กรุงเทพฯ – ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เผย ชลบุรี-บางนา ค่าดัชนีความร้อนสูงถึง 49-50 องศาเซลเซียส เสี่ยงเกิดฮีทสโตรก ขณะที่ 25 จังหวัด ค่าดัชนีรังสียูวีอยู่ในระดับสูงจัด ทำผิวหนังเกรียมแดด ส่งผลเสียต่อดวงตา ทำลาย DNA ในระยะยาว แนะ เลี่ยงออกแดด ดื่มน้ำสะอาดมาก ๆ
นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า จากข้อมูลพยากรณ์ค่าดัชนีความร้อน** (อุณหภูมิที่คนเรารู้สึกได้) สูงสุด ของกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า วันนี้ (6 เมษายน 2566) ภาคเหนือ ค่าดัชนีความร้อนสูงสุดจะอยู่ที่ จ.เพชรบูรณ์ 40.6 องศาเซลเซียส, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ศรีสะเกษ 41.5 องศาฯ, ภาคกลาง เขตบางนา กทม. 50.2 องศาฯ, ภาคตะวันออก แหลมฉบัง จ.ชลบุรี 49.4 องศาฯ และภาคใต้ จ.ภูเก็ต 47.9 องศาฯ
ซึ่งสภาพอากาศที่ร้อนเกิน 41 องศาเซลเซียส จัดอยู่ในระดับอันตราย อาจทำให้มีอาการตะคริวที่น่อง ต้นขา หน้าท้อง หรือไหล่ ทำให้ปวดเกร็ง มีอาการเพลียแดด และอาจเกิดภาวะฮีทสโตรกได้ จึงขอให้ดื่มน้ำสะอาดบ่อย ๆ ไม่ต้องรอให้กระหาย หลีกเลี่ยงชา กาแฟ น้ำอัดลม และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้ง หากต้องทำงานกลางแจ้งควรทำงานเป็นกลุ่ม และเมื่อเกิดอาการผิดปกติ เช่น หน้ามืด เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ หายใจเร็ว ให้รีบแจ้งบุคคลที่อยู่ใกล้เพื่อช่วยปฐมพยาบาลทันที
ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวอีกว่า นอกจากอุณหภูมิที่ร้อนจัด อีกเรื่องที่ต้องระมัดระวัง คือ รังสีอัลตราไวโอเลต (ยูวี) จากข้อมูลกรมอุตุนิยมวิทยาพบว่า ช่วงวันที่ 3-9 เมษายน 2566 กรณีท้องฟ้าโปร่ง เวลา 12.00 น. มี 25 จังหวัดที่มีค่าดัชนียูวีอยู่ในระดับสูงจัด (มากกว่า 11 ขึ้นไป) ซึ่งจะทำให้เกิดผิวหนังเกรียมแดด (Sun Burn) ส่งผลเสียต่อดวงตาได้ในเวลาไม่กี่นาที และระยะยาวจะทำลาย DNA ได้แก่
ข่าวน่าสนใจ:
- THACCA ร่วมกับ วธ. สนับสนุน 220 ล้านบาท ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมภาพยนตร์และซอฟต์พาวเวอร์ไทย
- ผบช.สตม.ปล่อยแถว ตม.ทั่วประเทศ กวาดล้างอาชญากรรมช่วงเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ 2568
- คึกคักวันแรก สมัครนายก อบจ.เชียงราย กองเชียร์ล้นทะลัก อาทิตาธร เบอร์ 1 สลักจิฤฏดิ์ เบอร์ 2
- "ชวนน้องหนูมาดูโขน" 11 ม.ค. ฟรี เนื่องในวันเด็กแห่งชาติ ประจำปี 2568
เชียงราย เชียงใหม่ น่าน ลำปาง หนองคาย สกลนคร ขอนแก่น อุบลราชธานี บุรีรัมย์ นครราชสีมา กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ กาญจนบุรี มีค่าดัชนียูวี 11, กทม. จันทบุรี ชลบุรี มีค่าดัชนียูวี 12, ตราด ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ภูเก็ต สงขลา และนราธิวาส มีค่าดัชนียูวี 13 จึงขอให้หลีกเลี่ยงการออกแดด โดยเฉพาะช่วงเวลา 09.00-15.00 น. หากจำเป็นควรใช้เวลาให้น้อยที่สุด สวมเสื้อผ้าสีอ่อน ระบายความร้อนได้ดี สวมหมวกปีกกว้าง แว่นกันแดด และทาครีมกันแดด
