กรุงเทพฯ – กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยผลศึกษาภูมิคุ้มกันต่อเชื้อฝีดาษลิง ในคนที่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษมากว่า 40 ปี ส่วนใหญ่ไม่มีภูมิคุ้มกัน ในระดับที่สามารถลบล้างฤทธิ์ฝีดาษลิงได้
วันที่ 5 กันยายน 2565 นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และ ดร.สุภาพร ภูมิอมร ผู้อำนวยการสถาบันชีววัตถุ แถลงข่าว ‘ภูมิคุ้มกันต่อเชื้อฝีดาษวานร หรือฝีดาษลิง (Monkeypox)’ สายพันธุ์ B.1 และ A.2 จากการศึกษาในผู้ที่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษมากกว่า 40 ปี จำนวน 30 คน พบว่า ส่วนใหญ่ภูมิคุ้มกันไม่ขึ้นในระดับป้องกันโรค มีเพียง 2 รายมีภูมิคุ้มกันที่สามารถลบล้างฤทธิ์ไวรัสฝีดาษวานรได้
นายแพทย์ศุภกิจ ระบุว่า เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2565 องค์การอนามัยโลก ประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ โรคฝีดาษลิง หรือฝีดาษวานร (Monkeypox) ซึ่งข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 2 กันยายน 2565 มีผู้ป่วยยืนยัน 50,327 ราย เสียชีวิต 15 ราย ใน 100 ประเทศ
และจากรายงานว่า ผู้ที่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษคน สามารถป้องกันโรคฝีดาษลิงได้ร้อยละ 85 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จึงนำซีรั่มจากอาสาสมัครที่ได้รับวัคซีนโรคฝีดาษคนมานานกว่า 40 ปี จำนวน 30 คน แบ่งเป็นกลุ่มอายุ 45-54, 55-64 และ 65-74 ปี มาหาระดับภูมิคุ้มกันต่อเชื้อฝีดาษลิง สายพันธุ์ B.1 (พบในยุโรป) และ A.2 (พบในแอฟริกา) ที่แยกได้จากผู้ติดเชื้อที่พบในประเทศไทย มาทดสอบโดยวิธี Plaque Reduction Neutralization Test (PRNT) ซึ่งเป็นวิธีมาตรฐาน เพื่อหาค่าที่ไวรัสฝีดาษลิงเชื้อเป็นถูกทำลายได้ครึ่งหนึ่ง
ผลการทดสอบ พบว่า ในอาสาสมัครที่ได้รับวัคซีนฝีดาษมานานกว่า 40 ปี จำนวน 28 ราย ไม่มีภูมิคุ้มกันต่อไวรัสฝีดาษลิงทั้ง 2 สายพันธุ์ มีเพียง 2 ราย ที่พบระดับภูมิคุ้มกันมากกว่า 32 (PRNT50 titer>32) ที่สามารถลบล้างฤทธิ์ของไวรัสฝีดาษวานรได้ โดยทั้งคู่อยู่ในช่วงอายุ 55-64 ปี ในจำนวนนี้พบ 1 รายมีภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์ A.2 และอีก 1 รายมีภูมิคุ้มกันต่อทั้ง 2 สายพันธุ์
ข่าวน่าสนใจ:
สรุปได้ว่า คนส่วนใหญ่ที่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษ เมื่อ 40 ปีก่อน ไม่มีภูมิคุ้มกันที่สามารถลบล้างฤทธิ์ไวรัสฝีดาษลิงได้
อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงวัคซีนฝีดาษลิงว่า ปัจจุบัน สหรัฐอเมริกาและยุโรป ได้ให้การรับรองวัคซีนจีนนีออส (JYNNEOS) เพื่อนำมาใช้ป้องกันโรคฝีดาษลิงในกรณีฉุกเฉินแล้ว ส่วนประเทศไทยได้นำเข้าวัคซีนดังกล่าวจากสหรัฐฯ สำหรับป้องกันโรคในกลุ่มที่มีความเสี่ยงจำนวน 1,000 โดส
โดยจะใช้ 2 กรณี คือ กลุ่มเสี่ยงมาก เช่น เจ้าหน้าที่ห้องแลป, คนสัมผัสใกล้ชิด และกลุ่มเสี่ยงที่มีประวัติไปสัมผัสโรคก็อาจฉีดให้ เพื่อลดความรุนแรงของโรค แต่ยังไม่จำเป็นต้องนำมาฉีดให้คนทั่ว เนื่องจากสายพันธุ์ที่แพร่ระบาดส่วนใหญ่ เป็น BA.2 ซึ่งไม่ใช่สายพันธุ์รุนแรง ยกเว้นคนที่ภูมิคุ้มกันไม่ดี ที่กินยากดภูมิคุ้มกัน หรือคนที่เป็นโรคบางอย่างที่ทำให้ภูมิคุ้มกันน้อย รวมทั้งเด็กเล็ก
นายแพทย์ศุภกิจ เน้นย้ำว่า โรคฝีดาษลิงไม่ได้ติดต่อกันง่าย ส่วนใหญ่ติดต่อจากการสัมผัสผื่นผู้ป่วยทางผิวหนังโดยตรง หรือสารคัดหลั่งจากผู้ป่วย หลีกเลี่ยงมีเพศสัมพันธ์ที่มีความเสี่ยงหรือคู่นอนที่ไม่รู้จัก ผู้ป่วยบางรายที่อาการไม่รุนแรง หายเองได้ แต่จะมีอาการรุนแรงได้ในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำและในเด็กเล็ก
ดังนั้น มาตรการล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่หรือแอลกอฮอล์เจล สวมหน้ากาก เว้นระยะห่าง สามารถนำมาใช้ในการป้องกันโรคฝีดาษลิงได้
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: