กรุงเทพฯ – กฟผ. แนะติดตามค่าฝุ่นผ่านแอปพลิเคชัน Sensor for All เชื่อมโยงข้อมูลจากเซ็นเซอร์ตรวจวัดคุณภาพอากาศกว่า 1,200 จุดทั่วประเทศ พร้อมเดินหน้าเชิงรุก นำนวัตกรรมแจ้งเตือนฝุ่นและไฟป่า รับมือปัญหาไฟป่าและหมอกควัน ในพื้นที่รอบเขตเขื่อนและโรงไฟฟ้า กฟผ.
วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2566 นายชัยวุฒิ หลักเมือง ผู้ช่วยผู้ว่าการบริหารจัดการความยั่งยืน ในฐานะรองโฆษกการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ระบุว่า จากสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ ฝุ่น PM2.5 เกินค่ามาตรฐานอย่างต่อเนื่องในช่วงนี้ กฟผ. เป็นห่วงสุขภาพประชาชน จึงขอเชิญชวนให้ติดตามรายงานผลคุณภาพอากาศแบบเรียลไทม์ตลอด 24 ชั่วโมง ผ่านแอปพลิเคชัน Sensor for All ซึ่งเชื่อมโยงข้อมูลจากเซนเซอร์ตรวจวัดคุณภาพอากาศและปริมาณฝุ่นละออง ที่ติดตั้งบริเวณโรงไฟฟ้า โรงงานขนาดใหญ่ สี่แยกไฟแดงที่มีการจราจรหนาแน่น สถานที่ท่องเที่ยวประจำจังหวัดรวม 1,262 จุด ทั่วประเทศ เพื่อเฝ้าระวังและวางแผนการใช้ชีวิตประจำวัน ให้เหมาะสมกับสภาพอากาศ หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง
กฟผ. ยังพัฒนาแอปพลิเคชัน Lampang Hotspot เพิ่มเติม ด้วยการใช้ระบบเซนเซอร์และดาวเทียมเพื่อตรวจจับจุดความร้อนที่เกิดจากการเผาป่าในพื้นที่จังหวัดลำปางให้มีความแม่นยำมากขึ้น แล้วรายงานความเสี่ยงที่อาจเกิดการเผาไหม้ผ่านเว็บไซต์เพื่อเป็นฐานข้อมูลอำนวยความสะดวกให้เจ้าหน้าที่ดับไฟป่าสามารถตรวจสอบและเข้าระงับไฟป่าได้อย่างรวดเร็ว
โดย กฟผ. รวมถึงจิตอาสาในพื้นที่ เตรียมรับมือปัญหาไฟป่าและหมอกควัน ในพื้นที่รอบเขตเขื่อนและโรงไฟฟ้า จัดตั้งทีมเฝ้าระวังไฟป่าเพื่อทำแนวป้องกันไฟป่าและทีมดับไฟป่า เพื่อร่วมปฏิบัติภารกิจดับไฟป่า รอบพื้นที่เขตเขื่อนและโรงไฟฟ้า อาทิ กฟผ.แม่เมาะ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนศรีนครินทร์ โรงไฟฟ้าพลังน้ำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมถึงรณรงค์งดเผาป่าเก็บเห็ดผ่านโครงการเห็ดป่าคืนถิ่น เพื่อคืนความสมบูรณ์สู่ป่าชุมชนที่อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง
ข่าวน่าสนใจ:
ซึ่งนอกจากช่วยลดมลพิษทางอากาศจากการเผาแล้ว ยังช่วยรักษาแหล่งอาหารและสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนในระยะยาวอีกด้วย ตลอดจนส่งเสริมให้ชุมชน ลดการเผาเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ทั้งการรับซื้อเปลือก ซังข้าวโพด และเศษไผ่จากชุมชน นำไปผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลอัดแท่ง (Biomass Pellet) เพื่อนำไปเผาร่วมกับถ่านหินลิกไนต์ที่โรงไฟฟ้าแม่เมาะ
รองโฆษก กฟผ. กล่าวด้วยว่า กฟผ. ยังผลักดันการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ภายในประเทศ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและฝุ่นอย่างเป็นรูปธรรม โดยติดตั้งและให้บริการสถานีอัดประจุไฟฟ้า EleX by EGAT และสถานีพันธมิตรในเครือข่าย EleXA แล้ว 98 สถานีทั่วประเทศ และตั้งเป้าขยายสถานีชาร์จ EleX by EGAT สู่ 150 สถานี ภายในสิ้นปี 2566 นำร่องรถจักรยานยนต์ไฟฟ้ารับจ้างกว่าครึ่งร้อยในพื้นที่อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี รวมถึงส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าภายในองค์กรด้วยจักรยานยนต์ไฟฟ้าและรถบัสไฟฟ้าบริการพนักงาน และดำเนินนโยบายทำงานนอกสถานที่ (Work From Anywhere) เพื่อลดการเดินทางอีกทางหนึ่งด้วย
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: