X

อพท. ดัน ‘น่าน’ ชิง ‘เมืองสร้างสรรค์’ ยูเนสโก ด้านหัตถกรรมฯ

น่าน – อพท.จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ ด้านหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้านกลุ่มชาติพันธุ์ ผลักดัน ‘เมืองน่าน’ ชิงเมืองสร้างสรรค์โลก จากยูเนสโก

นางศุภรดา กานดิศยากุล ปฏิบัติหน้าที่ ผู้จัดการสำนักงานพื้นที่พิเศษ 6 องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) ร่วมกับ จังหวัดน่าน มหาวิทยาลัยนเรศวร และภาคีเครือข่าย จัดประชุมเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ ด้านหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้านกลุ่มชาติพันธุ์ (UNESCO Creative Cities Network) UCCN Symposium for Tribal Crafts and Folk Arts ครั้งที่ 1 เพื่อเป็นการสร้างการรับรู้ถึงความพร้อมของเมืองน่าน ที่เตรียมยื่นสมัครเข้าเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ ด้านหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน ขององค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก ในปี พ.ศ.2566 นี้

โดยเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ทั่วโลก ที่ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ อาทิ เมืองจินจู ประเทศเกาหลีใต้ กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม เกาะอัมบน ประเทศอินโดนีเซีย เมืองพาดูคาห์ ประเทศสหรัฐอเมริกา เมืองเหวย์ฟาง (Weifang) ประเทศจีน เมืองยอร์ค สหราชอาณาจักร พร้อมด้วย ผู้แทนเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ทั้ง 5 เมือง ในประเทศไทย ได้แก่ จังหวัดภูเก็ต เชียงใหม่ สุโขทัย กรุงเทพฯ และเพชรบุรี รวมถึงผู้บริหาร สำนักงานพื้นที่พิเศษของ อพท. ที่เป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้งสรรค์แล้ว เช่น เมืองสุโขทัย และที่เตรียมสมัครเข้าเป็นเครืองข่ายเมืองสร้างสรรค์อย่าง อพท. สำนักงานพื้นที่พิเศษเมืองโบราญอู่ทอง สุพรรณบุรี เข้าร่วมประชุม รับฟัง และแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ผ่านระบบออนไลน์

“ที่ผ่านมา อพท. ส่งเสริมและพัฒนาเมืองน่าน ให้เป็นเมืองที่มีความพร้อมทั้งด้านหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน โดยส่งเสริมและต่อยอดภูมิปัญญาให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ และผลงานใหม่ๆ ตามแนวทางการพัฒนาเมืองสร้างสรรค์ขององค์การยูเนสโก เพื่อให้ได้เห็นภาพการดำเนินงานอย่างจริงจังและรับรู้ถึงศิลปะวัฒนธรรมที่ทรงคุณค่าทางด้านภูมิปัญญาที่สืบทอดมายาวนาน” นางศุภรดา กานดิศยากุล กล่าว

ด้านนายกฤชเพชร เพชระบูรณิน รองผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน ระบุว่า จังหวัดน่านยินดีจะสนับสนุนการเข้าสมัครเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ ของยูเนสโก ตามการผลักดันของ อพท. พร้อมกำหนดยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนเมืองมาเป็น 6 ยุทธศาสตร์ ครอบคลุมการพัฒนาเมืองอย่างรอบด้านที่ตอบทั้งเป้าหมายของเมืองสร้างสรรค์เป็นแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ SDG คือ 1.การพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ 2.การพัฒนาศักยภาพและทักษะด้านการสร้างสรรค์ 3.การสร้างโอกาสและการเรียนรู้ อย่างเท่าเทียมทางสังคมยุทธศาสตร์ที่ 4.การสืบสานและสร้างสรรค์ภูมิปัญญาด้านหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน 5.การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกรองรับเมืองสร้างสรรค์น่าน และ 6.การสื่อสารและพัฒนาเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ด้านหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน

รองผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ ยังได้ริเริ่มกิจกรรมและโครงการในเมืองน่าน ภายใต้การกำหนดกรอบแนวคิด 3 ประเด็น คือ งานหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้านเมืองน่านที่เชื่อมโยงกับ 3 มิติ ได้แก่ 1.งานหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้านเชื่อมโยงสายน้ำ 2.งานหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้านเชื่อมโยงวัฒนธรรม และ 3.งานหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้านเชื่อมโยงเกษตรกรรม เพื่อตอกย้ำว่าศิลปวัฒนธรรมของเมืองน่านมีมาอย่างยาวนานและได้รับการสืบทอดผ่านกระบวนการคิดอย่างสร้างสรรค์ และมีความพร้อมที่จะเข้าสู่กระบวนการคัดเลือกเข้าเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโกในปีนี้

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

Picture of ลักขณา สุริยงค์

ลักขณา สุริยงค์

ทำหน้าที่สื่อมวลชนมาเกือบ 30 ปี ทั้งงานสายข่าวและจัดรายการทีวี-วิทยุมานับไม่ถ้วน "ไม่เป็นกลาง แต่เป็นธรรม พร้อมนำเสนอความจริง"