ลำปาง – กฟผ. ผนึกกำลัง 4 สถาบันการศึกษา จัด ‘ค่ายวิชาการเหมืองแร่’ นำนิสิต นักศึกษา เรียนรู้เชิงปฏิบัติการ พร้อมแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับการทำเหมืองแม่เมาะ เพื่อสร้างเครือข่ายต่อยอดเชื่อมโยงองค์ความรู้ด้านวิชาการเหมืองแร่
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จัดค่ายวิชาการเหมืองแร่ ครั้งที่ 16 (Mining Camp) ระหว่างวันที่ 9-13 มกราคม 2566 โดยความร่วมมือกับ 4 สถาบันการศึกษา ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้และฝึกอบรมด้านวิชาการเหมืองแร่ ตลอดจนเป็นแหล่งถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านเหมืองแร่ให้แก่นิสิต นักศึกษา และผู้ที่เกี่ยวข้องเป็นประจำทุกปี ณ กฟผ. เหมืองแม่เมาะ จ.ลำปาง
นายประจวบ ดอนคำมูล ผู้ช่วยผู้ว่าการเหมืองแม่เมาะ ระบุว่า ค่ายวิชาการเหมืองแร่ จัดขึ้นต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี และในปี 2566 นี้ นับเป็นครั้งที่ 16 มุ่งหวังให้นักศึกษาได้เรียนรู้และเสริมทักษะประสบการณ์จากการสัมผัสกระบวนการทำเหมือง พร้อมทั้งแบ่งปันแลกเปลี่ยนความรู้ด้านวิชาการทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ตลอดจนเชื่อมความสัมพันธ์อันดีระหว่างสถาบันการศึกษา โดยตลอดระยะเวลาจัดกิจกรรมค่ายวิชาการเหมืองแร่ นักศึกษาจะได้เรียนรู้เชิงปฏิบัติการ (Workshop) เกี่ยวกับงานปฏิบัติการขุดขน ระบบลำเลียงถ่านหินและการจัดการถ่านหินในลานกองถ่าน งานระเบิดและเหมืองหินปูน การวางแผนการทำเหมือง งานธรณีวิทยา และงานวิศวธรรมธรณี จากคณะอาจารย์จากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ และผู้เชี่ยวชาญด้านการทำเหมืองของ กฟผ. ทำให้เกิดการเรียนรู้และการถ่ายทอดประสบการณ์จากการทำงาน ซึ่งจะเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายด้านวิชาการเหมืองแร่ต่อไปในอนาคต
ขณะที่นายนิพิฐพนธ์ ไชยรัตน์ ตัวแทนนักศึกษาภาควิชาวิศวกรรมเหมืองแร่ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เปิดเผยว่า การเข้าร่วมค่ายวิชาการเหมืองแร่ ทำให้ได้เห็นเครื่องจักรที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ได้เรียนรู้เทคนิค วิธีการทำงานต่าง ๆ ของพี่ ๆ กฟผ. ทำให้ได้รับประสบการณ์ใหม่ ๆ ในหลากหลายมิติ รวมถึงได้รู้จักเพื่อนใหม่จากต่างสถาบันการศึกษา ได้ทั้งความรู้และความสนุก
ด้านนายณัฐพงษ์ วรรณภิละ ตัวแทนนักศึกษาภาควิชาเหมืองแร่และปิโตรเลียม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ บอกว่า ดีใจที่ได้มารู้จักกับเพื่อนต่างมหาวิทยาลัย ได้ร่วมทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้แลกเปลี่ยนทั้งความรู้ ประสบการณ์การเรียน และประสบการณ์ฝึกงานสายงานเหมืองแร่ของแต่ละมหาวิทยาลัย ทำให้ทราบว่าในงานเหมืองแร่มีสิ่งน่าสนใจมาก และที่สำคัญก็คือการได้ทำงานร่วมกับเพื่อนต่างสถาบัน
ส่วนนางสาวยุพเรศ สิงห์บี้ ตัวแทนนักศึกษาสาขาวิชาวิศวกรรมเหมืองแร่ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชมงคลเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา กล่าวว่า ได้เรียนรู้การทำงานในบ่อเหมือง เห็นการทำงานของเครื่องจักรที่ไม่เคยได้เห็น ได้เรียนรู้เกี่ยวกับการทำงานอย่างเป็นระบบแบบแผน ทำตามข้อบังคับด้านความปลอดภัยได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง และได้เพิ่มประสบการณ์ให้กับตนเองจากการได้เห็นหน้างาน ได้รู้จักเพื่อนต่างสถาบัน ได้แลกเปลี่ยนการใช้ชีวิต การเรียนของเพื่อนต่างสถาบัน พี่ ๆ ทุกคนดูแลดี ให้ความกระจ่างในเรื่องที่สงสัย
นางสาวรัศมีมาตา ปิยนันท์โรจนกุล ตัวแทนนักศึกษาภาควิชาวิศวกรรมเหมืองแร่และปิโตรเลียม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกเช่นกันว่า รู้สึกดีใจที่ได้มีโอกาสเข้าร่วมค่ายวิชาการเหมืองแร่ ได้ทั้งความรู้ ความสนุก ได้รู้จักพี่ ๆ ที่ทำงานในสายงานเดียวกัน ได้เพื่อนใหม่จากต่างสถาบัน และได้พูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทั้งความรู้และเรื่องราวต่าง ๆ ที่ไม่ใช่แค่ในตำรา ได้ศึกษาและเรียนรู้วิธีการหลายอย่างที่ในรั้วมหาวิทยาลัยสอนไม่ได้ เช่น ได้เห็นหน้างานและการทำงานจริง ขอขอบคุณ กฟผ. ที่จัดกิจกรรม และมอบโอกาสให้พวกเราได้มาร่วมกิจกรรมดี ๆ แบบนี้ ขอบคุณพี่ ๆ และทุกคนที่เกี่ยวข้องที่ให้การต้อนรับและดูแลพวกเราเป็นอย่างดี และต้องขอบคุณเพื่อน ๆ ที่น่ารักที่มาสนุกด้วยกัน ดีใจที่ได้เจอทุกคน
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: