กรุงเทพฯ – ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี อนุมัติเปลี่ยนแปลงรายละเอียด 4 โครงการใช้จ่ายเงินกู้ฯ ตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินฯ เพื่อรับมือและป้องกันโควิด 19
วันที่ 31 มกราคม 2566 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี อนุมัติเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการที่ได้รับอนุมัติให้ใช้จ่ายจากเงินกู้ ตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ.2564 (วงเงิน 500,000 ล้านบาท) จำนวน 4 โครงการ ดังนี้
1.โครงการจัดหายารักษาผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์สำหรับเตรียมความพร้อมในการรับมือและป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของหน่วยบริการสุขภาพ โดยสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข ระยะเวลาดำเนินโครงการฯ ถึงธันวาคม 2565 กรอบวงเงิน 3,995.27 ล้านบาท ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขดำเนินการซื้อยาภายใต้โครงการดังกล่าวครบถ้วนแล้วและยัง มีกรอบเงินกู้เหลือจ่ายประมาณ 766.79 ล้านบาท จึงให้ปรับแผนเพื่อจัดซื้อยาไวรัสเพิ่มเติมจากวงเงินกู้เหลือจ่าย ได้แก่ ยา Favipiravir/Molnupiravir จำนวน 30 ล้านเม็ด ยา Remdesivir จำนวน 300,000 vial มุ่งเน้นการซื้อยา Molnupiravir เป็นหลัก และให้ขยายระยะเวลาโครงการ เป็นสิ้นสุด มีนาคม 2566
2.โครงการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID 19) สำหรับบริการประชากรไทย จานวน 60 ล้านโดส (AstraZeneca) ปี 2565 ของกรมควบคุมโรค กรอบวงเงิน 18,639.11 ล้านบาท สิ้นสุดเดือนธันวาคม 2565 ทั้งนี้ ให้ขยายระยะเวลาเป็นสิ้นสุดเดือนกันยายน 2566 และให้กรมควบคุมโรคพิจารณาจัดหาวัคซีนในส่วนที่เหลือ กรณีวัคซีนรุ่นใหม่ที่สามารถรองรับการกลายพันธุ์ของเชื้อ รวมทั้งเร่งประชาสัมพันธ์ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับข้อมูลในการฉีด เข็มกระตุ้นเพื่อสร้างการรับรู้/ความเข้าใจที่ถูกต้องต่อไป
3.โครงการพัฒนาศักยภาพหน่วยบริการสังกัด สป.สธ. เพื่อขยายการรองรับ การดูแลผู้ป่วย COVID 19 ที่มีอาการจนถึงระยะวิกฤติ ระยะเวลาดำเนินการถึงธันวาคม 2565 ให้ขยายระยะเวลาโครงการฯ เป็นสิ้นสุด มิถุนายน 2566
4.โครงการวิจัยและพัฒนาวัคซีนโควิด 19 (ChulaCov19 mRNA) ที่ผลิตเองในไทย เพื่อทดสอบทางคลินิกระยะที่ 1-3 และการผลิต เพื่อดำเนินการขึ้นทะเบียนวัคซีนเพื่อใช้ในภาวะฉุกเฉิน ของจุฬาลงกรณ์ อว. ให้ปรับแก้ไขชื่อโครงการเป็น โครงการวิจัยและพัฒนาวัคซีนโควิด 19 ChulaCov19 mRNA ที่ผลิตเองในไทย เพื่อทำการทดสอบ ทางคลินิก และการพัฒนาวัคซีนโควิด 19 รุ่นสอง สำหรับสายพันธุ์ใหม่ให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริง
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: