กรุงเทพฯ – รัฐบาลโชว์ผลงานแก้ปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ ปี 65 ดำเนินคดีแก๊ง Call Center ในต่างประเทศ 8 ครั้ง อายัดบัญชีม้า 5.8 หมื่นบัญชี เผย มีผู้ถือซิม 100 ซิมขึ้นไป ถึง 8,000 ราย ปิดเบอร์ซิมลวงแสนกว่าเบอร์ เว็บพนัน 1,830 เว็บ
วันที่ 19 มกราคม 2566 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า รัฐบาลได้เร่งดำเนินการแก้ไขแก้ปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ ผ่านการบูรณาการหลายหน่วยงาน มีกลไกความร่วมมือระหว่าง กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นต้น จนสามารถดำเนินคดีผู้กระทำผิดจำนวนมาก อาทิ
ปี 2565 ดำเนินคดีแก๊ง Call Center ในต่างประเทศ 8 ครั้ง จับกุมผู้ต้องหา 166 คน ปิดกั้นการโทรหลอกลวง/ข้อความ SMS หลอกลวง 118,530 หมายเลข อายัดบัญชีม้าจำนวน 58,463 บัญชี ปิดกลุ่มโซเชียลมีเดียซื้อขายบัญชีม้า 8 กลุ่ม และปิดกั้นเว็บพนัน 1,830 เว็บ เป็นต้น
สำหรับการแก้ปัญหาบัญชีม้าและบัญชีต้องสงสัยจะนำไปใช้กระทำผิดกฎหมายสำนักงาน ปปง. ได้จัดทำประกาศ หลักเกณฑ์ในการพิจารณากำหนดหรือทบทวนรายชื่อบุคคลที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งควรได้รับการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดตามกฎกระทรวงการตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้า พ.ศ.2563 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ซึ่งจะทำให้การดำเนินการในเรื่องนี้ประสิทธิภาพมากขึ้น
ข่าวน่าสนใจ:
ในส่วนสำนักงาน กสทช. มีมาตรการแก้ปัญหาซิมผิดกฎหมาย โดยให้ผู้มี 100 ซิมขึ้นไป ซึ่งมีอยู่ประมาณ 8,000 ราย ยืนยันตัวตนให้ถูกต้องภายในเดือน ม.ค.66 เพื่อตัดวงไม่ให้มิจฉาชีพใช้ซิมเติมเงินโทรไปหลอกลวงประชาชน (Call Center) และทำธุรกรรมการเงินออนไลน์
นางสาวรัชดา กล่าวต่อว่า เพื่อให้การแจ้งความคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสะดวกต่อผู้เสียหาย ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้พัฒนาระบบการรับแจ้งความออนไลน์www.ThaiPoliceOnline.com ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนได้เข้าถึงกระบวนการสืบสวนสอบสวนอย่างทั่วถึง ทั้งนี้ นับตั้งแต่วันที่ระบบเริ่มใช้งาน 1 มี.ค.65 ถึง 31 ธ.ค.65 รวม10 เดือน มีผู้เข้ามาแจ้งความจำนวน 163,091 คดี คิดเป็นมูลค่าความเสียหายประมาณ 27,305 ล้านบาท โดยเฉลี่ยมีความเสียหายวันละ 91 ล้านบาท และมีแนวโน้มการเกิดคดีสูงขึ้นทุกเดือน ซึ่งแบ่งเป็นกลุ่ม ดังนี้
1.คดีที่ผู้กระทำความผิดอยู่ในประเทศไทย ได้แก่ การซื้อขายสินค้าหรือบริการผ่านทางออนไลน์แต่ไม่รับสินค้า การปล่อยกู้ผ่านแอปฯ นอกระบบ การลงทุนแบบแชร์ลูกโซ่เป็นต้น มีสถิติการรับแจ้งประมาณร้อยละ 40.5 ของคดีทั้งหมด ความเสียหายรวมประมาณ 1,230 ล้านบาท
2.คดีที่ผู้กระทำความผิดอยู่ต่างประเทศ และมีคนไทยร่วมขบวนการ โดยเดินทางไปทำงานผ่านช่องทางธรรมชาติ เพื่อไปทำหน้าที่เป็นแก๊งค์คอลเซ็นเตอร์หลอกลวงคนไทยผ่านทางออนไลน์ด้วยวิธีการต่าง ๆ ซึ่งเป็นกลุ่มคดีที่มีมูลค่าความเสียหายมากที่สุดประมาณร้อยละ 51 มูลค่าความเสียหายรวมประมาณ 15,800 ล้านบาท
3.คดีอื่น ๆ ที่เหลือประมาณร้อยละ 8.5 ได้แก่ แฮ็กระบบคอมพิวเตอร์ การเรียกค่าไถ่ทางคอมพิวเตอร์ การคุกคามทางเพศ หลอกให้ไปทำงานต่างประเทศ เป็นต้น
“รัฐบาลให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาอาชญากรรมทางเทคโนโลยีอย่างที่สุด และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้บูรณาการการทำงานเพื่อป้องกัน ยับยั้ง และปราบปราม ปัญหาดังกล่าว อีกทั้งยังได้ออกมาตรการเชิงรุกเพื่อแก้ปัญหาบัญชีม้าซึ่งเป็นตัวการสำคัญของอาชญากรรม รวมถึงสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องการแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อยับยั้งและจับกุมผู้กระทำผิด อีกทั้ง ยังได้มีการประชุมระหว่างหน่วยงานเพื่อพิจารณาการแก้กฎหมายเพื่อแก้ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการใช้โปรไฟล์ของบุคคลอื่น การรับจ้างเปิดซิมผีและบัญชีม้า การซื้อขายแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลแบบ P2P เป็นต้นทั้งนี้ ประชาชนสามารถโทรแจ้งเบาะแสการกระทำผิดได้ที่หมายเลข 1212 หรือประสงค์แจ้งความออนไลน์ได้ที่ http://www.ThaiPoliceOnline.com ตลอด 24 ชั่วโมง” นางสาวรัชดากล่าว
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: