไทยโดยเลียนแบบชุดตรวจ ATK ยี่ห้อที่ได้รับความนิยมในท้องตลาด แล้วนำมาบรรจุลงกล่องบรรจุภัณฑ์ เป็นชุดตรวจ ATK สำเร็จรูปปลอมเพื่อจำหน่าย
ต่อมา วันที่ 9 สิงหาคม 2565 เจ้าหน้าที่จึงรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อขออนุมัติหมายค้นจากศาลจังหวัดนครปฐมและศาลจังหวัดนนทบุรี และร่วมกับเจ้าหน้าที่ อย. เข้าตรวจค้นพื้นที่เป้าหมาย 2 จุด ดังนี้
ข่าวน่าสนใจ:
- WDC เสริมกำลังตลาดภาคใต้ ทุ่มงบ 20 ล้านบาท ขยายโชว์รูมแห่งที่ 9 จ.สุราษฎร์ธานี ลุยสินค้ารักษ์โลก พร้อมเปิดตัว Friends of Brand ปี 2568
- มรภ.ราชนครินทร์ ผุดหลักสูตรคลายเหงาผู้สูงวัย รองรับสังคมไทยในอนาคต
- กล้องวงจรปิดจับภาพ แม่รับลูกซ้อน 4 กลับจากโรงเรียน ชนรถ พ่วงบาดเจ็บสาหัส ลูกร้องระงม
- เปิดงานเทศกาลนมัสการองค์พระปฐมเจดีย์ ประจำปี 2567
จุดที่ 1 อาคารพาณิชย์แห่งหนึ่งใน ต.นราภิรมย์ อ.บางเลน จ.นครปฐม ซึ่งเป็นสถานที่ผลิตชุดตรวจ ATK ปลอม มีน.ส.อนุสรา (สงวนนามสกุล) แสดงตนเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์และสถานที่ดังกล่าว โดยมีหน้าที่บรรจุอุปกรณ์ตรวจโควิด-19 (ตลับตรวจ, น้ำยาตรวจ, ไม้แยงจมูก, หลอดหยด, หลอดเก็บตัวอย่าง และกระดาษเก็บตัวอย่างน้ำลาย) ลงในกล่องแต่ละยี่ห้อที่เป็นที่นิยมในตลาดตามที่นายจ้างสั่ง และพบชุดตรวจ ATK รวมทั้งอุปกรณ์ที่รอบรรจุใส่กล่อง และผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์อื่นที่เป็นความผิด จำนวน 14 รายการ
จุดที่ 2 บ้านแห่งหนึ่งในพื้นที่ ต.บางเขน อ.เมืองนนทบุรี ซึ่งเป็นสถานที่เก็บชุดตรวจ ATK ปลอม เพื่อรอกระจายสินค้าพบ น.ส.ปัชญาพร (สงวนนามสกุล) แสดงตนเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์และสถานที่ดังกล่าว และพบใบรับสินค้าชุดตรวจATK จากจุดที่ 1 พร้อมทั้งชุดตรวจ ATK ยี่ห้อต่าง ๆ และผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์อื่น รวม 12 รายการ และผลิตภัณฑ์สมุนไพรจีน 1 รายการ
รวมมูลค่าของกลางกว่า 2 ล้านบาท จึงตรวจยึดของกลางนำส่ง พนักงานสอบสวน กก.4 บก.ปคบ. ดำเนินคดีตามกฎหมาย
เบื้องต้น การกระทำดังกล่าวเป็นความผิด ตามพระราชบัญญัติเครื่องมือแพทย์ พ.ศ.2551 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งมีโทษทั้งจำทั้งปรับ
นายแพทย์ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ระบุว่า ปฏิบัติการครั้งนี้ เป็นการจับกุมผู้ลักลอบผลิตและขายชุดตรวจ ATK ปลอม โดยมีการนำยี่ห้อและเลขที่ได้รับอนุญาต อย. ของผู้อื่นมาใช้ ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
โดยจุดสังเกตของชุดตรวจ ATK ปลอม อยู่ที่การแสดงรุ่นการผลิต วันที่ผลิต และวันหมดอายุที่ซองบรรจุชุดตรวจภายในกล่อง ไม่ตรงกับที่ระบุไว้บนกล่องผลิตภัณฑ์ ซึ่งต่างจากชุดตรวจ ATK ที่ได้รับอนุญาตนำเข้า ที่จะมีรุ่นการผลิต วันที่ผลิต และวันหมดอายุ ตรงกันทั้งที่ซองบรรจุฯ และกล่องบรรจุภัณฑ์
นอกจากนี้ ยังพบสถานที่เก็บและขายเครื่องมือแพทย์ที่ไม่ได้รับอนุญาตอีกหลายรายการ เช่น ถุงมือตรวจโรค เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว และอุปกรณ์วัดไข้ ซึ่งมีโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ รวมไปถึงยังพบผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ไม่ได้รับอนุญาตนำเข้าและไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับ ฉลากไม่แสดงภาษาไทย ซึ่งผู้ขายมีโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
เลขาธิการ อย. เตือนประชาชนให้เลือกซื้อชุดตรวจโควิด-19 แบบตรวจหาแอนติเจนด้วยตนเอง จากแหล่งขายที่น่าเชื่อถือและมีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง เช่น ร้านขายยา ร้านค้าทั่วไป หรือสั่งซื้อจากบริษัทผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าที่ได้รับอนุญาตนำเข้าถูกต้องจาก อย. โดยตรวจสอบฉลากต้องแสดงเป็นภาษาไทย พร้อมข้อความ “บุคคลทั่วไปสามารถใช้ได้” และมีเลขประเมินเทคโนโลยีระบุไว้บนฉลาก ซึ่งขณะนี้ชุดตรวจ ATK (Home use) ที่ได้รับอนุญาตจาก อย. ทั้งหมด มี 355 รายการ สามารถตรวจสอบรายชื่อชุดตรวจ ATK ที่ได้รับอนุญาตได้ทางเว็บไซต์ https://www.fda.moph.go.th/sites/Medical/SitePages/test_kit_covid19.aspx
ทั้งนี้ หากพบผลิตภัณฑ์ที่สงสัยว่าจะผิดกฎหมาย สามารถแจ้งร้องเรียนได้ที่สายด่วน อย.1556 หรืออีเมล์ [email protected]
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: