กรุงเทพฯ – กรมควบคุมโรค เตือน กินเนื้อวัวหรือเนื้อควายดิบ ๆ เสี่ยงโรคพยาธิตัวตืด และแบคทีเรีย หรืออาจพบเชื้อพิษสุนัขบ้าได้ด้วย ส่วนเห็ดพิษ ทำให้เสียชีวิตได้
วันที่ 17 สิงหาคม 2565 นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุว่า จากกรณีสื่อสังคมออนไลน์ รีวิวการกินและวิธีการทำเมนูนิยม เนื้อวัว-เนื้อควายสด ๆ เช่น เนื้อวัวดิบจิ้มแจ่ว ซอยจุ๊ ลาบดิบ ก้อย ซอยห่าง แหนมดิบ (อาหารอีสาน) ลาบดิบ ส้า จิ้นส้ม (อาหารเหนือ) โดยกล่าวอ้างว่าเป็นวัฒนธรรมการกินที่มีมานานั้น
เมนูดังกล่าวมีความเสี่ยงพบโรคพยาธิตัวตืดวัว-ควาย เกิดจากการกินตัวอ่อนพยาธิที่เรียกว่า ‘เม็ดสาคู’ ตัวอ่อนจะเจริญเป็นตัวเต็มวัยในลำไส้ รูปร่างคล้ายก๋วยเตี๋ยวเส้นใหญ่ยาว 5-10 เมตร อาจยาวถึง 25 เมตร และมีลำตัวเป็นปล้องประมาณ 1,000-2,000 ปล้อง และปล้องสุกจะหลุดออกมา 3-4 ปล้องกับอุจจาระ หรือคลานออกจากทวารหนักในแต่ละวัน โดยมีอายุอยู่ในลำไส้คน ประมาณ 10-25 ปี พยาธิจะแย่งอาหารในลำไส้และจะเกิดอาการหิวบ่อย ปวดบริเวณลิ้นปี่ ไม่สบายท้อง อาหารไม่ย่อย คลื่นไส้ อาเจียน บางครั้งท้องร่วง ท้องผูก น้ำหนักตัวลดลง ปล้องสุกที่หลุดออกมาอาจเข้าไปในไส้ติ่ง และทำให้ไส้ติ่งอักเสบได้
ด้านนายแพทย์วิชาญ ปาวัน ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กล่าวเพิ่มเติมว่า เชื้อแบคทีเรียอื่น ๆ เช่น
1.โรคแอนแทรกซ์ เกิดอาการในระบบทางเดินอาหาร ทำให้อาเจียนเป็นเลือด ถ่ายท้องอย่างรุนแรง อาจพัฒนาไปถึงการติดเชื้อในกระแสเลือด และอาจเสียชีวิตได้
2.เชื้อซาลโมเนลลา เป็นแบคทีเรียที่มักปนเปื้อนมากับอาหาร เป็นโรคระบบทางเดินอาหาร ซึ่งมักมีอาการอาเจียน ท้องร่วง
3.เชื้อแคมไพโลแบคเตอร์ สามารถพบได้ในทางเดินอาหารของวัวและสัตว์อื่นๆ อาจทำให้เกิดโรคลำไส้อักเสบ ท้องเสีย ปวดท้อง มีไข้ อาจมีอาการถ่ายเป็นเลือดร่วมด้วย
4.เชื้ออีโคไล ผู้ที่ได้รับเชื้อนี้ประมาณ 1-2 วัน จะมีอาการปวดท้อง เป็นตะคริว และมีอาการท้องร่วง บางครั้งอาจมีเลือดปน
5.เชื้อโรคพิษสุนัขบ้า หากนำเนื้อวัว-ควายที่ตายแบบไม่ทราบสาเหตุมากิน แล้วไปเจอวัว-ควายที่ตายจากโรคพิษสุนัขบ้า ทั้งคนแล่เนื้อ คนปรุงอาหาร และผู้ที่กินเนื้อดิบ ๆ อาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้
