X

เตือน ดื่ม ‘สุราคลายหนาว’ เสี่ยงอันตรายถึงตาย!

กรุงเทพฯ – กรมการแพทย์ เตือน เลี่ยงดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อคลายหนาว เสี่ยงอันตรายถึงเสียชีวิต แนะ เตรียมร่างกายและดูแลสุขภาพ ด้วยการสวมเสื้อผ้าหนา ๆ รับประทานอาหารครบทั้ง 5 หมู่ ดื่มน้ำอุ่นและเครื่องดื่มอุ่น ๆ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ

วันที่ 15 ธันวาคม 2565 นายแพทย์มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ ระบุว่า ในช่วงฤดูหนาวของทุกปี พื้นที่ในเขตภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อากาศจะหนาวเย็น ประชาชนบางกลุ่มนิยมดื่มสุรา เพราะเชื่อว่าสามารถทำให้ร่างกายอบอุ่นได้ ซึ่งเป็นความเชื่อที่ผิด และอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ เมื่อดื่มสุราเข้าสู่ร่างกายในระยะแรก หลอดเลือดฝอยใต้ผิวหนังจะขยายตัว ทำให้รู้สึกอบอุ่นขึ้นเพียงชั่วครู่ ร่างกายจะเริ่มระบายความร้อนมากขึ้นโดยไม่รู้ตัว ทำให้อุณหภูมิร่างกายลดลง นำไปสู่ความเสี่ยงการเกิดภาวะไฮโปเทอร์เมีย หรือภาวะที่ร่างกายมีอุณหภูมิลดต่ำเกิน ทำให้เกิดความเสียหายต่ออวัยวะในร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หัวใจและสมอง ทำให้ไม่สามารถทำหน้าที่ได้ตามปกติ เกิดอาการเจ็บป่วยรุนแรง

ในรายที่ดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมาก จะออกฤทธิ์กดประสาทส่วนกลาง ทำให้เกิดอาการง่วง ซึม และอาจหลับไปท่ามกลางอากาศหนาวเย็น หากมีเครื่องนุ่งห่มให้ความอบอุ่นไม่เพียงพอ ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้

นอกจากนี้ การดื่มสุรายังส่งผลต่อสังคมในอีกหลายด้าน ที่ชัดเจนที่สุด คือ การดื่มแล้วขับขี่ยานพาหนะ เป็นสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน ทำให้สูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน

ด้านนายแพทย์สรายุทธ์ บุญชัยพานิชวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) ชี้ว่า การดื่มสุราเพื่อคลายความหนาวเย็น นอกจากเป็นความเชื่อที่ไม่ถูกต้องแล้ว ยังส่ง
ผลเสียต่อสุขภาพของผู้ดื่มอย่างมาก แนะนำประชาชนที่จะดื่มสุราเพื่อคลายความหนาวเย็น หันมาเตรียมร่างกายและดูแลสุขภาพตัวเองให้พร้อมในช่วงหน้าหนาว

ด้วยการสวมเสื้อผ้าหนา ๆ สวมถุงมือถุงเท้าและสวมหมวก ให้เพียงพอกับความอบอุ่นที่ร่างกายต้องการ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ครบทั้ง 5 หมู่ เน้นผักและผลไม้ เพราะมีวิตามินป้องกันโรคหวัดได้ ดื่มน้ำอุ่นและเครื่องดื่มอุ่น ๆ ช่วยบรรเทาความหนาว ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เป็นการกระตุ้นให้ร่างกายได้รับความอบอุ่นภายใน และทำให้มีสุขภาพที่แข็งแรง อาบน้ำอุ่นแทนน้ำเย็น จะช่วยรักษาอุณหภูมิของร่างกายให้เป็นปกติ

ปัจจุบัน ประเทศไทยยังคงมีการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด 19 การรวมกลุ่มเพื่อดื่มสังสรรค์ยังคงเป็นพฤติกรรมที่เสี่ยง และอาจเป็นสาเหตุทำให้ติดเชื้อได้

ผู้อำนวยการ สบยช. กล่าวด้วยว่า หากประสบปัญหาเกี่ยวกับยาและสารเสพติด สามารถขอรับคำปรึกษาเรื่องยาและสารเสพติดได้ที่ สายด่วนบำบัดยาเสพติด 1165 หรือเข้ารับการบำบัดรักษายาเสพติดได้ที่ สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) กรมการแพทย์ จังหวัดปทุมธานี และโรงพยาบาลธัญญารักษ์ในส่วนภูมิภาคทั้ง 6 แห่งใน 6 จังหวัด คือ เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ขอนแก่น อุดรธานี สงขลา และปัตตานี หรือโรงพยาบาลใกล้บ้าน สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.pmnidat.go.th

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

Picture of ลักขณา สุริยงค์

ลักขณา สุริยงค์

ทำหน้าที่สื่อมวลชนมาเกือบ 30 ปี ทั้งงานสายข่าวและจัดรายการทีวี-วิทยุมานับไม่ถ้วน "ไม่เป็นกลาง แต่เป็นธรรม พร้อมนำเสนอความจริง"