กรุงเทพฯ – นายกรัฐมนตรี ยืนยัน ขจัดปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน ยกระดับการคุ้มครองสิทธิตามมาตรฐานสากล ยินดี สำนักงานเพื่อสิทธิมนุษยชน แห่งสหประชาชาติ ชื่นชมไทย ประกาศใช้ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565
วันที่ 3 พฤศจิกายน 2565 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยินดี ที่สำนักงานเพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เห็นถึงความพยายามของรัฐบาลไทย โดยชื่นชมที่ได้ประกาศใช้ พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565
โดยมองว่า พ.ร.บ.ที่ประกาศในพระราชกิจจานุเบกษา เมื่อ 25 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา ถือเป็นก้าวสำคัญในการปฏิบัติตามคำมั่นของไทย เพื่อขจัดการกระทำทรมาน และการกระทำให้บุคคลสูญหายให้หมดสิ้น เป็นการให้ความยุติธรรมแก่ผู้เสียหาย จากการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ซึ่งมีเนื้อหาครอบคลุมเรื่องสิทธิในการที่จะไม่ถูกทรมาน เป็นสิทธิมนุษยชนที่ไม่อาจระงับชั่วคราวได้ (non-derogation) และหลักการไม่ส่งใครกลับไปเผชิญอันตราย (non-refoulement) ซึ่งป้องกันไม่ให้เจ้าหน้าที่ ขับไล่ เนรเทศ หรือส่งบุคคลใดไปยังอีกประเทศหนึ่ง ที่อาจเผชิญความเสี่ยงต่อการกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี หรือการกระทำให้บุคคลสูญหาย
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า สำนักงานเพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ยังชื่นชมไทยที่ปฏิบัติตามคำมั่นที่ให้ไว้ ในการทบทวนสิทธิมนุษยชนครั้งล่าสุด ตามกระบวนการ Universal Periodic Review (UPR) และระบุว่า หลังจากที่มีกรอบกฎหมายบังคับใช้ในประเทศแล้ว ประเทศไทยสามารถดำเนินการให้สัตยาบัน ต่ออนุสัญญาระหว่างประเทศ ว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance) และ พิธีสารเลือกรับของอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน และการกระทำอื่น ๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (Optional Protocol to the Convention against Torture and other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment) ในลำดับถัดไป และพร้อมให้การสนับสนุนทางเทคนิคแก่รัฐบาลตามที่มีความจำเป็นอีกด้วย
“รัฐบาลภายใต้การบริหารของนายกรัฐมนตรี มุ่งมั่นที่จะบังคับใช้พระราชบัญญัติฯ แก้ไขปัญหาการกระทำทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ซึ่งกระทำโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงไม่ว่าในสถานการณ์ใด ๆ ด้วยมุ่งหวังขจัดปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรง และสร้างหลักประกันความเป็นธรรมให้กับประชาชน รวมทั้งยกระดับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนตามมาตรฐานสากล และสร้างความเชื่อมั่นด้านกระบวนการยุติธรรม ส่งเสริมภาพลักษณ์ของไทย” นายอนุชา กล่าว
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: