ในช่วงการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลไปสู่พลังงานหมุนเวียน เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือ Carbon Neutrality ภายในปี ค.ศ.2050 ของประเทศและของโลก ถือเป็นความท้าทายของหน่วยงานด้านพลังงาน เช่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่มีภารกิจในการดูแลความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศ ต้องแสวงหาเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ควบคู่ไปกับการสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน เนื่องด้วยข้อจำกัดของพลังงานหมุนเวียนที่มีความไม่เสถียร ทั้งพลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ ไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้ตลอดเวลา โรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับหรือระบบกักเก็บพลังงานด้วยพลังน้ำขนาดใหญ่ (Energy Storage System : ESS) จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน เพื่อลดความไม่แน่นอน ไม่เสถียร ในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้
โรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ เขื่อนศรีนครินทร์ จ.กาญจนบุรี
โรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ เป็นระบบกักเก็บพลังงานประเภทหนึ่งที่มีต้นทุนการผลิตไฟฟ้าต่อหน่วยต่ำ ช่วยลดคาร์บอนไดออกไซด์จากการผลิตไฟฟ้าได้ การผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าชนิดนี้ใช้หลักการเดียวกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำทั่วไป คือเก็บกักน้ำไว้ในอ่างเก็บน้ำ แล้วปล่อยน้ำผลิตไฟฟ้าในช่วงที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้ามาก โดยใช้เวลาไม่ถึง 5 นาที ทำให้สามารถผลิตไฟฟ้าทดแทนไฟฟ้าจากพลังลมหรือแสงอาทิตย์ที่ขาดหายไปได้อย่างทันท่วงที แตกต่างจากโรงไฟฟ้าพลังความร้อน ที่ต้องใช้เวลาในการเตรียมการนาน 2-4 ชั่วโมง
เดิมทีจุดประสงค์หลักของการสร้างอ่างเก็บน้ำ คือเก็บน้ำไว้ใช้เพื่อการเกษตรและอุปโภค-บริโภค การผลิตไฟฟ้าเป็นผลพลอยได้จากการปล่อยน้ำผ่านเครื่องกำเนิดไฟฟ้า แต่ปัจจุบัน เมื่อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมีปริมาณมากขึ้น ช่วงเวลาที่แดดไม่มี ลมไม่พัด จึงส่งผลกระทบต่อความมั่นคงระบบไฟฟ้ามากขึ้น โรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ จึงตอบโจทย์ในด้านความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศ โดยการสร้างอ่างเก็บน้ำตอนล่างเพิ่มขึ้น เพื่อกักเก็บน้ำที่ผ่านการผลิตไฟฟ้าแล้วจากอ่างเก็บน้ำตอนบน รอจังหวะเวลาที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าน้อย จึงสูบน้ำกลับขึ้นไปเก็บไว้ยังอ่างบน เพื่อนำกลับมาผลิตไฟฟ้าอีกครั้งในช่วงที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้ามาก โดยไม่ส่งผลกระทบกับการใช้น้ำของประชาชน ด้วยหลักการนี้ จึงทำให้โรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับกลายเป็นระบบกักเก็บพลังงานที่ช่วยให้การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมีความมั่นคงมากขึ้น
กฟผ. เดินหน้า เสริมระบบกักเก็บพลังงาน
ปัจจุบัน กฟผ. มีโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ 3 แห่ง ได้แก่
1) เขื่อนศรีนครินทร์ เครื่องที่ 4 และ 5 จังหวัดกาญจนบุรี กำลังผลิต 360 เมกะวัตต์
2) เขื่อนภูมิพล เครื่องที่ 8 จังหวัดตาก กำลังผลิต 171 เมกะวัตต์
3) โรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนา จังหวัดนครราชสีมา กำลังผลิต 1,000 เมกะวัตต์
นอกจากนี้ กฟผ. ยังมีแผนพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับเขื่อนจุฬาภรณ์ จังหวัดชัยภูมิ กำลังผลิต 800 เมกะวัตต์ มีแผนจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ในปี 2577 ซึ่งได้ดำเนินการจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนแล้วเสร็จเมื่อปี 2565 ที่ผ่านมา พร้อมทั้งจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) แล้ว ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ตามลำดับ
ปัจจุบัน เทรนด์การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนกำลังมาแรง เนื่องจากเป็นพลังงานสะอาด ไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่พลังงานหมุนเวียนยังมีข้อจำกัดเรื่องความไม่แน่นอน ไม่เสถียร เนื่องจากต้องพึ่งพิงทรัพยากรธรรมชาติที่ไม่สามารถควบคุมได้ โรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับซึ่งเปรียบเสมือน “ระบบกักเก็บพลังงาน” ที่ช่วยเสริมความมั่นคงด้านพลังงานและเป็น “แหล่งไฟฟ้าสำรอง” พร้อมรองรับความผันผวนของพลังงานหมุนเวียน จึงเป็นอีกทางเลือกที่จะช่วยให้ประเทศและโลกก้าวสู่สังคมคาร์บอนต่ำอย่างมั่นคงและยั่งยืน
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: