กรุงเทพฯ – กระทรวงสาธารณสุข สั่งเตรียมพร้อมเฝ้าระวังดูแลสุขภาพ จากผลกระทบปริมาณค่าฝุ่นละออง PM2.5 ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น พร้อมเร่งสื่อสารประชาชน ให้ดูแลตัวเอง และปรับกิจกรรมการดำเนินชีวิต เพื่อลดความเสี่ยงที่จะทำให้เจ็บป่วย
วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2566 นายแพทย์ณรงค์ อภิกุลวณิช รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประชุมทางไกลผ่านระบบวิดีโอ กับ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดและผู้อำนวยการโรงพยาบาลทั่วประเทศ เพื่อเตรียมความพร้อมด้านการแพทย์และสาธารณสุข เนื่องจากสถานการณ์และแนวโน้มค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 มีแนวโน้มสูงขึ้น โดยตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.2565-3 ก.พ.2566 พบหลายจังหวัด มีค่าฝุ่น PM2.5 เกินมาตรฐานหลายวัน เช่น กรุงเทพมหานคร พบถึง 35 วัน เชียงใหม่ 20 วัน สมุทรสงคราม 17 วัน นครพนม 16 วัน และราชบุรี 14 วัน
ที่ประชุมมอบข้อสั่งการ 7 ข้อ ให้พื้นที่นำไปปฏิบัติได้อย่างถูกต้องและเป็นมาตรฐานเดียวกัน ดังนี้
1.เฝ้าระวังและแจ้งเตือนสถานการณ์ รวมถึงสื่อสารข้อมูลผลกระทบ การปฏิบัติตน การดูแลสุขภาพในรูปแบบต่าง ๆ ตามความเหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ เพื่อยกระดับความรอบรู้ด้านสุขภาพ พร้อมทั้งเร่งสื่อสารเชิงรุก สร้างความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชน ทั้งการดูแลและป้องกันสุขภาพ ผ่านทุกช่องทาง ทั้งสื่อบุคคลเสียงตามสาย ช่องทางออนไลน์โซเชียลมีเดีย และช่องทางต่าง ๆ โดยให้ กรมอนามัย กรมควบคุมโรค กรมการแพทย์ และกองสาธารณสุขฉุกเฉิน เป็นหน่วยงานหลักร่วมบูรณาการจัดทำชุดข้อมูลความรู้สำหรับประชาชน
ข่าวน่าสนใจ:
- "นายกเล็กโก-ลก" สั่ง!เปิดประตูระบายน้ำ เร่งดันออกจากชุมชน
- “Kanchanaburi Countdown Festival 2025 & Happy Fun Forever” สร้างความประทับใจที่ไม่มีที่สิ้นสุด ต้อนรับปีใหม่ 2568 ด้วยความสุข
- หมอสงค์ กระโดดลงสนามเลือกตั้งนายก อบจ.นครพนม ย้ำชัดไม่ได้สู้กับพรรคใด
- ปั่นขึ้นดอยกอย 4 เมืองล้านนาตะวันออก 4 จังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 จับมือจัดงานปั่นเชื่อมโยง 4 จังหวัดเมืองล้านนาตะวันออก
2.เตรียมความพร้อมดูแลและป้องกันความเสี่ยงต่อสุขภาพ สำรวจและจัดทำทะเบียนกลุ่มเสี่ยง ติดตาม ดูแลกลุ่มเสี่ยงเป็นพิเศษ โดยทีมหมอ 3 หมอ และลงพื้นที่ให้ความรู้คำแนะนำในการป้องกันตัว และดูแลสุขภาพประชาชน โดยเฉพาะ 4 กลุ่มเสี่ยงสำคัญ ได้แก่ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ผู้มีโรคประจำตัว เช่น โรคหอบหืด โรคระบบทางเดินหายใจ และผู้ป่วยติดเตียง พร้อมเปิดคลินิกมลพิษที่สถานพยาบาล คลินิกมลพิษออนไลน์และคลินิกมลพิษเคลื่อนที่ สนับสนุนอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล จัดเตรียมห้องปลอดฝุ่นในสถานบริการสาธารณสุข โรงเรียน ศูนย์เด็กเล็ก สถานที่ดูแลผู้สูงอายุ สำรวจกลุ่มเสี่ยงที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะผู้ป่วยด้วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) โรคหืดและโรคหัวใจขาดเลือด และให้การดูแลสุขภาพเป็นพิเศษ
3.เฝ้าระวังการเจ็บป่วยใน 4 กลุ่มโรค ได้แก่ โรคระบบทางเดินหายใจ ระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบผิวหนัง และระบบตา พร้อมรายงานผู้ป่วยที่มารับการรักษาในสถานพยาบาลอย่างต่อเนื่อง ตามเกณฑ์ที่กรมควบคุมโรคกำหนด
4.เตรียมความพร้อมเปิดศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขในทุกระดับ ทั้งจังหวัด เขตสุขภาพ กรม และกระทรวง เพื่อติดตามสถานการณ์และยกระดับการปฏิบัติการ หากสถานการณ์มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น
5.กรณีสถานการณ์วิกฤต (สีแดง) ที่มีค่าฝุ่น PM2.5 เกินมาตรฐาน 51 มคก./ลบ.ม. ติดต่อกัน 3 วัน ให้รายงานสถานการณ์ทุกสัปดาห์ ตลอดช่วงเวลาเฝ้าระวัง
6.จัดกิจกรรมองค์กรปลอดฝุ่นในสำนักงานและสถานบริการในสังกัด เพื่อเป็นต้นแบบองค์กรลดฝุ่นละออง
7.สนับสนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการใช้ พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ.2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เป็นเครื่องมือสนับสนุนการลดฝุ่นละอองขนาดเล็กจากแหล่งกำเนิดในพื้นที่ และการจัดการเหตุรำคาญจากฝุ่นละออง
นายแพทย์ณรงค์ กล่าวด้วยว่า ขอให้ทุกหน่วยงานติดตามสถานการณ์ และเร่งสื่อสารประชาชนในพื้นที่ ในการปฏิบัติตน มาตรการและกิจกรรมต่าง ๆ ในการดำเนินชีวิตประจำวัน อาทิ สวมหน้ากากอนามัยเมื่อออกจากบ้าน เลี่ยงการออกกำลังกายกลางแจ้ง เพื่อลดปัจจัยเลี่ยงที่จะทำให้เกิดการเจ็บป่วยจากฝุ่น PM2.5 ได้ พร้อมให้คำแนะนำการลดปริมาณฝุ่นละอองในอากาศ เช่น การจุดธูป การเผาขยะ รวมถึงหมั่นดูแลทำความสะอาดบ้านให้ปลอดฝุ่นอยู่เสมอ
สามารถติดตามสถานการณ์ค่าปริมาณฝุ่นละออง PM2.5 แนวทางปฏิบัติตน ค้นหาห้องปลอดฝุ่นและคลินิกมลพิษ รวมทั้งปรึกษาแพทย์ออนไลน์ ผ่านทาง
♦ Line Official 4Health
♦ เว็ปไซต์ กองประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ กรมอนามัย https://4health.anamai.moph.go.th/
♦ เว็บไซต์คลินิกมลพิษออนไลน์ https://www.pollutionclinic.com/home/front/
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: