กรุงเทพฯ – โฆษกรัฐบาล ชี้ ความสามารถในการแข่งขันของไทยปี 2565 ลดลง จากสถานการณ์โควิด-19 แต่หลายปัจจัยปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะด้านประสิทธิภาพภาคธุรกิจและโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อขับเคลื่อนประเทศสู่อนาคต
วันที่ 30 ตุลาคม 2565 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า แม้ผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขัน (Competitiveness of Countries) โดย International Institute for Management Development (IMD) ประจำปี 2565 ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับอยู่ที่ 33 ลดลง 5 อันดับ จากอันดับที่ 28 ในปีก่อนหน้า แต่ยังคงมีปัจจัยบวกในหลายปัจจัยย่อย ซึ่งเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศอาเซียนพบว่า มาเลเซียและอินโดนีเซีย อันดับลดลง 7 อันดับ ซึ่งมากกว่าการลดลงของประเทศไทย
นายอนุชา ชี้แจงปัจจัยหลัก ด้านสมรรถนะทางเศรษฐกิจ (Economic Performance) ไทยอยู่อันดับที่ 34 ว่า เป็นผลมาจากการลดลงของการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยช่วงที่ผ่านมา พึ่งพาการส่งออก-นำเข้าสูง ดังนั้น ในช่วงที่เกิดวิกฤตโควิด -19 ไทยจึงได้รับผลกระทบโดยตรง แต่เป็นผลกระทบระยะสั้นจากการไม่สามารถส่งออกสินค้าอันเป็นผลข้อจำกัดในการขนส่งระหว่างประทศ เมื่อสถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติ จะสามารถกลับมาส่งออกได้มากขึ้นตามปกติ
ส่วนปัจจัยย่อย ด้านระดับราคา (Prices) มีการปรับตัวดีขึ้นถึง 6 อันดับ แม้ว่าระดับราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น แต่ตัวชี้วัดด้านค่าใช้จ่ายเพื่อการดำรงชีพยังคงมีแนวโน้มที่ดี เช่น ค่าใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการเพื่อการอุปโภคและบริโภคที่จำเป็น ค่าใช้จ่ายสำหรับที่อยู่อาศัยและสำนักงาน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการดำเนินมาตรการของภาครัฐที่ช่วยสนับสนุนและพยุงต้นทุนค่าใช้จ่ายของครัวเรือน เช่น โครงการคนละครึ่ง โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย โครงการเพื่อช่วยลดค่าไฟฟ้า และค่าน้ำประปา เป็นต้น
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า สำหรับปัจจัยหลัก ด้านประสิทธิภาพภาครัฐ (Government Efficiency) ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 31 สาเหตุหลักเป็นผลมาจากปัจจัยย่อยทางด้านฐานะการคลัง (Public finance) ที่มีการใช้จ่ายงบประมาณแบบขาดดุล และหนี้สาธารณะอยู่ในระดับสูง เป็นผลจากการดำเนินนโยบาย ที่รัฐบาลกู้เงินเพื่อนำมาเสริมสภาพคล่องและฟื้นฟูเศรษฐกิจ รักษาระดับการจ้างงาน กระตุ้นการลงทุนและบริโภคในระบบเศรษฐกิจ ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด
อย่างไรก็ตาม ในส่วนกรอบการบริหารด้านสังคมพบว่า ช่วงปีที่ผ่านมา การกระจายรายได้ของกลุ่มผู้ที่มีรายได้น้อยที่สุดร้อยละ 40 ของประเทศไทยมีการพัฒนาในทิศทางที่ดีขึ้น ส่งผลให้ตัวชี้วัดดังกล่าวมีอันดับดีขึ้นมาอยู่ที่อันดับ 3 หรือดีขึ้น 26 อันดับจากปีก่อนหน้า ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการภาครัฐในการลดค่าครองชีพของกลุ่มคนเปราะบาง และมีมาตรการบรรเทาช่วยเหลือด้านรายจ่ายให้แก่กลุ่มคนที่มีรายได้น้อยในประเทศผ่านโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และโครงการสำคัญ อาทิ เราชนะ และคนละครึ่ง
