กรุงเทพฯ – บพท.โหมโรง แผนงานวิจัยเศรษฐกิจฐานราก ระดมผู้ประกอบการชุมชนกว่า 130 รายจากทั่วประเทศ เปิดเวทีอวดผลงานเพิ่มรายได้-เพิ่มกำไร-ลดหนี้
นายกิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) เปิดเผยถึงการจัดงาน ‘โลคอลเอ็นเตอร์ไพร์ส โซเชียลเอ็กซ์โป 2022 (Local Enterprise Social Expo 2022)’ หรือ แอลอีเอ็กซ์โป 2022 ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งปฐมฤกษ์ในประเทศไทย ระหว่างวันที่ 23-24 สิงหาคม ณ โรงแรมเซ็นจูรี่พาร์ค กรุงเทพฯ ว่า เพื่อให้ผู้ประกอบการเศรษฐกิจฐานรากในชุมชนกว่า 130 ราย จากทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ซึ่งเข้าร่วมฝึกอบรมหลักสูตรธุรกิจปันกัน ภายใต้แผนงานวิจัยเศรษฐกิจฐานราก มีโอกาสมาประชุมสัมมนาสร้างเสริมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และเพิ่มทักษะการประกอบกิจการแก่ผู้ประกอบการระดับฐานรากระหว่างกัน อีกทั้งยังเป็นการนำร่องไปสู่การสร้างผู้ประกอบการเศรษฐกิจฐานรากตามเป้าหมาย 2 ล้านราย
“หลักการของเศรษฐกิจฐานราก มุ่งเน้นให้เกิดการจ้างแรงงานในพื้นที่ และใช้ทรัพยากรในพื้นที่ เพื่อให้เกิดรายได้หมุนเวียนอยู่ในพื้นที่ ช่วยให้เศรษฐกิจในพื้นที่มีความมั่งคั่ง มั่นคง และยั่งยืน” นายกิตติ กล่าว
ผู้อำนวยการ บพท. กล่าวต่อว่า เป้าหมายสำคัญของหลักสูตรธุกิจปันกัน ภายใต้แผนงานวิจัยเศรษฐกิจฐานราก คือการเสริมศักยภาพผู้ประกอบการ ให้มีขีดความสามารถในการดำเนินธุรกิจ ด้วยชุดความรู้เกี่ยวกับการจัดการวางแผนทางการเงินภาคธุรกิจอย่างครบวงจร มีทักษะความเข้าใจในการจัดทำข้อมูลทางการเงิน และรู้จักใช้ประโยชน์จากข้อมูลทางการเงินในการบริหารธุกิจ ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการสามารถรับมือได้ กับทุกสถานการณ์ความผันผวนทางเศรษฐกิจ และสามารถสร้างความเติบโตได้แก่ธุรกิจได้อย่างยั่งยืน
ในช่วงเวลาระหว่างปี 2564 ต่อเนื่องถึงปัจจุบันที่ดำเนินโครงการนี้ ภายใต้สถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 สามารถทำให้ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมอบรม มีรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 4 มีผลกำไรเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 13 และมีหนี้สินลดลงร้อยละ 7
นายกิตติ สัจจาวัฒนา ระบุว่า เมื่อ ‘คน’ มีขีดความสามารถในการประกอบการ สามารถแข่งขันได้ทางการตลาด มีความรู้ทางด้านการเงิน คนจะสามารถไปบริหาร ของ และตลาด สร้างสมดุล แข่งขันกันอย่างยั่งยืน ไม่จำเป็นจะต้องไปขายแข่งกันในธุรกิจชุมชนของตนเอง แต่จะรวมตัว ทำให้เป็นเครือข่ายธุรกิจร่วมในชุมชน ทำให้การจ้างงานเติบโตในพื้นที่ ที่สำคัญจะเกิดสำนึกรักท้องถิ่น ช่วยกันอนุรักษ์ ดูแลทรัพยากรในชุนชนของตนเอง
ปัจจุบัน บพท.อยู่ระหว่างการขับเคลื่อน งานพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก และทำความร่วมมือกับองค์กรภาครัฐและภาคธุรกิจ อาทิ ปตท. ธนาคารแห่งประเทศไทย กรมการพัฒนาชุมชน ตลอดจนสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน เพื่อขยายผลแพลตฟอร์มนี้ไปในระยะยาว เพื่อทำให้ธุรกิจชุมชนที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย ประมาณ 2 ล้านราย เติบโตได้อย่างยั่งยืนควบคู่ไปกับการสร้างความเข้มแข็งแก่เศรษฐกิจในพื้นที่
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: