ลำปาง – รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน สั่ง 3 หน่วยงาน เร่งศึกษาศักยภาพ การกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ ในพื้นที่เหมืองแม่เมาะ เพื่อเดินหน้านโยบายเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ในปี 2050 อย่างเป็นรูปธรรม
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วย อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ และ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและประชุม ติดตามการดำเนินงานของ กฟผ.แม่เมาะ
โดยนายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และผู้บริหาร กฟผ. ให้การต้อนรับ พร้อมนำเสนอความก้าวหน้ าการดำเนินงาน อาทิ ศักยภาพและความเป็นไปได้ ในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และกักเก็บไว้ในชั้นหินระดับลึกใต้เหมืองแม่เมาะ การนำเชื้อเพลิงชีวมวลอัดแท่งมาเผาไหม้ร่วมกับถ่านหิน (Biomass Co-Firing) และความก้าวหน้าการนำโรงไฟฟ้าเครื่องที่ 4 กลับมาเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าเพื่อช่วยวิกฤติพลังงาน เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2565 ณ กฟผ. แม่เมาะ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ระบุว่า กฟผ.แม่เมาะ มีศักยภาพในการพัฒนาไปสู่การเป็นเมืองอุตสาหกรรมด้านพลังงานสะอาด รวมทั้งยังมีศักยภาพในการกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture Storage : CCS) จึงมอบหมายให้ 3 หน่วยงาน คือ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ (ชธ.) ปตท.สผ. และ กฟผ. เร่งดำเนินการศึกษาเบื้องต้นให้แล้วเสร็จ ภายในเดือนมกราคม 2566 หากสามารถพัฒนาไปสู่การกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ได้ จะช่วยสนับสนุนให้ประเทศไทยมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน
“อยากให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง นำข้อมูลที่มีแลกเปลี่ยนกันให้ได้มากที่สุด หากสามารถทำได้จริงด้วยราคาที่เหมาะสม ก็จะเป็นโอกาสให้การผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะ ดำเนินต่อไปได้สอดคล้องกับทิศทางและนโยบายหลักของประเทศ” นายสุพัฒนพงษ์ กล่าว
นอกจากนี้ ยังให้ทั้ง 3 หน่วยงาน ร่วมกันเตรียมศึกษาโครงการ CCS ที่โรงไฟฟ้าน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น เพิ่มเติมด้วย ซึ่งคาดว่าจะได้ผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีมูลค่าทางเศรษฐศาสตร์ในอนาคต
สำหรับความก้าวหน้าการนำโรงไฟฟ้าเครื่องที่ 4 กลับมาเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าเพื่อช่วยวิกฤติพลังงาน คาดว่าจะสามารถเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ได้ประมาณ วันที่ 1 ธันวาคม 2565 จะช่วยให้ประเทศลดการนำเข้าเชื้อเพลิงที่มีราคาแพงจากต่างประเทศลงได้
นอกจากนี้ ยังมีการดำเนินการโครงการ Biomass Co-Firing ซึ่งเป็นการนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น เปลือก ซัง ต้น ตอ ใบข้าวโพด นำมาผ่านกระบวนการบดและอัดเป็นแท่ง ใช้เป็นเชื้อเพลิง เผาไหม้ร่วมกับถ่านหินที่โรงไฟฟ้าแม่เมาะเครื่องที่ 12 และ 13 ถือเป็นโรงไฟฟ้าแห่งแรกของประเทศไทย ที่ใช้ระบบการเผาไหม้ถ่านหินร่วมกับชีวมวลทางการเกษตร ช่วยลดการใช้เชื้อเพลิงถ่านหิน และยังช่วยลดการเผาวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ส่งผลให้ปัญหาหมอกควัน ฝุ่น PM 2.5 และการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลดลง และยังเพิ่มรายได้ให้กับชุมชนโดยรอบ กฟผ. แม่เมาะ จากการขายวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรอีกด้วย
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: