X

ธุรกิจขนาดใหญ่ พร้อมใจยกระดับแรงงานด้วย ‘ประกาศนียบัตรคุณวุฒิวิชาชีพ’

กรุงเทพฯ – สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ เผย สถานประกอบการขนาดใหญ่ พร้อมใจสร้างค่านิยมใหม่ในสังคม ยกระดับกำลังแรงงานด้วยประกาศนียบัตรคุณวุฒิวิชาชีพ

นายสุรพล พลอยสุข ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (สคช.) เปิดเผยแนวทางความร่วมมือกับสถานประกอบการขนาดใหญ่ เพื่อผลักดันการรับรองประสบการณ์ ความรู้ ทักษะ ความสามารถกำลังแรงงาน ด้วยมาตรฐานอาชีพ และนำไปสู่การรับประกาศนียบัตรคุณวุฒิวิชาชีพ

ล่าสุด บริษัท ออโต้ อัลลายแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด (AAT) บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ฟอร์ดและมาสด้า เป็นอีกหนึ่งสถานประกอบการขนาดใหญ่ ที่ให้การยอมรับประกาศนียบัตรคุณวุฒิวิชาชีพ โดยพร้อมพิจารณารับผู้ที่ผ่านการทดสอบ หรือประเมินสมรรถนะตามมาตรฐานอาชีพ และได้รับประกาศนียบัตรคุณวุฒิวิชาชีพเข้าทำงาน หรือพิจารณาเลื่อนขั้น เลื่อนตำแหน่ง

ที่สำคัญ AAT ร่วมกับ สคช. ฝึกอบรมอาชีพเสริมให้แก่พนักงานในบริษัท เพื่อเป็นอาชีพเสริม หรืออาชีพทางเลือกในอนาคต เพราะไม่รู้ว่าจะต้องเผชิญกับวิกฤติภัยคุกคามอะไรอีกบ้าง นับว่า AAT เป็นบริษัทนำร่องที่ทำกิจกรรมเพื่อสังคม หรือ CSR ให้พนักงานของตัวเอง ไม่เพียงเป็นการสร้างคุณค่า ประโยชน์ให้ตัวบุคคลคือพนักงาน แต่ยังเกิดประโยชน์ต่อองค์กรในการได้รับกำลังแรงงานคุณภาพเข้าทำงานด้วย และไม่เพียงกลุ่ม AAT

ขณะที่กลุ่มบริษัทวังขนาย หนึ่งในสถานประกอบการชั้นนำของอุตสาหกรรมผลิตน้ำตาล ซึ่งทำงานร่วมกับ สคช. จะเข้ามาร่วมเป็นต้นแบบสถานประกอบการที่มีการส่งเสริมให้พนักงาน ได้เห็นความสำคัญของระบบคุณวุฒิวิชาชีพ เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตของพนักงานให้มีชีวิตที่ดีขึ้น มีโอกาสความก้าวหน้าในตำแหน่งและรายได้

ด้านกลุ่มบริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ซึ่งดำเนินธุรกิจหลักในด้านการลงทุนการประกอบกิจการโรงแรม ภัตตาคาร อาหารและเครื่องดื่ม การจัดจำหน่ายและผลิตสินค้า อาทิ SWENSENS, Pizza Company, Marriott, Four Seasons, bossini ครอบคลุมสถานประกอบการในเครือข่ายประเภทโรงแรมที่พัก 520 แห่ง ร้านอาหารมากกว่า 2,410 สาขา มีบุคลากรมากกว่า 20,000 คน

เล็งเห็นประโยชน์ในการนำระบบคุณวุฒิวิชาชีพไปใช้บริหารงานบุคคลเช่นกัน ทั้งการคัดเลือกคนเข้าทำงาน การพัฒนาพนักงานในสายอาชีพต่าง ๆ ในเครือ การกำหนดค่าตอบแทน และความก้าวหน้าในสายงาน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยบริษัทพร้อมยอมรับคุณค่าของประกาศนียบัตรคุณวุฒิวิชาชีพ ในการพัฒนาในกลุ่มของ MINOR นอกจากนี้ กลุ่ม MINOR ยังให้ความสนใจ เป็นองค์กรที่มีหน้าที่รับรองสมรรถนะของบุคคลตามมาตรฐานอาชีพ เพื่อให้การรับรองคนในองค์กร และเปิดสาธารณะให้บุคคลนอกองค์กรสามารถเข้าทดสอบ ประเมินสมรรถนะของตัวเองได้ในอนาคต ซึ่งจะมีการหารือกับ สคช. ถึงแนวทางการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

บริษัท ฟู้ดแพชชั่น จำกัด เจ้าของแบรนด์ดังอย่าง บาร์บีคิวพลาซ่า, จุ่มแซบฮัท, ฌานา, โภชา และหมูทอดกอดคอ ที่ไม่เพียงแต่ผลักดันให้พนักงานในเครือ ทั้งที่อยู่ในร้านอาหาร ครัวกลาง และสำนักงาน สู่การได้รับคุณวุฒิวิชาชีพเท่านั้น แต่ยังเตรียมสร้างการยอมรับในการเพิ่มรายได้ เลื่อนตำแหน่ง กำหนดอัตราเงินเดือน เพื่อเปิดโอกาสให้พนักงานที่มีความสามารถแต่ขาดโอกาสทางการศึกษา ได้มีโอกาสก้าวหน้าในหน้าที่การงานด้วยคุณวุฒิวิชาชีพ คุณวุฒิสำหรับคนทำมาหากิน

ส่วนเบลลินี่ พรีเมี่ยม คาเฟ่ ในเครือ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ที่มีกว่า 5,000 แห่งทั่วประเทศ ต้องการบูรณาการระบบพัฒนาศักยภาพพนักงานให้ได้รับคุณวุฒิวิชาชีพ เพื่อสร้างโอกาสความก้าวหน้าในสายอาชีพให้กำลังแรงงานด้วยคุณวุฒิวิชาชีพ ทั้งยังเป็นสิ่งภาคภูมิใจ และแรงจูงใจในการทำงาน เรียกว่าเป็นการทำ CSR โดยการพัฒนาบุคลากรในสถานประกอบการ ที่ได้ประโยชน์และพัฒนาได้อย่างยั่งยืน อีกทั้งยังมีโอกาสขยายผลสู่การรับรองคุณวุฒิวิชาชีพให้พนักงานในกลุ่ม CP All ต่อไป

นายสุรพล ผอ.สคช กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ ยังมี บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) มีแนวทางในการพัฒนากำลังคนด้านดิจิทัล โดยสามารถใช้ประกาศนียบัตรคุณวุฒิวิชาชีพ แทนการใช้คะแนน TOEIC 450 คะแนน ในการสมัครงาน ฝ่ายครัวการบิน และยังมีการนำ TPQI E-Training & Hybrid Training ในการอบรมพนักงานตามมาตรฐานอาชีพ เพื่อผลักดันให้บุคลากรในองค์กรได้รับการพัฒนาสู่ความก้าวหน้าในตำแหน่งงาน

“หากภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้ประกอบการ ให้การส่งเสริมสนับสนุนบุคลากรของตนเองให้มีโอกาสเข้ารับการศึกษาฝึกอบรม และการเรียนรู้ พัฒนาศักยภาพของบุคลากร สร้างวัฒนธรรม และค่านิยมใหม่ในสังคมด้วยการนำคุณค่าของประสบการณ์และทักษะการทำงาน เข้าสู่กระบวนการรับรองและให้ประกาศนียบัตรคุณวุฒิวิชาชีพ ก็จะเกิดประโยชน์ในการพัฒนาทุนมนุษย์และยกระดับศักยภาพกำลังแรงงานให้มีความพร้อมรับทุกวิกฤติภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกรูปแบบ และ สคช.จะใช้โมเดลเดียวกันนี้ในการทำงานร่วมกับสถานประกอบการต่อไป” นายสุรพล พลอยสุข ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ กล่าว

ด้านนายสถิรยุทธ แสงสุวรรณ รองประธานบริษัทฯ ฝ่ายทรัพยากรบุคคล AAT ระบุว่า ที่ผ่านมา การรับบุคลากรจะยึดโยงกับวุฒิการศึกษาเป็นหลัก โดยตำแหน่งเฉพาะอย่างวิศวกร แต่ในการทำงานจริงมีผู้ปฏิบัติหลายคนอาศัยทักษะ ความชำนาญเฉพาะด้าน และประสบการณ์จากการทำงาน กลายเป็นนักคิดค้นพัฒนานวัตกรรมสามารถนำมาใช้ในสถานประกอบการได้จริง การรับรองประสบการณ์ ความรู้ ทักษะ ความสามารถให้แก่ผู้ปฏิบัติเหล่านี้ เท่ากับเป็นเครื่องยืนยันประสิทธิภาพการทำงาน เป็นการรองรับความก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่ และเป็นโอกาสให้มีรายได้เพิ่มสูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า ปัจจุบันการศึกษาก็ยังนับเป็นใบเบิกทางที่จะนำไปสู่การเพิ่มทักษะ เพิ่มตำแหน่งงาน แต่ในอนาคตประกาศนียบัตรคุณวุฒิวิชาชีพ จะเป็นส่วนหนึ่งในการกระตุ้นให้พนักงานอยากเรียนรู้ นำมาซึ่งโอกาสความก้าวหน้าในอาชีพ มีช่องทางในการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงงานของตัวเอง และน่าจะได้เห็นเอกสารประกอบการสมัครงานที่แนบประกาศนียบัตรคุณวุฒิวิชาชีพซึ่งเทียบเท่ากับระดับปริญญามาสมัครงานกันมากขึ้นก็เป็นได้

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

Picture of ลักขณา สุริยงค์

ลักขณา สุริยงค์

ทำหน้าที่สื่อมวลชนมาเกือบ 30 ปี ทั้งงานสายข่าวและจัดรายการทีวี-วิทยุมานับไม่ถ้วน "ไม่เป็นกลาง แต่เป็นธรรม พร้อมนำเสนอความจริง"