กรุงเทพฯ – พรรคฝ่ายค้าน น้อมรับคำวินัจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ แต่มองอาจมีความคลาดเคลื่อน 5 ประเด็น ไม่สอดคล้องรัฐธรรมนูญ ชี้ อยู่ต่ออีก 2 ปี เท่ากับอยู่นาน 10 ปี แนะ พล.อ.ประยุทธ์ ลาออก
วันที่ 30 กันยายน 2565 นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคร่วมฝ่ายค้าน อ่านแถลงการณ์พรรคร่วมฝ่ายค้าน หลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเสียงข้างมากว่า การดำรงตำปหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังไม่สิ้นสุดลงตามมาตรา 170 วรรคสอง และ 158 วรรคสี่ ของรัฐธรรมนูญ ปี 2560
โดยเริ่มนับวาระการดำรงตำแหน่ง ตั้งแต่การประกาศใช้รัฐธรรมนูญ วันที่ 6 เม.ย.2560 ในนามของพรรคร่วมฝ่ายค้านยอมรับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
แถลงการณ์พรรคร่วมฝ่ายค้าน ระบุว่า พรรคร่วมฝ่ายค้านเห็นพ้องต้องกันว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญน่าจะมีความคลาดเคลื่อนในข้อกฎหมายอันเป็นสาระสำคัญ ไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและมีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญด้วยเหตุผล ดังนี้
ข่าวน่าสนใจ:
1.การพิจารณาถึงเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญนั้น นอกจากจะต้องหาความหมายจากถ้อยคำตามลายลักษณ์อักษรแล้ว ต้องพิจารณาจากเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญด้วย โดยต้องพิจารณาในขณะเมื่อจัดทำรัฐธรรมนูญของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญว่าได้มีการพิจารณา ถึงสาระสำคัญหรือเหตุผลเบื้องหลังของแต่ละมาตราไว้อย่างไร เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ จึงไม่อาจเปลี่ยนแปลงไปตามความเห็นของกรรมการร่างรัฐธรรมนูญที่เปลี่ยนแปลงไป ตามความคิดและความรู้สึกของกรรมการร่างรัฐธรรมนูญในแต่ละช่วงเวลาได้
เมื่อในชั้นร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 158 วรรคสี่ ที่ห้ามการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเกิน 8 ปี โดยมิได้บัญญัติข้อยกเว้นใดๆ ไว้ ได้มีความเห็นของกรรมการร่างรัฐธรรมนูญและประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญปรากฏชัดในบันทึกการประชุม อันเป็นหลักฐานที่ชัดเจนถึงเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญว่า ให้นับรวมระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ที่ดำรงอยู่ก่อนประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2560 ด้วย และมาตรา 264 ให้นับความเป็นนายกรัฐมนตรีต่อเนื่อง จึงไม่อาจแปลความเป็นอย่างอื่นได้เลยว่า การนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นั้นต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2557 เป็นต้นไปเท่านั้น
2.การวินิจฉัยให้เริ่มนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2560 อันเป็นวันที่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 มีผลใช้บังคับนั้น จะทำให้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังมีสิทธิดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหลัง ครบวาระในครั้งนี้แล้วอีก 2 ปี จนถึงปี 2568 นั้น น่าจะเป็นการตีความที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญที่ได้บัญญัติเป็นลายลักอักษรที่มีถ้อยคำชัดเจนและพี่น้องประชาชนทั่วไปเข้าใจเป็นอย่างดีแล้ว เพราะจะส่งผลให้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา สามารถดำรงตำแหน่งได้รวม 10 ปี ซึ่งเกินกว่า 8 ปี และเกินกว่า 2 วาระ ปกติของการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี อันผิดไปจากเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญปี 2560 และรัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้าที่ต้องการจำกัดวาระและระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมิให้เกิน 2 วาระ หรือเกินกว่า 8 ปี และยังขัดต่อการรับรู้ทั่วไปของพี่น้องประชาชนและขัดต่อข้อเท็จจริงว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นั้นได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2557 ซึ่งการตีความในลักษณะนี้ จะมีผลแปลกประหลาดคือ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่ในวันที่ 6 เมษายน 2560 ที่รัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้ ระยะเวลา 8 ปี ก่อนวันที่ 6 เมษายน 2560 กลับไม่นำมานับ แต่หลังจากวันที่ 6 เมษายน 2560 กลับนำมานับ ทั้งๆ ที่มีประกาศพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีฉบับเดียวกัน
อนึ่ง ในชั้นเริ่มต้นของการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อปี 2557 แม้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะไม่ได้เข้าสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจากความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎรตามมาตรา 158 วรรคสองของรัฐธรรมนูญปี 2560 ก็ตาม แต่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 ได้บัญญัติให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติก็ได้ให้ความเห็นชอบให้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี กรณีจึงถือว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ย่อมเป็นนายกรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ ซึ่งสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 264
3.เมื่อรัฐธรรมนูญปี 2560 ถูกอ้างความชอบธรรมจากผู้มีอำนาจบ่อยครั้งว่า เป็นรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกงและผ่านการลงประชามติของประชาชน การตีความให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้อยู่ในตำแหน่งเกิน 8 ปีได้ นอกจากขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแล้ว ยังขัดต่อเจตนารมณ์ของประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยด้วย อันถือเป็นการทำลายรากฐานของระบอบประชาธิปไตยอย่างมีนัยสำคัญเพราะเป็นการเปิดโอกาสให้มีการผูกขาดการใช้อำนาจ
4.เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจหน้าที่ในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญแต่การวินิจฉัยที่อาจขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญเสียเอง ย่อมเป็นการทำลายคุณค่าความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ แม้ผลคำวินิจฉัยจะทำให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ประโยชน์แต่ก็จะเป็นการทำลายบรรทัดฐานทางกฎหมายและอาจนำมาซึ่งปัญหาความขัดแย้งที่ใหญ่หลวงในสังคม และเกิดการไม่ยอมรับในผลของคำวินิจฉัยได้
5.พรรคร่วมฝ่ายค้านเห็นว่า ถึงเวลาที่ประเทศไทยควรมีการปฏิรูปกระบวนการทำหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญเสียใหม่ ให้เกิดการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจที่เหมาะสม เพื่อมิให้มีการอาศัยผลของคำวินิจฉัยที่ผูกพันทุกองค์กร ไปใช้ในทางที่ไม่เหมาะสมและไม่คำนึงถึงบรรทัดฐานทางกฎหมายที่ถูกต้องได้
พรรคร่วมฝ่ายค้านเห็นว่าแม้ผลของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะทำให้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มีสิทธิดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไปได้ แต่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญคงมิใช่เป็นการฟอกขาวให้แก่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยประการใดๆ พรรคร่วมฝ่ายค้านเห็นว่าภาพจำของประชาชนที่มีต่อตัวนายกรัฐมนตรีคือ ผู้ที่พยายามจะสืบทอดอำนาจ ทุกวิถีทางเท่าที่จะหาวิธีทำให้ได้ ผู้ที่ผิดสัญญากับประชาชนมาตั้งแต่ต้นที่ทำรัฐประหารว่าจะอยู่ ไม่นาน ผู้ที่ผิดสัญญากับประชาชนในการปฏิรูปประเทศในด้านต่างๆ จนทำให้ประเทศไทย ตกขบวนลดชั้นลงไปจากผู้นำในอาเซียน การที่จะอ้างคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้อยู่ ในอำนาจได้ต่อไป จึงมีแต่ความว่างเปล่าในสายตาของประชาชน พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ควรใช้โอกาสนี้ประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเสียโดยไม่ต้องไปกล่าวอ้างคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเพื่ออยู่ในอำนาจต่อไป และขอให้พี่น้องประชาชนได้ให้บทเรียนกับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และองคาพยพของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป
หัวหน้าพรรคร่วมฝ่ายค้าน ยอมรับว่า ห่วงสถานการณ์ทางการเมืองหลังจากนี้ เพราะมีความเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ชุมนุม จึงขอให้รับฟังและเปิดโอกาสให้ประชาชนแสดงออก ไม่ให้เกิดความรุนแรงหรือขัดแย้ง พร้อมเปรียบสถานการณ์นี้ว่า เหมือนพายุโนรู เพราะประเทศไทย ‘No Rule’ หมายความว่าประเทศไทยไร้ทางออก
พร้อมมองโอกาสการยุบสภาจะยิ่งสูงขึ้น จากเดิมที่ให้ไว้ ที่ 80% เป็น 90% โดยเฉพาะหลังการประชุมเอเปค เพราะหากสภาอยู่ครบวาระ ส.ส.ต้องสังกัดพรรค 90 วัน แต่ถ้ายุบสภา สังกัดพรรคเพียง 30 วัน และและเลือกตั้งภายใน 45-60 วัน
นอกจากนี้ พรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล ยังออกแถลงการณ์ กรณีดังกล่าวด้วย
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: