กรุงเทพฯ – นายกรัฐมนตรี ร่วมหารือ ผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค Retreat (II) สนับสนุนองค์การการค้าโลก ผลักดันการค้าพหุภาคีรูปแบบใหม่ เน้นเปิดกว้าง สมดุล ยั่งยืน
วันที่ 19 พฤศจิกายน 2565 เวลา 09.40 น. ณ ห้อง Plenary Hall 2 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิต์ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เข้าร่วมการประชุม ผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 29 รูปแบบ Retreat ช่วงที่ 2 หัวข้อ ‘การค้าและการลงทุนที่ยั่งยืน’ มีสาระสำคัญ ดังนี้
นายกรัฐมนตรี ระบุว่า การค้าและการลงทุนมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการเติบโตอย่างยั่งยืนและครอบคลุมทั่วทั้งภูมิภาคและโลก การค้าและการลงทุนถือเป็นหัวใจสำคัญของความร่วมมือในเอเปค โดยองค์ประกอบสำคัญประการหนึ่งที่เอเปคสนับสนุน และสนับสนุนมาโดยตลอด คือ ระบบการค้าพหุภาคี มี WTO เป็นแกนหลัก ทั้งนี้ เอเปคสามารถมีบทบาทในฐานะแหล่งบ่มเพาะทางความคิด โดยร่วมกันหาทางออกใหม่ๆ เพื่อขับเคลื่อนประเด็นต่างๆ อาทิ ความครอบคลุม ความยั่งยืน และการเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัล
การสนับสนุนสำคัญอย่างหนึ่งของเอเปคในระบบการค้าพหุภาคี คือ การขับเคลื่อนวาระเรื่องเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (Free Trade Area of the Asia- Pacific: FTAAP) ที่ในปีนี้มีความก้าวหน้าอย่างมาก โดยจัดทำแผนงานต่อเนื่องหลายปีเพื่อขับเคลื่อนวาระเรื่อง FTAAP ต่อไป ซึ่งจะช่วยสร้างศักยภาพและเตรียมเศรษฐกิจให้พร้อมสำหรับยุคหน้า รวมถึงประเด็นการค้าและการลงทุนยุคใหม่ เช่น ความยั่งยืน เศรษฐกิจดิจิทัล การค้า และสาธารณสุข
ข่าวน่าสนใจ:
- "เบิร์ด ธงไชย" ศิลปินแห่งชาติ ร่วมสืบสานนาฏศิลป์สยาม ชมการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ
- "มิชลินไกด์" เผย 20 ร้านใหม่ และ156 ร้านที่ได้รับรางวัล"บิบ กูร์มองด์" 2568
- กทม. ร่วม"ฟูกูโอกะ" เปิดงาน "Fukuoka Fair" ฉลอง 18 ปีเมืองพี่เมืองน้อง
- ปิดตำนานนักเขียน "ตรี อภิรุม" ศิลปินแห่งชาติฯ เจ้าของผลงาน "นาคี"
นายกรัฐมนตรีเห็นว่า นอกจากจะต้องดำเนินการตามแผนงานต่อเนื่องแล้ว ยังต้องคำนึงถึงขั้นตอนต่อไปด้วย โดยปีที่ผ่านมา เทคโนโลยีดิจิทัลช่วยรับมือและให้ฟื้นตัวจากโควิด-19 รวมทั้งยังสนับสนุน MSMEs ที่ถือเป็นกลไกขับเคลื่อนการเติบโต ให้สามารถเข้าสู่ตลาดโลกและห่วงโซ่อุปทาน นอกจากนี้ยังขยายการเข้าถึงและสร้างโอกาสให้กับสตรี เยาวชน ตลอดจนในชนบทและพื้นที่ห่างไกล อย่างไรก็ดี นายกรัฐมนตรีเห็นว่า ยังคงมีช่องว่างอยู่ จึงจำเป็นที่จะต้องลดช่องว่างด้านดิจิทัลและเสริมพลัง เพื่อสร้างหลักประกันให้กับคนทุกกลุ่ม
นายกรัฐมนตรี กล่าวสรุปว่า เอเปคเห็นพ้องว่าต้องทำงานร่วมกัน เพื่อส่งเสริมความมั่งคั่งและความกินดีอยู่ดีของประชาชนทุกคนในภูมิภาค โดยเฉพาะเมื่อคำนึงถึงแนวโน้มทางเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน ทั้งนี้ ยินดีที่เอเปคมุ่งมั่นสนับสนุนระบบการค้าพหุภาคีที่มี WTO เป็นศูนย์กลาง รวมทั้งให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนวาระเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (FTAAP) โดยเอเปคยังสนับสนุนการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเติบโต โดยเฉพาะสำหรับ MSMEs และธุรกิจนอกระบบ รวมถึงการส่งเสริมการค้า การลงทุน และห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืนและยืดหยุ่น มุ่งเน้นการจัดการกับความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่ง ไทย หวังว่าแนวคิดเศรษฐกิจ BCG จะช่วยบ่มเพาะความคิดใหม่ ๆ เพื่อขับเคลื่อนการเติบโตที่ยั่งยืนและครอบคลุมร่วมกันต่อไป
