นครราชสีมา – กรมชลประทาน ชี้แจง อ่างเก็บน้ำในภาคอีสานใต้ มั่นคงแข็งแรง ส่วนการระบายน้ำออกจากอ่างฯ สอดคล้องกับปริมาณน้ำที่ไหลเข้าอ่างฯ เพื่อไม่ให้กระทบต่อพื้นที่ท้ายอ่างฯ
วันที่ 27 กันยายน 2565 กรณีมีการแชร์ข้อความผ่านทางเฟซบุ๊ก ระบุว่า “หายนะมาเยือนภาคอีสานใต้แล้ว อ่างเก็บน้ำล้นทุกอ่างแล้ว ณ เวลานี้ จะระบายท้ายอ่างก็อ่วม แต่ถ้าไม่ระบายอ่างก็จะได้รับความเสียหายจากปริมาตรน้ำที่จะเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว”
นายเกรียงไกร ภาคพิเศษ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 8 กรมชลประทาน ยืนยันว่า อ่างเก็บน้ำทุกแห่งยังมีความมั่นคงแข็งแรง สำหรับการระบายน้ำออกจากอ่างเก็บน้ำ โดยได้พิจารณาควบคุมให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำที่ไหลลงอ่างฯ และไม่ให้เกิดผลกระทบกับพื้นที่ท้ายอ่าง ซึ่งปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่จังหวัดภาคอีสานใต้ ได้แก่ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ และศรีสะเกษ ตลอดระยะเวลาในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง ที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมชลประทาน ณ วันที่ 26 กันยายน 2565 จำนวน 76 แห่ง มีดังนี้
1.อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ จำนวน 5 แห่ง โดยอยู่ใน จ.นครราชสีมา 4 แห่ง คือ
♦ อ่างเก็บน้ำลำตะคอง อ.สีคิ้ว มีปริมาณน้ำ 79% ของความจุอ่าง
♦ อ่างเก็บน้ำลำพระเพลิง อ.ปักธงชัย มีปริมาณน้ำ 76% ของความจุอ่าง
♦ อ่างเก็บน้ำมูลบน อ.ครบุรี มีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ 75% ของความจุอ่าง
♦ อ่างเก็บน้ำลำแชะ อ.ครบุรี มีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ 75% ของความจุอ่างฯ
♦ อ่างเก็บน้ำลำนางรอง อ.โนนดินแดง จ.บุรีรัมย์ มีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ 73 % ของความจุอ่าง ฯ
ข่าวน่าสนใจ:
2.อ่างเก็บน้ำขนาดกลาง จำนวน 71 แห่ง
♦ อ่างที่มีปริมาตรน้ำในอ่าง น้อยกว่า 30% ของความจุ มี 1 แห่ง
♦ อ่างที่มีปริมาตรน้ำในอ่าง ระหว่าง 30-50% มี 2 แห่ง
♦ อ่างที่มีปริมาตรน้ำในอ่าง ระหว่าง 51-80% มี 12 แห่ง
♦ อ่างที่มีปริมาตรน้ำในอ่าง ระหว่าง 81-100% มี 13 แห่ง
♦ อ่างที่มีปริมาตรน้ำในอ่าง มากกว่า 100% ของความจุ มี 43 แห่ง
ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 8 ชี้แจงว่า อ่างเก็บน้ำที่มีน้ำมากกว่า 100% ของความจุนั้น น้ำจะระบายไหลผ่านอาคารระบายน้ำล้น ซึ่งเป็นอาคารที่ทำหน้าที่เพื่อให้น้ำล้นผ่าน ในปริมาณที่สัมพันธ์กับปริมาณน้ำที่ไหลลงอ่างฯ พื้นที่ด้านท้ายบางแห่งอาจมีน้ำท่วมขังในบริเวณที่เป็นที่ลุ่มต่ำบ้าง เนื่องจากมีปริมาณน้ำจากฝนที่ตกในพื้นที่มาเสริมด้วย
อย่างไรก็ตาม ได้เตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ที่อาจมีผลกระทบต่อพื้นที่ ด้วยการจัดเจ้าหน้าที่ประจำอยู่ในพื้นที่เสี่ยง หากมีฝนตกหนัก หรือลมกระโซกแรง จนส่งผลกระทบต่ออาคารชลประทาน และทรัพย์สินของทางราชการ ให้เข้าไปดำเนินการแก้ไขสถานการณ์โดยเร็ว รวมทั้งกำชับให้คอยติดตาม ตรวจสอบอาคารชลประทานให้มีสภาพพร้อมใช้งาน และบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำต่าง ๆ ให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุม
พร้อมทั้งปรับการระบายน้ำให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ ที่สำคัญให้ปฏิบัติตาม 13 มาตรการ รับมือฤดูฝนปี 2565 ตามที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กำหนดอย่างเคร่งครัด ตลอดจนประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ ถึงสถานการณ์น้ำ และแนวทางในการบริหารจัดการน้ำให้ประชาชนรับรู้อย่างต่อเนื่องและทั่วถึง เตรียมพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือ ไว้ช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน ส่วนการระบายน้ำจะคำนึงถึงผลกระทบด้านท้าย เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายกับพื้นที่ชุมชนและพื้นที่เศรษฐกิจ
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: