X

1 ต.ค.นี้ ยกเลิก! กักตัว ‘ผู้ป่วยโควิดอาการน้อย-ไม่แสดงอาการ’

กรุงเทพฯ – ที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เห็นชอบแผนปฏิบัติการและมาตรการควบคุมโรคโควิด-19 รองรับการเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง เริ่ม 1 ตุลาคม 2565 ผู้ป่วยอาการน้อย/ไม่แสดงอาการ เข้มมาตรการ DMHT 5 วันแทนการกักตัว เข้าประเทศไม่ต้องแสดงใบฉีดวัคซีนหรือผลตรวจ ATK

วันที่ 21 กันยายน 2565 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า สถานการณ์โรคโควิด-19 มีแนวโน้มดีขึ้นทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วยกำลังรักษา ผู้ป่วยหนัก และผู้เสียชีวิต มีจำนวนลดลงต่อเนื่อง ประชาชนส่วนใหญ่มีภูมิต้านทานจากการฉีดวัดซีน ครอบคลุมมากกว่า 82% และบางส่วนมีภูมิคุ้มกันจากการติดเชื้อ จึงจะปรับเปลี่ยนมาตรการต่าง ๆ ให้ประชาชนอยู่ร่วมกับโควิด-19 ได้อย่างปลอดภัย ภายใต้การพิจารณาอย่างสมดุล ทั้งมุมมองด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคง ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 7/2565 มีมติเห็นชอบ 2 เรื่องสำคัญ คือ

เรื่องแรก เห็นชอบแผนปฏิบัติการควบคุมโรคโควิด-19 รองรับการเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง (ตุลาคม 2565 – กันยายน 2566) ซึ่งได้ลงนามยกเลิกโรคโควิด-19 เป็นโรคติดต่ออันตราย และปรับเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ลำดับที่ 57 ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาแล้ว มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป

โดยมียุทธศาสตร์ 4 ด้าน ได้แก่
1.ด้านการป้องกัน เฝ้าระวังและควบคุมโรค
2.ด้านการแพทย์และรักษาพยาบาล
3.ด้านการสื่อสารความเสี่ยง ประชาสัมพันธ์ และข้อมูลสารสนเทศ
4.ด้านบริหารจัดการ กฎหมาย สังคมและเศรษฐกิจ

ซึ่งจะนำเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบต่อไป และให้ทุกจังหวัดจัดทำแผนปฏิบัติการดังกล่าวเพื่อให้เกิดความพร้อมทุกด้าน โดยจะยังคงติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง หากมีความรุนแรงเพิ่มขึ้น อาจประกาศพื้นที่โรคระบาดตามความจำเป็น

เรื่องที่ 2 เห็นชอบมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคโควิด-19 รองรับการเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง โดยก่อนเข้าประเทศ ยกเลิกแสดงเอกสารที่เกี่ยวข้องกับเอกสารวัคซีน หรือผลการตรวจ ATK โควิด-19 ยกเว้นโรคไข้เหลืองที่ยังดำเนินการตามปกติ, ที่ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ยกเลิกการสุ่มตรวจสอบบันทึกการฉีดวัคซีนโควิด-19 โดยยังคงการเฝ้าระวังผู้เดินทางที่มีอาการป่วยของโรคติดต่ออันตรายหรือโรคติดต่ออุบัติใหม่, ปรับมาตรการแยกกักสำหรับผู้ป่วยอาการน้อย/ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ไม่แสดงอาการ ให้ปฏิบัติตามมาตการ DMHT (เว้นระยะห่าง สวมใส่หน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือ ตรวจหาเชื้อ) อย่างเคร่งครัด 5 วัน และให้คำแนะนำแก่ประชาชน ให้ป้องกันตนเองอย่างถูกต้องเหมาะสม เช่น การสวมหน้ากาก ล้างมือ ตรวจ ATK เมื่อมีอาการ

นายอนุทิน กล่าวต่อว่า ที่ประชุมยังรับทราบอีก 4 เรื่อง คือ
1.แผนบริหารจัดการวัคซีนและการให้วัคซีนโควิด-19 (วัคซีนไฟเซอร์ฝาสีแดงเข้ม) ในเด็กอายุ 6 เดือน – 4 ปี คาดว่าเริ่มให้บริการได้ ช่วงกลางเดือนตุลาคม 2565 ตามความสมัครใจของผู้ปกครองและเด็ก โดยไม่ได้เป็นเงื่อนไขในการไปโรงเรียน แต่แนะนำให้เด็กทุกคนเข้ารับวัคซีน โดยเฉพาะเด็กที่มีโรคประจำตัวที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอาการรุนแรงหรือเสียชีวิต

2.แนวทางการใช้ Long Acting Antibody (LAAB) ในประชาชนกว่า 3,500 คน ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือได้รับวัคซีนแล้วแต่ภูมิคุ้มกันไม่ขึ้น เพื่อให้มีภูมิต้านทานต่อเชื้อโควิด-19 ต่อไป

3.แนวทางเวชปฏิบัติ การวินิจฉัย การดูแลรักษา และการป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล กรณีโรคโควิด-19 หลังการระบาดใหญ่ (Post-pandemic) ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมพร้อมรองรับ เพื่อให้ประชาชนยังสามารถใช้สิทธิการรักษาเช่นเดียวกับโรคทั่วไป ทั้งการเข้าถึงการรักษาและได้รับยาต้านไวรัสตามแนวทางการรักษาล่าสุด รวมถึงการแยกกักผู้ป่วย ที่สอดคล้องกับสถานการณ์ระยะต่อไป

4.โครงการการใช้ยาคลอโรควิน เพื่อป้องกันและลดการแพร่เชื้อมาลาเรียชนิดพลาสโมเดียม ไวแวกซ์ ในพื้นที่ที่มีการระบาดบริเวณชายแดนไทย-เมียนมา

อย่างไรก็ตาม รองนายกรัฐมนตรี ขอให้ผู้สูงอายุ 60 ปี ขึ้นไป และผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค มารับวัคซีนโควิดให้ครบ เพื่อให้มีความพร้อมเข้าสู่การดำเนินชีวิตที่เป็นปกติมากที่สุด

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

Picture of ลักขณา สุริยงค์

ลักขณา สุริยงค์

ทำหน้าที่สื่อมวลชนมาเกือบ 30 ปี ทั้งงานสายข่าวและจัดรายการทีวี-วิทยุมานับไม่ถ้วน "ไม่เป็นกลาง แต่เป็นธรรม พร้อมนำเสนอความจริง"