จึงขอแนะนำประชาชน ให้เลือกซื้อเนื้อวัว-ควาย ที่ผ่านการตรวจจากโรงฆ่าสัตว์ที่ได้มาตรฐานแล้วเท่านั้น ต้องผ่านการปรุงสุกอย่างทั่วถึง โดยยึดหลัก ‘สุก ร้อน สะอาด’ สำหรับผู้ปรุงประกอบอาหาร ให้ดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคลให้ดี ล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง ก่อนปรุงหรือรับประทานอาหาร และหลังถ่ายอุจจาระทุกครั้ง
ระวัง! เก็บเห็ดป่ามากิน อาจเป็นเห็ดพิษ ทำให้เสียชีวิตได้
นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวอีกว่า ช่วงนี้มีฝนตกลงมาหลายพื้นที่ ทำให้เห็ดหลายชนิดเจริญเติบโตได้ดี โดยเฉพาะเห็ดป่าในพื้นที่ธรรมชาติ ซึ่งมีทั้งเห็ดกินได้และเห็ดพิษ บางครั้งไม่สามารถแยกได้ด้วยตาเปล่า ข้อมูลจากกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค สถานการณ์โรคอาหารเป็นพิษ จากการรับประทานเห็ดพิษ ในปี 2565 พบผู้ป่วย 1,206 ราย จังหวัดที่พบผู้ป่วยสูงสุด 5 อันดับแรก คืออุบลราชธานี จำนวน 831 ราย ตามด้วย ศรีสะเกษ สุรินทร์ ยโสธร และเชียงราย ยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต
ข่าวน่าสนใจ:
เห็ดพิษ ที่เป็นสาเหตุทำให้เสียชีวิตส่วนใหญ่ เช่น เห็ดระโงกพิษ หรือบางที่เรียกว่าเห็ดระโงกหิน เห็ดระงาก เห็ดไข่ตายซาก, เห็ดถ่านเลือด มีลักษณะคล้ายกับเห็ดถ่านเล็กที่กินได้ ขนาดดอกจะเล็กกว่า และไม่มีน้ำยางสีแดงส้ม, เห็ดเมือกไครเหลือง ที่มักสับสนกับเห็ดขิง เห็นที่เป็นพิษจะมีเมือกปกคลุมและมีสีดอกเข้มกว่า, เห็ดหมวกจีน มีความคล้ายกับเห็ดโคนที่กินได้
สำหรับวิธีทดสอบความเป็นพิษของเห็ด โดยภูมิปัญญาชาวบ้าน เช่น ต้มเห็ดกับข้าวหรือหอมแดง ถ้าเป็นเห็ดพิษจะทำให้ข้าวเปลี่ยนสี หรือจุ่มช้อน หรือตะเกียบเงิน หรือเครื่องเงินแล้ว จะทำให้เงินเป็นสีดำนั้น ไม่เป็นความจริง โดยเฉพาะเห็ดระโงกพิษที่มีสารที่ทนต่อความร้อน แม้จะนำมาทำให้สุกแล้วก็ไม่สามารถทำลายพิษได้
อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวด้วยว่า เมื่อกินเห็ดเข้าไปแล้วมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย อย่าล้วงคอหรือกินไข่ขาวดิบเพื่อกระตุ้นให้อาเจียน เพราะอาจทำให้เกิดแผลในคอ และการกินไข่ขาวดิบจะยิ่งทำให้ผู้ป่วยท้องเสียเพิ่ม หรือติดเชื้อได้ และหากปล่อยไว้นานผู้ป่วยอาจมีอาการรุนแรงตามมา คือ การทำงานของตับและไตล้มเหลว อาจเสี่ยงทำให้เสียชีวิต
ดังนั้น ให้รีบพาผู้ป่วยไปโรงพยาบาลทันที และแจ้งประวัติการกินเห็ดโดยละเอียด พร้อมนำตัวอย่างหรือภาพถ่ายเห็ดไปด้วย เพื่อรับการรักษาได้อย่างถูกวิธี สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: