X

เลือกตั้ง66 : กกต.พร้อมเปิดรับสมัคร ส.ส. เตือน เตรียมเอกสารให้พร้อม กองเชียร์ลุ้นได้แต่อย่าทำผิดกฎหมาย

กรุงเทพฯ – เปิดขั้นตอนรับสมัคร ส.ส.เขต-บัญชีรายชื่อ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ย้ำ อย่าทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง โดยเฉพาะการจัดขบวนกองเชียร์ให้กำลังใจและลุ้นหมายเลข อาจถูกสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 20 ปี

ตามที่ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนดเปิดรับสมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ในวันที่ 3-7 เมษายน ตั้งแต่เวลา 08.30-16.30 น. สำหรับการรับสมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และแจ้งชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ระหว่างวันที่ 4-7 เมษายน ตั้งแต่เวลา 08.30-16.30 น. ทั้งนี้ วันที่ 7 เมษายน ซึ่งเป็นวันสุดท้าย จะเปิดรับสมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อและแจ้งชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี เวลา 08.30-16.00 น.

ขั้นตอนการรับสมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง และขั้นตอนการจับหมายเลข
ผู้ที่จะสมัครรับเลือกตั้ง ต้องยื่นใบสมัครรับเลือกตั้งพร้อมเอกสารหลักฐาน ต่อผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้ง ณ สถานที่ที่ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งกำหนด

1.เปิดลงทะเบียนให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งรับบัตร เพื่อเข้าอาคารสถานที่รับสมัคร ตั้งแต่เวลา 06.00 น. (เจ้าหน้าที่ กกต.กทม.เตรียมพร้อมตั้งแต่เวลาประมาณ 05.00 น.)
2.เจ้าหน้าที่ชี้แจงขั้นตอนการรับสมัคร
3.เริ่มขั้นตอนการรับสมัคร เวลา 08.30-16.30 น.
4.กรณีผู้สมัครมาสมัครก่อนเวลา 08.30 น. ให้ถือว่ามาพร้อมกัน ให้ ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้ง (ผอ.กต.เขต) จัดประชุมเพื่อตกลงลำดับการสมัครของผู้ที่มาสมัครพร้อมกัน หากตกลงกันได้ ให้ยื่นตามลำดับที่ตกลงกันของผู้ที่มายื่นใบสมัคร หากเกิดกรณีผู้สมัครตกลงกันไม่ได้ ผอ.กต.เขต จะจับฉลาก เพื่อกำหนดลำดับจับฉลากต่อไป
5.ยื่นใบสมัครและเอกสารประกอบการรับสมัครตามลำดับการลงทะเบียน ต่อ ผอ.กต.เขต โดยยื่นใบสมัครพร้อมเอกสาร ต่อเจ้าหน้าที่ผู้ทำหน้าที่ตรวจสอบเอกสาร/หลักฐานในเบื้องต้น
6.ชำระค่าธรรมเนียมการสมัคร (เงินสด) ออกใบเสร็จรับเงินให้ผู้สมัครใช้ประกอบหลักฐานการสมัคร
7.ผอ.กต.เขต ออกใบรับสมัคร ให้แก่ผู้สมัครเรียงลำดับการยื่นใบสมัคร

ขั้นตอนการรับสมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ
พรรคการเมืองจะต้องส่งผู้สมัครแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง เพื่อให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้ง ออกใบรับใบสมัครรับเลือกตั้งแล้ว จึงจะส่งสมาชิกพรรคการเมืองสมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อได้ โดยให้หัวหน้าพรรคการเมืองหรือกรรมการบริหารพรรคการเมืองผู้ได้รับมอบหมายเป็นหนังสือจากหัวหน้าพรรคการเมือง ยื่นบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ พร้อมทั้งหลักฐานประกอบการสมัครของผู้สมัครแต่ละคน ณ ห้องบางกอก อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานครแขวงดินแดง เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร

ขั้นตอนการรับสมัคร แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี
พรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง และผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้ง ได้ออกใบรับใบสมัครรับเลือกตั้งแล้ว
หากประสงค์จะแจ้งรายชื่อบุคคลที่พรรคการเมืองมีมติจะเสนอสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ให้แจ้งรายชื่อพร้อมหนังสือแสดงความยินยอม ของผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีต่อ คณะกรรมการการเลือกตั้ง ไม่เกิน 3 รายชื่อ ณ ห้องบางกอก อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานครแขวงดินแดง เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร ในสวันที่ 4-7 เมษายน เวลา 08.30-16.30 น. ทั้งนี้ วันที่ 7 เมษายน จะเปิดตั้งแต่เวลา 08.30-16.00 น.

อนึ่ง บุคคลใดจะสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ให้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งในนามของพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองเดียว และจะสมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง หรือแบบบัญชีรายชื่อแบบใดแบบหนึ่งได้เพียงแบบเดียว และสมัครรับเลือกตั้งได้เพียงเขตเดียว

เตือน เตรียมเอกสารให้พร้อม-ครบ งดขบวนแห่หลังได้หมายเลข
กกต.เตือนไปยังผู้สมัครรับเลือกตั้ง 3 เรื่อง คือ

1.เอกสารหลักฐานประกอบการสมัครรับเลือกตั้ง ตามมาตรา 45 และ 46 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ซึ่งกำหนดไว้ว่า ผู้สมัครต้องเตรียมมาให้ครบถ้วนทุกรายการ หากไม่ครบถ้วนต้องให้ผู้สมัครกลับไปเตรียมมาให้พร้อม และให้มาสมัครใหม่

2.กองเชียร์ กลุ่มผู้สนับสนุน ของผู้สมัครรับเลือกตั้ง สามารถมาสถานที่รับสมัครได้ ซึ่งเป็นสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ แต่สิ่งที่ห่วงใยในช่วงขามา สามารถร้องรำทำเพลงได้ แต่เมื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งได้หมายเลขประจำตัวผู้สมัครแล้ว ต้องระมัดระวังการกระทำความผิดตามกฏหมายเลือกตั้ง มาตรา 73 (3) ห้ามจัดให้มีงานรื่นเริงหรือมหรสพ หรือเมื่อได้หมายเลขประจำตัวผู้สมัครแล้วให้งดการกระทำเหล่านี้

3.คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครรับเลือกตั้ง ไม่ใช่หน้าที่ของฝ่ายรับสมัคร ที่จะต้องตรวจสอบอย่างเข้มข้น แต่เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการสรรหาแต่ละพรรคตามกฏหมาย ซึ่งการตรวจเอกสารหลักฐานคุณสมบัติของฝ่ายรับสมัคร เป็นการทบทวนอีกครั้งหนึ่งเท่านั้น หากผู้สมัครคนใดเป็นผู้ที่รู้อยู่แล้วว่าตัวเองไม่มีคุณสมบัติสมัครรับเลือกตั้ง หรือมีลักษณะต้องห้าม จะมีบทลงโทษตามกฎหมายมาตรา 151 ซึ่งหากได้รับเลือกตั้ง ส.ส. ต้องถูกเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้งและจะต้องคืนสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ให้กับสภาผู้แทนราษฎร

คณะกรรมการการเลือกตั้ง แจ้งว่า เมื่อกระบวนการสมัครเสร็จสิ้นลงแล้ว มิควรมีการจัดขบวนหรือกองเชียร์ออกจากสถานที่รับสมัครไปตามถนน ตำบล หรือหมู่บ้าน ในลักษณะนี้อีก เนื่องจากเคยมีคำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 1 และคำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยไว้ในทำนองเดียวกันว่า การจัดขบวนแห่และรถยนต์ติดแผ่นป้ายของผู้สมัครรับเลือกตั้ง ภายหลังการสมัครรับเลือกตั้งเสร็จสิ้นแล้วไปตามชุมชน โดยมีการแสดงดนตรีหรือการรื่นเริงใด ๆ ถือเป็นการจูงใจผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้ลงคะแนนเลือกตั้งให้แก่ผู้สมัครรับเลือกตั้ง อันเป็นการหาเสียงด้วยการจัดให้มีการรื่นเริงซึ่งขัดต่อกฎหมายเลือกตั้ง

ทั้งนี้ การจัดกิจกรรมที่เข้าข่ายจัดมหรสพ ร้องเพลง การจัดเลี้ยงอาหารและเครื่องดื่ม หากฝ่าฝืนมีโทษหนักจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี ปรับตั้งแต่ 2 หมื่นบาท ถึง 2 แสนบาท หรือทั้งจำและปรับ รวมทั้งให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 20 ปี

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

Picture of ลักขณา สุริยงค์

ลักขณา สุริยงค์

ทำหน้าที่สื่อมวลชนมาเกือบ 30 ปี ทั้งงานสายข่าวและจัดรายการทีวี-วิทยุมานับไม่ถ้วน "ไม่เป็นกลาง แต่เป็นธรรม พร้อมนำเสนอความจริง"