กรุงเทพฯ – ศบค. มีมติยกเลิก ‘พ.ร.ก.ฉุกเฉิน’ คุมการแพร่ระบาดโควิด-19 พร้อมยุบ ‘ศบค.’ มีผล 30 ก.ย.นี้ โดยจะใช้ พ.ร.ก. แก้ไข พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 แทน หลังคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ประกาศให้เป็น โรคติดต่อเฝ้าระวัง
วันที่ 23 กันยายน 2565 นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงผลการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ครั้งที่ 12/2565 ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมว่า ที่ประชุมมีมติ
ยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ลงวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ.2563 และการขยายระยะเวลา การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร (คราวที่ 19 ) ลงวันที่ 27 ก.ค.2565 รวมทั้งบรรดาข้อกำหนด และคำสั่งที่นายกรัฐมนตรีและ ครม. ใช้อำนาจแห่งการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั้งหมด โดยให้มีผล 30 ก.ย.2565 เป็นต้นไป
และถือเป็นที่สิ้นสุดของ ศบค. และให้ใช้ พระราชกำหนดแก้ไขพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 แทน ที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบเรียบร้อยแล้วเมื่อปี 2564
ที่ประชุม ศบค.ยังรับทราบแผนการบริหารจัดการวัคซีนไฟเซอร์ ฝาสีแดงเข้ม สำหรับเด็กอายุ 6 เดือน ถึง 4 ปี คาดว่าจะได้รับมอบประมาณกลางเดือนตุลาคม 2565 นี้
ด้านนายแพทย์อุดม คชินทร ที่ปรึกษา ศบค. กล่าวก่อนเข้าประชุม ศบค. ถึงสถานการณ์โควิด-19 ของไทย ขณะนี้ว่า ตัวเลขผู้ป่วยที่เข้ารักษามีประมาณ 800-1,000 คนต่อวัน ส่วนการตรวจเอทีเค ที่รายงานเข้าระบบมีประมาณ 13,000-14,000 คนต่อวัน แต่อาการไม่รุนแรง จึงเป็นเหตุผลการเปลี่ยนผ่านโรคโควิด-19 จากโรคติดต่อร้ายแรง สู่โรคติดต่อเฝ้าระวัง แต่ยังไม่เป็นโรคประจำถิ่น เพราะการประกาศเป็นโรคประจำถิ่น จะต้องมีตัวเลขผู้ติดเชื้อน้อยกว่านี้
ทั้งนี้ เมื่อประกาศเป็นโรคเฝ้าระวัง สามารถผ่อนคลายกิจกรรมได้ แต่ยังย้ำให้ทุกคนต้องดูแลตัวเอง ประเมินความเสี่ยง ไม่ไปในที่แออัด สวมใส่หน้ากากอนามัย และฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไม่กังวล ถ้าจะเกิดการระบาดระลอกใหม่ เพราะได้วางระบบไว้หมดแล้ว
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: