กรุงเทพฯ – นายกรัฐมนตรี ให้การต้อนรับและหารือทวิภาคี ผู้นำหลายชาติ กระชับความสัมพันธ์ ขยายความร่วมมือหลายด้าน
วันที่ 17 พฤศจิกายน 2565 ณ ห้องสีงาช้าง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม หารือทวิภาคีกับ นายจัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีแคนาดา ซึ่งเยือนไทยครั้งแรกในรอบ 10 ปี เชื่อว่าการเยือนในครั้งนี้ จะช่วยยกระดับความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น เพื่อต่อยอดไปสู่ความร่วมมือในสาขาต่าง ๆ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ ผ่านการขยายการค้าและการลงทุน ในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่สอดคล้องกับโมเดลเศรษฐกิจ BCG ด้านนายกรัฐมนตรีแคนาดา เชื่อว่าจะขยายความร่วมมือกับไทยทั้งในระดับทวิภาคีและภูมิภาค โดยเฉพาะประเด็นด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่แคนาดาให้ความสำคัญ เวทีเอเปคจะเป็นการแสดงจุดยืนสำคัญของทุกเขตเศรษฐกิจ เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวร่วมกัน แคนาดาพร้อมสนับสนุนและแลกเปลี่ยนประสบการณ์เพื่อประโยชน์ร่วมกันต่อไป
นอกจากนี้ ยังหารือไปถึงแรงงานในภาคส่วนต่าง ๆ การเสริมสร้างความมั่นคงของมนุษย์ ด้านสิทธิมนุษยชน การส่งเสริมความเท่าเทียมและบทบาทสตรี ตลอดจนส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน และด้านการท่องเที่ยว ซึ่งนายกรัฐมนตรีแคนาดา ยินดีที่ได้ทราบว่า สายการบิน Air Canada จะเปิดเส้นทางบินตรง ระหว่างเมืองแวนคูเวอร์-กรุงเทพฯ (สุวรรณภูมิ) ในเร็ว ๆ นี้ ซึ่งถือเป็นการเปิดเส้นทางระหว่างอเมริกาเหนือ และประเทศไทย นายกรัฐมนตรีเห็นพ้องและเชื่อมั่นว่า จะสามารถส่งเสริมการท่องเที่ยว และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจจากการท่องเที่ยวได้มากขึ้น
นายกฯ หารือทวิภาคีกับ ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ชื่นชมพลวัตในความสัมพันธ์ไทย-ฝรั่งเศส พร้อมกระชับความร่วมมือระหว่างกันในทุกมิติ
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หารือทวิภาคีกับ นายเอมานูว์แอล มาครง ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส นายกรัฐมนตรียินดีที่ได้พบหารือกับ ประธานาธิบดีฝรั่งเศสอีกครั้ง ชื่นชมความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับฝรั่งเศสที่มีพลวัตอย่างต่อเนื่อง และเชื่อมั่นว่าการเยือนครั้งนี้ จะช่วยขับเคลื่อนความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างกัน ให้แน่นแฟ้นและเกิดผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรม
ข่าวน่าสนใจ:
ด้านประธานาธิบดีฝรั่งเศส ชื่นชมความร่วมมือระหว่างไทยกับฝรั่งเศส ที่มีความคืบหน้าในหลาย ๆ ด้าน แม้ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 โดยเฉพาะความร่วมมือด้านอวกาศ ในการพัฒนาดาวเทียมธีออส 2
โอกาสนี้ ทั้งสองฝ่ายได้หารือเกี่ยวกับประเด็นความร่วมมือที่สำคัญร่วมกัน ดังนี้
– การจัดทำความตกลงว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตรา สำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางราชการไทย-ฝรั่งเศส ประธานาธิบดีฝรั่งเศสพร้อมเร่งรัดการดำเนินการ คาดว่าภายในเดือนมกราคม 2566 จะมีความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรม
– ด้านความมั่นคง นายกรัฐมนตรีพร้อมเร่งรัดการจัดตั้งกลไกการหารือ 2+2 dialogue ไทย-ฝรั่งเศส เพื่อหารือประเด็นท้าทายด้านความมั่นคง การส่งเสริมความเชื่อใจและความใกล้ชิดระหว่างทหารของทั้งสองฝ่าย
– ด้านเศรษฐกิจ ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องว่า ยังมีศักยภาพที่จะขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างกันได้อีกมาก โดยรัฐบาลไทยปรับนโยบายที่เน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน ผ่านโมเดลเศรษฐกิจ BCG ซึ่งสอดคล้องกับแผนปฏิรูปสีเขียวของ EU จึงเป็นโอกาสดีที่ทั้งสองฝ่ายจะสนับสนุนการส่งออกสินค้าสิ่งแวดล้อมและการลงทุนในธุรกิจสีเขียว ไทยร่วมกับสมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปค ลดอัตราภาษีนำเข้าทั่วไปสำหรับรายการสินค้าสิ่งแวดล้อมจำนวน 54 รายการ จึงเชิญชวนให้ฝรั่งเศสใช้ประโยชน์จากนโยบายดังกล่าว ด้านประธานาธิบดีฝรั่งเศสพร้อมร่วมมือกับไทย ด้านการผลิตและพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และเกษตรกรรม ตลอดจนพร้อมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการพัฒนา EEC
– ด้านการศึกษาและวิชาการ พร้อมสนับสนุนให้มีการแลกเปลี่ยนนักศึกษา นักวิชาการ และนักวิจัยระหว่างกันมากขึ้น
นายกรัฐมนตรี ยังขอรับการสนับสนุนจากฝรั่งเศส ในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง การสมัครเป็นเจ้าภาพจัดงาน Expo 2028 ที่ จ.ภูเก็ต ในเดือนมิถุนายน 2566
ไทย-ญี่ปุ่น ประกาศยกระดับความสัมพันธ์สู่การเป็น ‘หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน’
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม หารือกับ นายคิชิดะ ฟูมิโอะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น เพื่อกระชับความสัมพันธ์รอบด้าน รวมทั้งเพื่อแลกเปลี่ยนและสานต่อผลการหารือระหว่างกัน จากที่ผู้นำทั้งสองได้พบกัน เมื่อพฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา ผู้นำทั้งสองต่างยินดีในโอกาสครบรอบ 135 ปี ของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน และครบรอบ 10 ปีความสัมพันธ์หุ้นส่วนยุทธศาสตร์
– ไทยและญี่ปุ่นยังยืนยันความพร้อมที่จะร่วมมือกันเพื่อพัฒนา ‘หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน’ อย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้นในอนาคต เพื่อผลประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองประเทศ ประชาชนและภูมิภาค การลงนามและประกาศใช้แผนปฏิบัติการร่วม ว่าด้วยหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่นในระยะ 5 ปี จะยิ่งช่วยสนับสนุนการพัฒนาหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อย่างรอบด้านต่อไป
– ด้านความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ไทยและญี่ปุ่นยินดีที่ความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างกัน มีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง
– ญี่ปุ่น เสนอเพิ่มพูนความร่วมมือธุรกิจ startup ของทั้งสองประเทศด้วย
– นายกรัฐมนตรี ขอให้ญี่ปุ่นพิจารณาขยายการจัดตั้ง ‘สถาบันโคเซ็น’ ในไทยเพิ่มเติม ซึ่งถือเป็นการลงทุนด้านทรัพยากรมนุษย์ในระยะยาว ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญในภาคอุตสาหกรรม ที่สร้างประโยชน์ให้ทั้งไทยและญี่ปุ่นต่อไป
– ด้านพลังงาน ไทยและญี่ปุ่นพร้อมร่วมมือในการพัฒนาเทคโนโลยีด้านพลังงานที่ทันสมัย และการส่งเสริมการลงทุนในธุรกิจพลังงานคาร์บอนต่ำร่วมกัน ผ่านข้อเสนอความร่วมมือด้านพลังงาน (White Paper) ระหว่างไทยกับญี่ปุ่น และภายใต้ข้อริเริ่ม Asia Zero-Emission Community (AZEC) ของญี่ปุ่น ซึ่งสอดคล้องกับโมเดลเศรษฐกิจ BCG ของไทย
ไทยพร้อมเป็นหุ้นส่วนกับญี่ปุ่น ในการพัฒนาเทคโนโลยีด้านพลังงาน และส่งเสริมการลงทุนในธุรกิจพลังงานคาร์บอนต่ำ ซึ่งญี่ปุ่นพร้อมพิจารณาใช้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ของอาเซียนด้วย
ไทย-ฮ่องกง พร้อมกระชับความร่วมมือทาง การค้า การลงทุน และการเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทาน
นายกรัฐมนตรี หารือทวิภาคีแบบสั้น กับ นายจอห์น ลี คา-ชิว ผู้บริหารสูงสุดเขตบริหารพิเศษฮ่องกง ไทยยินดีร่วมมือกับฮ่องกงในการส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจของภูมิภาคให้รุ่งเรือง ไทย-ฮ่องกงมีความร่วมมือที่ใกล้ชิด โดยเฉพาะการค้าและการลงทุน รัฐบาลพร้อมร่วมมือกันในทุกมิติ เชื่อมั่นว่า ฮ่องกงและไทยจะมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้น และเจริญรุ่งเรืองต่อไป
ทั้งสองฝ่ายต่างเห็นพ้องว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จะเป็นโอกาสให้ทั้งสองฝ่าย ร่วมแก้ปัญหาท่ามกลางความท้าทาย และเป็นโอกาสให้ยกระดับความร่วมมือ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงแสวงหาความร่วมมือเพิ่มเติม เรื่องการค้าและการลงทุน และการเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทาน ตลอดจนการค้าในผลิตภัณฑ์ทางด้านเกษตร
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: