กรุงเทพฯ – นิสสัน ประเทศไทย จับมือ กฟผ. ศึกษาและทดสอบควบคุม การสั่งจ่ายไฟฟ้าจากแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าหลายคัน สู่ระบบไฟฟ้าพร้อมกัน ผ่านระบบ EGAT V2G & VPP ตามแนวคิดโรงไฟฟ้าเสมือน เสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศในอนาคต
วันที่ 26 ตุลาคม 2565 นายคาซูยะ นาชิดะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย กล่าวแสดงความยินดี โดยมี ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ร่วมเป็นประธานในพิธีเปิดโครงการความร่วมมือระหว่าง บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นำร่องศึกษาการแปลงพลังงาน ระหว่างยานยนต์ไฟฟ้ากับระบบไฟฟ้า และการควบคุมกำลังไฟฟ้าจาก ศูนย์ควบคุมกำลังไฟฟ้าแห่งชาติ โดยนายอิซาโอะ เซคิกุจิ ประธาน นิสสัน ประเทศไทย และนายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการ กฟผ. ร่วมในพิธี พร้อมด้วยผู้บริหารทั้งสองหน่วยงาน ณ อาคาร 50 ปี กฟผ. สำนักงานใหญ่ จ.นนทบุรี
นายอิซาโอะ เซคิกุจิ ประธาน นิสสัน ประเทศไทย เปิดเผยว่า นิสสันดำเนินธุรกิจอยู่ในประเทศไทยมานานถึง 70 ปี มุ่งมั่นที่จะสนับสนุนการพัฒนาประเทศไทยในทุกด้าน โดยเฉพาะด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน ในฐานะที่นิสสันเป็นผู้นำที่มีการพัฒนาเทคโนโลยีและยานยนต์ไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง และได้รับการยอมรับเป็นอย่างสูงทั่วโลก ประกอบกับวิสัยทัศน์ Ambition 2030 ของนิสสัน ที่ตั้งเป้าหมายจะมุ่งมั่นพัฒนารถยนต์และเทคโนโลยียานยนต์ เพื่อสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน นิสสันจึงยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่จะสนับสนุนการศึกษาเพื่อหาแนวทางที่จะขับเคลื่อนประเทศไทย ให้ก้าวสู่สังคมคาร์บอนเป็นศูนย์ภายในปี พ.ศ.2608 บริษัท นิสสัน ประเทศไทย หวังว่าความร่วมมือครั้งนี้ จะสร้างคุณประโยชน์ให้แก่ทุกภาคส่วนของสังคมไทย และสนับสนุนประเทศไทยให้บรรลุเป้าหมายคาร์บอนเป็นศูนย์ต่อไปในอนาคต
ด้านนายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการ กฟผ. ระบุว่า การส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ภายในประเทศถือเป็นหนึ่งในแนวทางสำคัญ ของการผลักดันประเทศไทยสู่เป้าหมาย Carbon Neutrality ในปี พ.ศ.2593 กฟผ. ในฐานะหน่วยงานที่ดูแลความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าของประเทศ ได้เตรียมความพร้อมของระบบไฟฟ้า และการบริหารจัดการพลังงานรองรับการใช้ EV ที่เพิ่มขึ้นในอนาคต รวมถึงรองรับเทคโนโลยีการจ่ายไฟฟ้า จากแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้าเข้าสู่ระบบไฟฟ้า (Vehicle-to-Grid หรือ V2G)
ข่าวน่าสนใจ:
ซึ่ง กฟผ. ได้พัฒนาออกแบบระบบ EGAT V2G & VPP ที่เป็นระบบควบคุมการสั่งจ่ายไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ของรถอีวีหลาย ๆ คัน กลับเข้าสู่ระบบไฟฟ้าพร้อมกัน และส่งกำลังไฟฟ้าไปยังศูนย์สั่งการการตอบสนองด้านโหลด (Demand Response Control Center หรือ DRCC) ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของ กฟผ. ขานรับแนวคิดโรงไฟฟ้าเสมือน (Virtual Power Plant หรือ VPP) รองรับการรับซื้อไฟฟ้าส่วนเหลือจากแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าเข้าสู่ระบบไฟฟ้าในอนาคต เพื่อเป็นระบบสำรองไฟฟ้าช่วยเสริมความมั่นคงไฟฟ้าของประเทศ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่เกิดความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด ตามแผนการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านสมาร์ทกริดของประเทศไทย ระยะปานกลาง พ.ศ.2565 – 2574
ภายใต้โครงการทดสอบนวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการให้บริการด้านพลังงาน (ERC Sandbox) ระยะที่ 2 ซึ่งจะมีส่วนสำคัญสำหรับการศึกษาเทคโนโลยี V2G ที่เหมาะสมกับประเทศไทย รวมถึงการนำข้อมูลมาใช้จัดทำข้อกำหนดและระเบียบปฏิบัติให้สอดรับกับแนวทางการใช้พลังงานรูปแบบใหม่ในอนาคตต่อไป
นิสสัน ประเทศไทย และ กฟผ. จะร่วมกันศึกษาจ่ายไฟฟ้า จากจากแบตเตอรี่ของรถยนต์นิสสันลีฟ (Nissan LEAF) เข้าสู่ระบบไฟฟ้า เพื่อเป็นแหล่งพลังงานไฟฟ้าสำรอง โดยรถยนต์นิสสันลีฟ เป็นรถยนต์พลังงานไฟฟ้า 100% รองรับเทคโนโลยีการชาร์จไฟฟ้าแบบสองทิศทาง (Bi-directional Charging) คือ นอกจากชาร์จไฟฟ้าให้แก่รถยนต์ไฟฟ้า ยังสามารถจ่ายไฟฟ้าจากแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า สู่ระบบโครงข่ายไฟฟ้าของ กฟผ. ผ่านเครื่องอัดประจุไฟฟ้าแบบสองทิศทางสำหรับบ้านเครื่องแรกของโลก รุ่น Quasar จากแบรนด์ Wallbox ซึ่งเป็นผู้นำด้านเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าและระบบบริหารจัดการพลังงานสุดอัจฉริยะระดับโลกที่นำเข้าและให้บริการหลังการขายโดยบริษัท อินโนพาวเวอร์ จำกัด เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้พลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้ามาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: