X

รฟท.พร้อม! ให้บริการรถไฟทางไกล 52 ขบวน สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ 19 ม.ค.66

กรุงเทพฯ – การรถไฟแห่งประเทศไทย โต้ข่าวทำเข้าใจผิด ยืนยันความพร้อมเปิดให้บริการรถไฟทางไกล 52 ขบวน ณ สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ต่อรถง่าย มีสิ่งอำนวยการความสะดวกครบครัน ส่วนอีก 62 ขบวน ยังอยู่หัวลำโพง ขออย่านำไปเป็นเครื่องมือทางการเมือง

การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ชี้แจงเรื่องการย้ายการให้บริการขบวนรถไฟทางไกล มาที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ (สถานีกลางบางซื่อเดิม) ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 19 มกราคม 2566 เป็นต้นไป โดยยืนยันว่า การปรับเปลี่ยนต้นทาง-ปลายทาง จากสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) มาให้บริการ ณ สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ผ่านการพิจารณาไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วนและรอบคอบ ยึดถือประโยชน์ของประชาชนผู้ใช้บริการ ควบคู่กับการพัฒนาระบบการขนส่งทางรางของประเทศในระยะยาวเป็นสำคัญ ขออย่านำ รฟท. ไปเป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อหวังประโยชน์ในทางอื่น

สำหรับการปรับขบวนรถ มีเฉพาะขบวนรถไฟทางไกล สายเหนือ ใต้ และตะวันออกเฉียงเหนือ กลุ่มขบวนรถด่วนพิเศษ รถด่วน รถเร็ว จำนวน 52 ขบวนเท่านั้น ประกอบด้วย
สายเหนือ 14 ขบวน
สายตะวันออกเฉียงเหนือ 18 ขบวน
สายใต้ 20 ขบวน

ส่วนขบวนรถรถไฟกลุ่มขบวนรถธรรมดา ขบวนรถชานเมือง และขบวนรถนำเที่ยว 62 ขบวน ยังคงให้บริการที่สถานีต้นทางและสถานีปลายทางที่สถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) ประกอบด้วย
สายตะวันออก 22 ขบวน
สายเหนือ 16 ขบวน
สายตะวันออกเฉียงเหนือ 6 ขบวน
สายใต้ 4 ขบวน
และขบวนรถนำเที่ยว 14 ขบวน

ทั้งนี้ สถานีหัวลำโพงยังคงเปิดให้บริการเป็นปกติ ไม่ได้ปิดตามที่มีผู้กล่าวอ้าง ในแต่ละวันยังมีขบวนรถไฟให้บริการแก่ผู้โดยสารที่สถานีหัวลำโพงมากถึง 62 ขบวน มากกว่าที่ให้บริการที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ซึ่งมี 52 ขบวน

ที่สำคัญ รฟท.ไม่ได้มีแผนนำพื้นที่สถานีหัวลำโพง ไปเปิดให้ภาคเอกชนเข้ามาพัฒนาเป็นอย่างอื่นตามที่มีการกล่าวอ้างด้วย โดย รฟท.ต้องการให้สถานีหัวลำโพงเป็นสถานีรถไฟที่สำคัญของประเทศ ทำหน้าที่ให้บริการประชาชน และเป็นแลนด์มาร์คสำคัญที่จะบอกเล่าเรื่องราวการขนส่งทางรางของไทย จากอดีตสู่ปัจจุบันต่อเนื่องไปยังอนาคตต่อไป

เหตุผลการปรับเปลี่ยนสถานีต้นทาง-ปลายทาง ของขบวนรถไฟทางไกล มาให้บริการ ณ สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์นั้น เป็นการดำเนินการเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ ของการก่อสร้างสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ที่จะให้เป็นศูนย์กลางการขนส่งระบบรางของประเทศ โดยเป็นแผนที่มีการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องหลายสิบปีแล้ว ตามที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติโครงการเมื่อปี 2553 และเริ่มก่อสร้างเมื่อปี 2556 ที่สำคัญอยู่ในช่วงที่ นายประภัสร์ จงสงวน ผู้วิพากย์วิจารณ์ เคยดำรงตำแหน่ง ผู้ว่า รฟท. ด้วย ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นจากการตัดสินใจของ รฟท.ในยุคนี้

โดยสมัยที่นายประภัสร์ จงสงวน เป็นผู้ว่า รฟท. เมื่อปี 2555 ก็ได้สนับสนุนการก่อสร้างสถานีกลางบางซื่อ (สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์) และยังเป็นผู้ที่มีส่วนร่วมในการแก้แบบสถานีกลางบางซื่อ แต่เพราะเหตุใดในตอนนี้ นายประภัสร์จึงกลับมาคัดค้าน ไม่ให้เปิดให้บริการรถไฟทางไกล ที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ซึ่งเป็นแผนที่วางไว้เดิมตั้งแต่เริ่มการก่อสร้าง

รฟท.ขอยืนยันว่า ก่อนที่จะกำหนดให้ย้ายมาให้บริการ ที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ในวันที่ 19 มกราคม 2566 รฟท.ได้ประชุมหารือเตรียมความพร้อมในทุก ๆ ด้าน ตลอดจนบูรณาการกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องของกระทรวงคมนาคม เพื่อกำหนดมาตรการอำนวยความสะดวก โดยเฉพาะในช่วงเปลี่ยนถ่ายการเดินทาง เพื่อให้ประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด ไม่เป็นภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมแก่ผู้โดยสารอย่างที่ถูกกล่าวอ้าง โดยมีมาตรการอำนวยความสะดวกดูแลผู้โดยสาร ดังนี้

♦ ผู้ใช้บริการรถโดยสายทางไกล กลุ่มขบวนรถด่วนพิเศษ รถด่วน และรถเร็ว ที่ซื้อตั๋วโดยสาร ลงสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ แต่ประสงค์จะลงสถานีหลักสี่ สถานีบางเขน สามารถใช้ตั๋วโดยสารเดิมขึ้นรถไฟฟ้าสายสีแดงที่สถานีดอนเมืองได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเป็นเวลา 1 ปี

♦ ผู้ใช้บริการรถโดยสารเชิงสังคม สามารถใช้ตั๋วโดยสารรถไฟทางไกล ใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีแดงได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเป็นเวลา 1 ปีเช่นกัน โดยต้องเป็นผู้โดยสารที่ซื้อตั๋วประเภทตั๋วเดือน ในสถานีหลักสี่ สถานีบางเขน ที่หยุดรถกม.19 ที่หยุดทุ่งสองห้อง และที่หยุดรถกม.11 ที่รถไฟไม่จอดให้บริการ

♦ รฟท. ยังประสานกับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เพื่อจัดรถโดยสารประจำทาง รับ-ส่งผู้โดยสารตามสถานีรถไฟรายทาง ตั้งแต่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์-สถานีหัวลำโพง เหมือนนั่งรถไฟปกติโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมด้วย

ดังนั้น การกล่าวอ้างว่า รฟท.ไม่มีการเตรียมการ จนทำให้ประชาชนเดือดร้อน เพิ่มภาระค่าใช้จ่ายแก่ผู้โดยสาร จึงไม่เป็นความจริง เพราะ รฟท.ได้พิจารณาไตร่ตรองอย่างดีแล้ว คำนึงถึงผลกระทบ และให้ความสำคัญเรื่องการอำนวยความสะดวกดูแลพี่น้องประชาชน รวมถึงความปลอดภัยในการเดินทาง ซึ่งการย้ายขบวนรถบางส่วนมาใช้สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ นอกจากจะช่วยบรรเทาปัญหาจราจรแล้ว ยังช่วยเพิ่มความปลอดภัย ลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุบริเวณจุดตัดเสมอระดับทางรถไฟ-รถยนต์อีกด้วย ซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์ในหลายมิติ

รฟท.ย้ำว่า การย้ายรถไฟทางไกลมาให้บริการที่ สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ จะทำให้ประชาชนได้รับการบริการที่สะดวกสบายมากขึ้น เนื่องจากเป็นจุดศูนย์กลางใหม่ของกรุงเทพ มีรถไฟฟ้าและรถโดยสารประจำทางเชื่อมต่อหลายสาย เป็นสถานีรถไฟที่ออกแบบเพื่อมวลชน (Universal Design) สะดวกสบาย ปลอดภัย ครอบคลุมทุกคนเท่าเทียมกัน เช่น ชานชาลาสูง (110 ซม.) สะดวกต่อการขึ้น-ลงขบวนรถ เนื่องจากพื้นชานชาลาอยู่ระดับเดียวกับพื้นรถ มีสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ มากมาย อาทิ กล้องวงจรปิด บันไดเลื่อน เครื่องจำหน่ายตั๋วอัตโนมัติ ศูนย์อาหาร หุ่นยนต์ต้อนรับอัจฉริยะ SRT BOT ที่จอดรถสำหรับคนพิการ ลิฟท์ วีลแชร์นำทางอัจฉริยะ ห้องสุขาที่ทันสมัย และเพียงพอ รวมถึงมีระบบปรับอากาศของชั้นจำหน่ายตั๋วโดยสาร และจุดพักรอ

อีกทั้งตัวสถานี อยู่ในพื้นที่ตัวเมืองกรุงเทพฯ ชั้นใน ที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน และในอนาคตยังมีแผนพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีกลางฯ ให้เป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ และเศรษฐกิจที่สำคัญของภูมิภาคอีกด้วย

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

Picture of ลักขณา สุริยงค์

ลักขณา สุริยงค์

ทำหน้าที่สื่อมวลชนมาเกือบ 30 ปี ทั้งงานสายข่าวและจัดรายการทีวี-วิทยุมานับไม่ถ้วน "ไม่เป็นกลาง แต่เป็นธรรม พร้อมนำเสนอความจริง"