สำหรับปัจจัยหลักด้านประสิทธิภาพภาคธุรกิจ (Business Efficiency) ซึ่งปัจจัยย่อยด้านผลิตภาพและประสิทธิภาพ (Productivity & Efficiency) โดยรวมจะมีอันดับลดลง แต่ผลิตภาพการผลิตในภาคอุตสาหกรรมและบริการเพิ่มขึ้น ซึ่งที่ผ่านได้มีการสนับสนุนงบประมาณอย่างต่อเนื่องเพื่อพัฒนาโครงการด้านการพัฒนาผลิตภาพการผลิต อาทิ โครงการจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน (SMC) ในเขตพื้นที่ EECi เพื่อเป็นการพัฒนาและยกระดับต้นแบบกระบวนการผลิตที่สามารถถ่ายทอดและนำไปปฏิบัติได้จริง
ด้านการบริหารจัดการ มีอันดับคงที่ อยู่ที่อันดับ 22 เกิดจากมีการใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลขนาดใหญ่ การสร้างและพัฒนาแนวคิดความเป็นผู้ประกอบการ จากการสนับสนุนของภาครัฐ เช่น โครงการ Depa Digital Startup Fund ส่งเสริมและสนับสนุนวิสาหกิจดิจิทัลเริ่มต้น (Digital Startup) ให้สามารถเริ่มต้นธุรกิจและเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง การสร้างชุมชนผู้ประกอบการให้สามารถศึกษาเรียนรู้ พัฒนา แลกเปลี่ยนประสบการณ์ มีที่ปรึกษาที่มีความเชี่ยวชาญเพื่อธุรกิจสามารถต่อยอดและต่อตัวต่อการเปลี่ยนแปลงได้อย่างทันท่วงที ในขณะเดียวกันยังเป็นผลมาจากการที่หน่วยงานต่าง ๆ ได้ให้ความสำคัญในการสำรวจและจัดเก็บข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศในรูปแบบมาตรฐานเดียวกันมากขึ้น
นายอนุชา ยังกล่าวถึงปัจจัยด้านโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ต่าง ๆ ที่ปรับตัวดีขึ้น ได้แก่
1.ด้านสาธารณูปโภคพื้นฐาน (Basic Infrastructure) ปรับตัวดีขึ้น จากการพัฒนาการด้านคมนาคมขนส่งรูปแบบต่าง ๆ โดยเฉพาะการพัฒนาเส้นทางรถไฟที่ทั่วถึงตามนโยบายรัฐบาล อาทิ การพัฒนาโครงข่ายรถไฟทางคู่ การพัฒนาโครงข่ายรถไฟให้ครอบคลุมทั่วประเทศและเชื่อมโยงกับการขนส่งรูปแบบอื่น รวมถึงรัฐบาลได้ลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานโดยเฉพาะถนนมาอย่างต่อเนื่อง
2.ด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยี (Technological Infrastructure) ดีขึ้น โดยรัฐบาลได้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่สามารถตอบสนองความต้องการของภาคธุรกิจ และครอบคลุมผู้ใช้งานที่เพิ่มขึ้น สอดคล้องกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และรูปแบบการเรียนการสอน การทำงานเป็นรูปแบบออนไลน์ รวมทั้งการเข้าถึงบริการภาครัฐผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์มต่าง ๆ เช่น หมอพร้อม และเป๋าตัง เป็นต้น นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้ให้ความสำคัญกับการลงทุนในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม
3.ปัจจัยย่อยด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ (Scientific Infrastructure) มีอันดับคงที่ อยู่ที่อันดับ 38 โดยรัฐบาลได้ให้ความสำคัญการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรม สะท้อนจากตัวชี้วัดในกลุ่มการใช้จ่ายเพื่อการวิจัยและพัฒนา (Total expenditure on R&D) ที่ปรับตัวดีขึ้น
4.ปัจจัยย่อยด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม (Health and Environment) อยู่ในอันดับที่ 51 โดยตัวชี้ที่สะท้อนถึงคุณภาพชีวิตของประชาชน ได้รับการจัดอันดับดีขึ้น อาทิ อายุคาดเฉลี่ยเมื่อแรกเกิด และอายุคาดเฉลี่ยของการมีสุขภาพที่ดีเป็นต้น รวมทั้งการให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมของรัฐบาล สะท้อนจากตัวชี้วัดปัญหามลพิษได้รับการจัดอันดับดีขึ้นด้วย
5.ปัจจัยย่อยด้านการศึกษา (Education) ปรับตัวดีขึ้น 3 อันดับ อยู่ในอันดับที่ 53 เป็นผลจากที่รัฐบาลมุ่งพัฒนาคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง จากตัวชี้วัดการใช้จ่ายด้านการศึกษาของภาครัฐโดยรวม ที่ปรับตัวดีขึ้น 10 อันดับ มาอยู่ที่อันดับ 49
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: