ลำปาง – คณะกรรมาธิการที่ดินสภาผู้แทนราษฎร ลงพื้นที่รับฟังปัญหา พร้อมเร่งรัดการออกเอกสารสิทธิ์ที่ดินราษฎรแม่เมาะ อพยพ ขณะที่ กฟผ. ส่งคืนที่ดินภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ต่อกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อจัดสรร ตั้งแต่ปี 2550 แล้ว ผู้ว่าฯ ลำปาง สั่งตั้งคณะกรรมการ เร่งรัดแก้ปัญหา
นายอภิชาติ ศิริสุนทร ประธานคณะกรรมาธิการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร นำคณะลงพื้นที่ร่วมประชุมและรับทราบข้อเท็จจริง เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาการออกเอกสารสิทธิ์ที่ดิน แปลงรองรับการอพยพของประชาชนรอบโรงไฟฟ้าแม่เมาะ และผลกระทบจากการดำเนินกิจการโรงไฟฟ้า เหมืองถ่านหินลิกไนต์ และเหมืองแร่หินปูน
โดยมี นายจำลักษ์ กันเพ็ชร รองผู้ว่าราชการจังหวัดปาง, นายประจวบ ดอนคำมูล ผู้ช่วยผู้ว่าการเหมืองแม่เมาะ ผู้แทนการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) หัวหน้าส่วนราชการและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง ร่วมให้ข้อมูล
และมีภาคประชาชน นำโดย นางมะลิวรรณ นาควิโรจน์ ประธานเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ และประชาชนกว่า 1,000 คน เข้าร่วมติดตามการประชุม บริเวณเต็นท์รับรอง ผ่านการถ่ายทอดสัญญาณสดผ่านกล้อง CCTV จากห้องประชุม ณ องค์การบริหารส่วนตำบลสบป้าด อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง
ภายหลังการประชุม คณะกรรมาธิการฯ ยังลงพื้นที่บ้านเวียงหงส์ล้านนา หมู่ที่ 12 ต.แม่เมาะ และบ้านใหม่ฉลองราช หมู่ที่ 8 ต.สบป้าด เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชน เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2565
นายอภิชาต ศิริสุนทร ประธาน กมธ.ที่ดินฯ สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า จากการลงพื้นที่รับฟังปัญหาการออกเอกสารสิทธิ์ ทำให้ทราบว่า กฟผ. ได้ส่งคืนหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัย ภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ (พื้นที่บ้านใหม่ฉลองราช) ต่อกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เพื่อให้หน่วยงานราชการได้นำไปจัดสรรเพื่อการอพยพตั้งแต่ปี 2550 ดังนั้น กฟผ. จึงไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับพื้นที่ป่าแล้ว
ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง จึงเร่งดำเนินการออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการออกเอกสารสิทธิพื้นที่รองรับการอพยพบ้านเวียงหงส์ล้านนา หมู่ที่ 12 ต.แม่เมาะ และบ้านใหม่ฉลองราช หมู่ที่ 8 ต.สบป้าด อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง โดยลงนามคำสั่งเมื่อ วันที่ 9 กันยายน 2565 ซึ่งคณะกรรมการดังกล่าวประกอบด้วย ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กฟผ. รวมถึงตัวแทนชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อน มีอำนาจหน้าที่ติดตามและเร่งรัดผลการดำเนินการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการดำเนินการแก้ไขปัญหาการออกเอกสารสิทธิในที่ดิน รวมถึงรายงานผลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องให้จังหวัดทราบทุก 2 เดือน
“สำหรับความคืบหน้า รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ได้เร่งดำเนินการรังวัดขอบเขตพื้นที่อพยพพร้อมเอกสารสิทธิ์ที่ดินให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน จากนั้นจะส่งเรื่องไปยัง ทส. เพื่อพิจารณาเพิกถอนพื้นที่ป่า และทางกรรมาธิการ ฯ ชุดนี้จะติดตามความคืบหน้าอีกครั้งในอีก 3 เดือนข้างหน้า หากยังไม่มีความก้าวหน้า จะทำหนังสือเชิญปลัด ทส และปลัดกระทรวงพลังงาน ให้เข้ามาชี้แจงต่อไป” นายอภิชาติ ศิริสุนทร กล่าว
ด้านนายประจวบ ดอนคำมูล ผู้แทน กฟผ. ระบุว่า การอพยพราษฎรมีการดำเนินการมาเป็นลำดับ ซึ่งมติคณะรัฐมนตรีแต่ละครั้ง จะมีความแตกต่างกันในรายละเอียด และวิธีการปฏิบัติ กฟผ. ให้การสนับสนุนมาอย่างต่อเนื่อง การอพยพครั้งที่ 6 เมื่อปี 2549 นั้น ระบุว่า “รัฐจะเป็นผู้จัดหาพื้นที่รองรับการอพยพให้”
กฟผ. จึงส่งคืนพื้นที่ป่า ที่ได้รับการอนุญาตใช้ประโยชน์คืนให้แกรมป่าไม้ เพื่อให้รัฐนำไปจัดสรรให้แก่ราษฎรผู้อพยพ มีผลโดยสมบูรณ์ตั้งแต่เดือนเมษายน 2550 ดังนั้น ประเด็นข้อกังวลเรื่อง กฟผ. หมดสัญญาเช่าพื้นที่กับป่าไม้ในเดือนสิงหาคม 2565 แล้ว ชาวบ้านจะถือว่ารุกป่านั้นไม่เป็นความจริง เนื่องจากเป็นที่ดินที่รัฐเป็นผู้จัดสรรให้เพื่อการอพยพอยู่แล้ว
นายประจวบ ดอนคำมูล กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ยังมีข้อกังวลของประชาชน ด้านการดูแลป้องกันผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม จากการดำเนินงานของ กฟผ. โดยก่อนการดำเนินงานก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้า และการทำเหมืองแม่เมาะ กฟผ. จะต้องเปิดรับฟังความคิดเห็นชาวแม่เมาะ เกี่ยวกับข้อคิดเห็นและสอบถามข้อห่วงกังวลของโครงการ รวมทั้งผลการตรวจวัดคุณภาพสิ่งแวดล้อม อย่างใกล้ชิด เพื่อนำข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ และประเด็นห่วงกังวลมากำหนดเป็นมาตรการเพิ่มเติมในการจัดทำรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ EHIA และ EIA เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อทุกกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่อย่างแท้จริง พร้อมทั้ง กฟผ.ยังมีช่องทางให้กับประชาชนได้มีโอกาสร้องเรียน เพื่อนำข้อเรียกร้องดังกล่าวมาแก้ไขร่วมกันอีกด้วย
ทั้งนี้ ในแต่ละปี จะมีการจัดสรรงบประมาณ ทั้งกองทุนพัฒนาไฟฟ้าปีละกว่า 300 ล้านบาท จัดสรรให้ตามที่ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กำหนดงบประมาณของ กฟผ. ที่สนับสนุนชุมชน ทั้งเรื่องศิลปวัฒนธรรม การพัฒนาพื้นที่ร่วมกับชุมชน ตำบลละ 5 ล้านบาท ดำเนินการตามที่ได้ทำข้อตกลงกันทุกปี
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: