กรุงเทพฯ – กระทรวงสาธารณสุข ออกประกาศ 3 ฉบับ ปรับปรุงข้อกำหนดผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนประกอบของกัญชา กัญชง สารสกัดซีบีดี (CBD) มีผลบังคับวันนี้ (22 ต.ค.65)
วันนี้ 22 ตุลาคม 2565 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า กระทรวงสาธารณสุขออกประกาศ ตามความในพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) อาหาร พ.ศ.2522 รวม 3 ฉบับ เพื่อปรับปรุงข้อกำหนดเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนผสมของกัญชาหรือกัญชง ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีสารสกัดแคนนาบิไดออล (CBD) เป็นส่วนประกอบ โดยทั้ง 3 ฉบับประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 21 ต.ค.65 และมีผลบังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศ หรือ ตั้งแต่วันที่ 22 ต.ค.65 เป็นต้นไป
ฉบับแรก เป็นประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 437 พ.ศ.2565 เรื่อง เมล็ดกัญชง น้ำมันจากเมล็ดกัญชง โปรตีนจากเมล็ดกัญชง และผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนประกอบของเมล็ดกัญชง น้ำมันจากเมล็ดกัญชง หรือโปรตีนจากเมล็ดกัญชง (ฉบับที่2) ซึ่งเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมประกาศเรื่องเดียวกัน ฉบับที่ 1 (ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่425 พ.ศ. 2564) มีสาระสำคัญเป็นการปรับปรุงคุณภาพหรือมาตรฐาน โดยการยกเลิกข้อจำกัดปริมาณสาร CBD ในเมล็ดกัญชงที่เป็นอาหาร น้ำมันจากเมล็ดกัญชง โปรตีนเมล็ดกัญชง
พร้อมปรับปรุงบัญชีแนบท้ายเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนประกอบของเมล็ดกัญชง น้ำมันจากเมล็ดกัญชง หรือโปรตีนจากเมล็ดกัญชง เช่น ผลิตภัณฑ์ธัญชาติสำหรับอาหารเช้า, ขนมอบ, ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เครื่องดื่มธัญชาติ ยกเว้น ชา กาแฟ ชาสมุนไพร, ขนมขบเคี้ยว โดยยกเลิกการควบคุมปริมาณสาร CBD แต่ยังคงการควบคุมปริมาณสาร THC ตามประกาศฯ ฉบับที่ 425 พ.ศ. 2564
ฉบับที่สอง ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 438 พ.ศ.2565 เรื่องผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนประกอบของส่วนของกัญชาหรือกัญชง (ฉบับที่2) ซึ่งเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมประกาศเรื่องเดียวกัน ฉบับที่ 1 (ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่427 พ.ศ. 2564) มีสาระสำคัญในการปรับปรุงคุณภาพมาตรฐานและการแสดงฉลากของผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนประกอบของกัญชาหรือกัญชง และกำหนดให้ผู้ผลิตซึ่งได้รับอนุญาตอยู่ก่อนหน้านี้ จะต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามประกาศฉบับใหม่นี้ภายใน 2 ปี นับแต่วันที่ประกาศมีผลใช้บังคับด้วย
ข่าวน่าสนใจ:
- กทม. ร่วม"ฟูกูโอกะ" เปิดงาน "Fukuoka Fair" ฉลอง 18 ปีเมืองพี่เมืองน้อง
- ศูนย์วัฒนธรรมเกาหลีฯ จัดกิจกรรม"วันกิมจิ"เผยแพร่การทำกิมจิ ผู้สนใจเข้าร่วมงานกว่า 700 คน
- ตรัง คู่ซี้ พระ-ฆราวาส เมาแอ๋ด่าทอชาวบ้านใกล้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก อาละวาดอ้างมีปืน ทำชาวบ้านแตกตื่น ตร.หิ้วปีกบังคับสึก กร่างไม่เลิกบอกรู้จักพระผู้ใหญ่