ในตอนท้าย ผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ร่วมกันรับรองร่างเอกสารผลลัพธ์ จำนวน 2 ฉบับ ได้แก่ ปฏิญญาผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ประจำปี ค.ศ.2022 และเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG
จากนั้น นายกรัฐมนตรีส่งมอบตำแหน่งเจ้าภาพเอเปคให้สหรัฐอเมริกา โดยมอบ ‘ชะลอม’ สัญลักษณ์การเป็นเจ้าภาพเอเปคในปีนี้ ให้แก่ตัวแทนสหรัฐฯ เจ้าภาพเอเปคในปีถัดไปด้วย
‘ชะลอม’ เป็นภูมิปัญญาไทยที่ใช้ในการขนส่งสินค้า บรรจุของใช้ยามเดินทาง และใส่ของขวัญสำหรับมอบให้แก่ญาติมิตร สะท้อนการ ‘เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล’ และรูปแบบการทำงานของเอเปคได้เป็นอย่างดี ทั้งการผสานความเข้มแข็งที่หลากหลายและความพยายามของเขตเศรษฐกิจสมาชิกเข้าด้วยกัน เพื่อสร้างภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกที่เข้มแข็ง ยืดหยุ่น ครอบคลุม และยั่งยืน สำหรับชนรุ่นหลัง
นายกฯ หารือกรรมการจัดการ IMF ส่งเสริมความร่วมมือ เตรียมเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และปรับตัวท่ามกลางสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
ก่อนหน้านี้ นางคริสตาลินา กอร์เกียวา กรรมการจัดการ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เข้าเยี่ยมคารวะ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีสาระสำคัญ ดังนี้
นายกรัฐมนตรีกล่าวต้อนรับ กรรมการจัดการ IMF สู่ประเทศไทย และกล่าวชื่นชม IMF ที่มีบทบาทสำคัญในการช่วยรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินโลกท่ามกลางภาวะที่มีความไม่แน่นอนสูง โดยเป็นเวทีหารือและการให้คำแนะนำด้านนโยบายที่เหมาะสม และการเข้าให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ประเทศ ที่ประสบปัญหาอย่างรวดเร็ว
ด้านกรรมการจัดการ IMF รู้สึกยินดีที่ได้เข้าเยี่ยมคารวะนายกรัฐมนตรี ในวันนี้ และเป็นเกียรติที่ได้ร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ที่ประเทศไทย ซึ่งในช่วงเวลานี้ โลกประสบกับสถานการณ์ความท้าทาย ทั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19 และสถานการณ์ในยูเครน พร้อมกล่าวชื่นชมการบริหารจัดการสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ของไทย
นายกรัฐมนตรีและกรรมการจัดการ IMF ต่างเห็นพ้องว่า ผลกระทบของสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ทำให้หลายประเทศได้รับผลกระทบ ไทยให้ความสำคัญกับประเด็นสิ่งแวดล้อม การปลูกป่า การเพิ่มการกักเก็บคาร์บอน และประเด็นการลดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งประเด็นเหล่านี้อยู่ในนโยบายสำคัญของรัฐบาล ซึ่ง IMF พร้อมให้การสนับสนุนไทยในส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งการพัฒนาและสร้างกลไกตลาดที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้น
รัฐบาลไทยพร้อมรับฟังคำแนะนำ เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงด้านประชากรศาสตร์ ซึ่งไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัว โดยกรรมการจัดการ IMF มองว่า การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุนั้น สิ่งที่สำคัญ คือ การส่งเสริมและสร้างการเรียนรู้ตลอดชีวิต (life-long learning) รวมทั้งฝึกฝนทักษะให้แก่สังคมคนรุ่นใหม่ด้วย
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: