X

ต้าน ‘Hate Speech’ กองทุนสื่อฯ เร่งสร้างภูมิคุ้มกัน ‘หยุดเหยียด เกลียดศาสนา พูดร้ายทำลายกัน’

กรุงเทพฯ – กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จัดประกวดคลิปรณรงค์ลด Hate Speech สร้างภูมิคุ้มกัน ต้านประทุษวาจา เกี่ยวกับศาสนา หวั่น การพูดร้าย ทำลายกัน บานปลายสู่ความรุนแรง เน้นป้องกันด้วยการเสริมสร้างความตระหนักรู้ เท่าทันและเฝ้าระวัง ชิงรางวัลรวมมูลค่า 75,000 บาท

วันที่ 25 ตุลาคม 2565 กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จัดงานแถลงข่าวและกิจกรรม Workshop การประกวดคลิปรณรงค์การประทุษวาจาทางด้านศาสนา โครงการ ‘TMF Stop Hates Speech Clip Contest’ เพื่อยกระดับการตระหนักรู้ปัญหา ‘พูดร้าย ทำลายกัน’ ในสังคมไทย พร้อมขับเคลื่อนการรณรงค์ต้านประทุษวาจาในสังคมออนไลน์อย่างกว้างขวาง

โดยเปิดรับผลงานจากนักเรียน นักศึกษา เครือข่ายศาสนา และประชาชนทั่วไป ในหัวข้อ ‘หยุดเหยียด เกลียดศาสนา พูดร้ายทำลายกัน’ โดยมีเงินรางวัล 30,000 บาท สำหรับผู้ชนะเลิศ, 20,000 บาท สำหรับรองชนะเลิศอันดับ 1 และ 10,000 บาท สำหรับรองชนะเลิศอันดับ 2 รวมถึงยังมีรางวัลชมเชยอีก 3 รางวัล รางวัลละ 5,000 บาท ให้แก่ผู้ที่มีผลงานโดดเด่น

นายธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ระบุว่า การจัดประกวดครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างการตระหนักรู้เกี่ยวกับประทุษวาจา และกระตุ้นให้เกิดการเฝ้าระวังปัญหาดังกล่าวในสังคมไทย โดยเฉพาะทางสื่อออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก, ทวิตเตอร์, อินสตาแกรม หรือยูทูป ที่เปิดกว้างให้คนทั่วไปสามารถเปลี่ยนสถานะเป็นผู้ส่งสารได้ตลอดเวลา

ทั้งนี้ งานวิจัยระบุว่า ‘ศาสนา’ เป็นฐานความเกลียดหนึ่ง ที่พบบ่อยในวาทะสร้างความเกลียดชัง ขณะที่สื่อใหม่ (New Media) รวมถึงโซเชียลมีเดีย (Social Media) มีส่วนส่งเสริมให้การสื่อสารความเกลียดชังเกิดขึ้นได้ง่ายและแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว ประทุษวาจามิได้เกิดขึ้นในรูปแบบของคำพูดเท่านั้น หากแต่อาจยังแพร่หลายอยู่ในรูปแบบของ ข้อความ ภาพวาด ภาพถ่าย ภาพกราฟิก ภาพยนตร์ เพลงหรือสัญลักษณ์อื่น ๆ

ที่สำคัญ ประทุษวาจาหรือวาทะสร้างความเกลียดชัง อาจมิได้อยู่ในรูปแบบการด่า ใช้ภาษาหยาบคาย รุนแรง ดูถูก เหยียดหยามเท่านั้น แต่บ่อยครั้งมุ่งเน้นสร้างความเข้าใจผิด นิยามผู้อื่นในเชิงลดคุณค่า สื่อสารแบบที่สร้างความรู้สึกแบ่งฝักแบ่งฝ่าย รวมถึงสื่อความหมายปฏิเสธการอยู่ร่วมกัน ในบางกรณี การกระทำดังกล่าวร้ายแรงถึงขั้นยุยงปลุกปั่นสนับสนุนให้ใช้ความรุนแรงกับผู้ที่แตกต่างและระดมกำลังไล่ล่า ขู่คุกคามหรือลงทัณฑ์ทางสังคม’

ด้านนางสาวพัชรพร พงษ์ทัดศิริกุล ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมการรู้เท่าทันและเฝ้าระวังสื่อ ชี้ว่า การป้องปรามปัญหาประทุษวาจา จำเป็นต้องสร้างความเข้าใจและตระหนักรู้ในสังคมว่าประทุษวาจาคืออะไร มีรูปแบบอย่างไรและมีผลเสียอย่างไร ตลอดจนส่งเสริมให้ยอมรับความแตกต่างในสังคมผ่านการรณรงค์และบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชนและประชาสังคม

“แม้ว่าประชาชนชาวไทยส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ แต่ยังมีผู้นับถือศาสนาอื่น ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่ทุกฝ่ายต้องยอมรับความหลากหลายทางศาสนา เข้าใจความแตกต่างของแต่ละศาสนา เคารพความเชื่อทางศาสนาของผู้อื่นและหลีกเลี่ยงการสื่อสารที่มุ่งเน้นแบ่งแยกและประทุษวาจา” นางสาวพัชรพร กล่าว

กองทุนสื่อฯ เชื่อว่าการสื่อสารรณรงค์ต้านการพูดร้าย ทำลายกัน จะมีบทบาทสำคัญในการลดและป้องกันวาทะสร้างความเกลียดชัง ที่มีรากฐานมาจากศาสนา ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการป้องกันด้วยการไม่ผลิต ไม่เผยแพร่ต่อ วาทะที่สร้างความเกลียดชัง หากพบวาทะลักษณะดังกล่าว ให้กล่าวตักเตือนหรือแจ้งองค์กรที่กำกับดูแล แสดงความเห็นอกเห็นใจผู้ที่ตกเป็นเหยื่อวาทะดังกล่าว ไม่โต้ตอบด้วยอารมณ์ เมื่อจำเป็นต้องอธิบาย ให้ชี้แจงด้วยเหตุผลและข้อเท็จจริง การถกเถียงใด ๆ ควรเป็นไปตามเหตุผลและสันติวิธี

ผู้สนใจ สามารถส่งผลงานได้ทาง https://forms.gle/b82xbDmrbqLp6qCn6
หรือ สแกน QR Code บน Poster ประชาสัมพันธ์ เพื่อศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม

♥ ติดตามรายละเอียดข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ Facebook กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

♦ ส่งผลงานได้ตั้งแต่วันนี้ ถึงวันที่ 25 พฤศจิกายน 2565

♦ ประกาศผลรางวัล วันที่ 20 ธันวาคม 2565

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

Picture of ลักขณา สุริยงค์

ลักขณา สุริยงค์

ทำหน้าที่สื่อมวลชนมาเกือบ 30 ปี ทั้งงานสายข่าวและจัดรายการทีวี-วิทยุมานับไม่ถ้วน "ไม่เป็นกลาง แต่เป็นธรรม พร้อมนำเสนอความจริง"