- ตรัง จัดใหญ่ 12 วัน งานฉลองรัฐธรรมนูญและงานกาชาดจ.ตรัง 4-15 ธ.ค.นี้ รีแบร์นใหม่! ย้อนยุคงานเหลิมแต่แรก แสดงบินโดรนพิธีเปิด วธ.ทุ่ม 3.4 ล้าน…
ทั้งนี้ ประกาศฯ ฉบับที่ 438 ได้ปรับปรุงแก้ไขในส่วนของคุณภาพหรือมาตรฐาน สำหรับผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนประกอบของกัญชาหรือกัญชง โดยได้กำหนดให้ชัดเจนสำหรับผลิตภัณฑ์อาหารที่จำหน่ายโดยตรงต่อผู้บริโภค หรือผู้แบ่งบรรจุ ผู้ปรุง หรือผู้จำหน่ายอาหาร สำหรับผลิตภัณฑ์ปรุงรส, ซอส, น้ำปลาผสมชนิดเหลวและแห้ง น้ำเกลือปรุงรส ที่ต้องมีสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล(THC) ไม่เกินร้อยละ 0.0032 โดยน้ำหนัก และสาร CBD ไม่เกินร้อยละ 0.0028 ส่วนผลิตภัณฑ์อาหารอื่นๆ ต้องมีสาร THC ไม่เกิน 1.6 มิลลิกรรม และ CBD ไม่เกิน 1.41 มิลลิกรัมต่อหน่วยบรรจุ เป็นต้น
นอกจากนี้ ได้ปรับปรุงแก้ไขข้อกำหนดในส่วนการแสดงฉลากของผลิตภัณฑ์ให้มีความชัดเจน เช่น การมีข้อความระบุว่าไม่ควรบริโภคเกินปริมาณที่แนะนำให้บริโภคต่อครั้ง ไม่ควรใช้ร่วมกับผลิตภัณฑ์อาหารที่มีกัญชาหรือกัญชงเป็นส่วนประกอบ ข้อความแสดงวิธีใช้ที่เข้าใจง่าย รวมถึงกรณีผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้จำหน่ายตรงต่อผู้บริโภค ต้องมีข้อความที่ชัดเจนว่า ห้ามจำหน่ายตรงต่อผู้บริโภค เป็นต้น
ฉบับที่ 3 ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 439 พ.ศ.2565 เรื่อง ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีสารสกัดแคนนาบิไดออลเป็นส่วนประกอบ (ฉบับที่2) ซึ่งเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมประกาศเรื่องเดียวกัน ฉบับที่1 (ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่429 พ.ศ. 2564) โดยได้เพิ่มข้อกำหนดให้สามารถนำสารสกัด CBD ที่ผสมกับวัตถุอื่นที่ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพมาเป็นส่วนประกอบของอาหารได้
“รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมและพัฒนากัญชาและกัญชงให้เป็นพืชเศรษฐกิจ ใช้ประโยชน์ทางการแพทย์และอุตสาหกรรม ซึ่งทั้งหมดได้กฎหมายกำกับ เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์อย่างตรงวัตถุประสงค์ โดยส่วนของการนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์อาหารก็เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยอาหาร ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศตามความใน พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 เพื่อควบคุมผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนประกอบของกัญชา กัญชงมาได้ระยะหนึ่งแล้ว การออกประกาศเพื่อปรับปรุงแก้ไขข้อกำหนดต่าง ๆ ของกระทรวงสาธารณสุขทั้ง 3 ฉบับ จะทำให้เกิดความชัดเจนสำหรับผู้ประกอบการ ขณะเดียวกัน ผู้บริโภคก็ได้บริโภคผลิตภัณฑ์สินค้าที่ปลอดภัย ขอให้ผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าอาหารที่มีส่วนผสมของกัญชาหรือกัญชงศึกษาข้อกำหนดใหม่และปฏิบัติตามโดยเข้มงวดต่อไป” น.ส.ไตรศุลี กล่าว
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: