กรุงเทพฯ – สมัคร ส.ส.แบ่งเขต กทม.แล้ว ผู้สมัครจับสลากหมายเลข แกนนำพรรค-กองเชียร์ แห่ให้กำลังใจ รอลุ้น จนล้น โดยเฉพาะ 2 ป.ถูกจับนั่งคู่ ผู้สมัครหลายคนพึงพอใจ ได้หมายเลขที่ชื่นชอบ-มีความหมาย
วันที่ 3 เมษายน 2566 การรับสมัครเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขต กรุงเทพมหานคร ที่อาคารกีฬาเวสน์ 2 ศูนย์เยาวชนไทย-ญี่ปุ่นดินแดง หลังลงสมัครกันแล้ว ก็เข้าสู่ขั้นตอนที่ผู้สมัครจากพรรคการเมืองต่าง ๆ จับสลากหมายเลข โดยมีหัวหน้าพรรคและแกนนำ นั่งรอให้กำลังใจผู้สมัคร ท่ามกลางกองเชียร์และผู้สนับสนุนของพรรคการเมืองต่าง ๆ และของผู้สมัคร ที่รอลุ้น และส่งเสียงเฮเป็นระยะ เมื่อผู้สมัครของตัวเองจับสลากได้หมายเลขแล้ว
ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการกำหนดแนวทางและยุทธศาสตร์พรรคการเมืองของพรรครวมไทยสร้างชาติ และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ได้เข้าไปในอาคารรับสมัคร เพื่อเป็นกำลังใจให้แก่ผู้สมัครเช่นกัน ทั้งคู่ได้นั่งติดคู่กัน มีการทักทายและพูดคุยกันเล็กน้อย
ในส่วนผู้สมัครที่พากันได้หมายเลขตัวเดียวตามที่มุ่งหวัง ต่างพากันดีใจและพึงพอใจ เนื่องจากจะทำให้ง่ายต่อการหาเสียง และจดจำของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง อาทิ
ข่าวน่าสนใจ:
– นางกรณิศ งามสุคนธ์รัตนา จากพรรคภูมิใจไทย ได้หมายเลข 1 โดยระบุว่า เป็นเลขมงคล ไม่เป็นรองใคร ภูมิใจกรุงเทพฯ ภูมิใจไทย พูดแล้วทำ
– นางอรอนงค์ กาญจนชูศักดิ์ เขตเลือกตั้งที่ 2 (สาทร ปทุมวัน ราชเทวี) จากพรรคประชาธิปัตย์ ได้หมายเลข 1 เช่นกัน
– นายสุรชาติ เทียนทอง จากพรรคเพื่อไทย ได้หมายเลข 2
– นายการุณ โหสกุล จากพรรคไทยสร้างไทย ได้หมายเลข 2
– นายปณิธาน ประจวบเหมาะ จากพรรคไทยสร้างไทย ได้หมายเลข 4
– นายประเดิมชัย บุญช่วยเหลือ จากพรรคภูมิใจไทย ได้หมายเลข 8
– นายศิลปวิชญ์ น้อยสมมิตร จากพรรคเพื่อไทย ได้หมายเลข 8
– นายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร จากพรรคก้าวไกล ได้หมายเลข 9
– พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ จากพรรคประชาธิปัตย์ แม้ได้หมายเลข 14 แต่ก็แสดงความพึงพอใจอย่างมาก เนื่องจากตรงกับวันเลือกตั้ง คือ วันที่ 14 พฤษภาคม ซึ่งจะทำให้ประชาชนจดจำได้ง่าย และสะดวกต่อการหาเสียง
อย่างไรก็ตาม หลังจากจับหมายเลขผู้สมัครเสร็จสิ้นแล้ว แกนนำพรรคต่าง ๆ จะพาผู้สมัครไปสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เช่น ศาลหลักเมือง วัดดังต่าง ๆ เช่น วัดพระแก้ว วัดชนะสงคราม ฯลฯ ถือเป็นเคล็ดตามความเชื่อ ต่อด้วยการรณรงค์หาเสียงตามจุดต่าง ๆ อย่าง
พรรคประชาธิปัตย์ จะนำผู้สมัครเดินทางไปสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ศาลหลักเมืองและวัดพระแก้ว เช่นเดียวกับพรรคเพื่อไทย แต่ผู้สมัคร ส.ส ฝั่งธนบุรี พรรคเพื่อไทย จะไปไหว้พระเจ้าตากสิน (วงเวียนใหญ่) หลังแยกจากศาลหลักเมือง ด้านพรรคภูมิใจไทย จะพาไปวัดชนะสงคราม เช่นเดียวกับ พรรคไทยสร้างไทย ขณะที่พรรคชาติพัฒนากล้า ไปที่ศาลท้าวมหาพรหม เอราวัณ แยกราชประสงค์
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ 0 / 5. จำนวนโหวต: 0