นายแพทย์โอภาส ย้ำว่า ประเทศไทยอยู่ในช่วงฤดูร้อน ทำให้กลางวันมีสภาพอากาศร้อนจัด ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว หรือผู้ที่ต้องทำงานกลางแจ้ง เนื่องจากร่างกายจะขับความร้อนออกมาทางเหงื่อ ทำให้สูญเสียน้ำและเกลือแร่จำนวนมาก เกิดอาการเพลียแดด หรืออาจรุนแรงถึงขั้นเป็นโรคลมแดดหรือฮีทสโตรกได้
โดยการวินิจฉัยว่าเป็นโรคฮีทสโตรกจะดูจาก
1.อุณหภูมิร่างกายสูง 40.5 องศาเซลเซียสขึ้นไป
2.มีอาการผิดปกติทางสมอง เช่น สับสน เพ้อ เวียนศีรษะ ตอบสนองช้า หรือชัก
3.อยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีอากาศร้อน
ซึ่งอาการจะเกิดขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป และใช้ระยะเวลาจนเกิดอาการผิดปกติ ส่วนใหญ่การเสียชีวิตมักจะมีปัจจัยร่วมกับโรคอื่น ๆ ด้วย เช่น โรคหัวใจหรือภาวะความดันโลหิตสูง
ดัชนีความร้อน (Heat Index) คืออุณหภูมิที่คนเรารู้สึกได้ในขณะนั้น (Apparent temperature) ว่า อากาศร้อนเป็นอย่างไร หรืออุณหภูมิที่ปรากฏในขณะนั้นเป็นเช่นไร โดยค่าดัชนีความร้อนนั้นสามารถนำมาประยุกต์ใช้เพื่อระบุความเสี่ยงที่ร่างกายจะได้รับผลกระทบจากความร้อนได้
โดยค่าดัชนีความร้อน แบ่งได้เป็น 4 ระดับ ดังนี้
ระดับเฝ้าระวัง (Surveillance) สีเขียว ดัชนีความร้อน 27-32 องศาเซลเซียส
ผลกระทบต่อสุขภาพ : อ่อนเพลีย วิงเวียน คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัวจากการสัมผัสความร้อน หรือออกกำลังกายหรือทำงานใช้แรงงานท่ามกลางอากาศที่ร้อน
ระดับเตือนภัย (Alert) สีเหลือง ดัชนีความร้อน 32-41 องศาเซลเซียส
ผลกระทบต่อสุขภาพ : เกิดอาการตะคริวจากความร้อนและอาจเกิดอาการเพลียแดด (Heat Exhaustion) หากสัมผัสความร้อนเป็นเวลานาน
ระดับอันตราย (Warning) สีส้ม ดัชนีความร้อน 41-54 องศาเซลเซียส
ผลกระทบต่อสุขภาพ : มีอาการตะคริวที่น่อง ต้นขา หน้าท้อง หรือไหล่ ทำให้ปวดเกร็ง มีอาการเพลียแดด และอาจเกิดภาวะลมแดด (Heat stroke) ได้หากสัมผัสความร้อนเป็นเวลานาน
ระดับอันตรายมาก (Danger) สีแดง ดัชนีความร้อนมากกว่า 54 องศาเซลเซียส
ผลกระทบต่อสุขภาพ – เกิดภาวะลมแดด (Heat stroke)
คำแนะนำสุขภาพ สังเกตอาการตนเอง โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ควรลดกิจกรรมกลางแจ้ง หากจำเป็นควรสวมหมวก แว่นกันแดด สวมเสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี หากทำงานกลางแจ้งควรทำงานเป็นกลุ่ม
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: