X

อพท.ปรับยุทธศาสตร์ เล็งแก้ พ.ร.บ.ก่อตั้ง มุ่งหารายได้ ยกระดับท่องเที่ยวพื้นที่พิเศษ

กรุงเทพฯ – อพท.ก้าวสู่ทศวรรษที่ 3 ทบทวนแผนยุทธศาสตร์พัฒนาพื้นที่พิเศษ เน้นโครงการเร่งด่วน Big Rock นำไปสู่การลงทุนที่เกิดผลทางเศรษฐกิจสูง กระจายรายได้สู่เศรษฐกิจฐานราก ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วม ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติ เดินหน้าพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวใหม่ เข้าสู่เกณฑ์มาตรฐานสากล

นาวาอากาศเอกอธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ อพท. เปิดเผยแผนงาน ปี 2566 ว่า อพท.ตั้งเป้าหมายดำเนินการใน 2 ภารกิจสำคัญ ได้แก่

ภารกิจหลัก มุ่งขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน พร้อมดำเนินการตามแผนปฏิบัติการระยะ 5 ปี (ปี พ.ศ.2566-2570) มุ่งการให้ความรู้ความเข้าใจกับทุกภาคส่วน เกี่ยวกับเครื่องมือในการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของ อพท. ทั้งหลักเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (GSTC) เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของ องค์กรยูเนสโก (UCCN) การท่องเที่ยวโดยชุมชน (CBT) และโมเดลเศรษฐกิจใหม่ (BCG) รวมถึงการดำเนินการตามตัวชี้วัดของสำนักงาน ก.พ.ร.

ภารกิจเร่งด่วน ให้ความสำคัญกับโครงการ Big Rock ที่มีความจำเป็นเร่งด่วน การทบทวนแผนยุทธศาสตร์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (รายพื้นที่) ให้มีเป้าหมายสอดคล้องกับเจตนารมณ์ ในการประกาศพื้นที่พิเศษ แผนงานโครงการภายใต้ยุทธศาสตร์พื้นที่ต้องเชื่อมโยงกับเป้าหมาย เน้นการลงทุนที่ที่เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจของพื้นที่ในระดับสูง บนพื้นฐานของการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมทั้งส่งเสริมพื้นที่ที่ผ่านการพัฒนาจาก อพท. ให้ได้รับรางวัลหรือมาตรฐานระดับนานาชาติ อาทิ แหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษฯ ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา

นอกจากนั้น ยังไเตรียมการแก้ไขพระราชกฤษฎีกาจัดตั้ง อพท.ให้เหมาะสมตามบริบทในการดำเนินงานของ อพท.ในปัจจุบัน และเพิ่มอำนาจในการบูรณาการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการประสาน ส่งเสริม สนับสนุนให้มากยิ่งขึ้น เตรียมศึกษาศักยภาพพื้นที่เพื่อประกาศเป็นพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และการหารายได้เพิ่มเติมจากทรัพย์สินและกิจกรรมสำคัญของ อพท.

ผู้อำนวยการ อพท. อธิบายว่า โครงการ Big Rock ให้ความสำคัญกับโครงการที่จะขับเคลื่อนให้เกิดผลสัมฤทธิ์ด้านเศรษฐกิจ ในระดับที่มีผลกระทบ (Impact) เกิดการจ้างงาน และกระจายรายได้อย่างยั่งยืน จัดทำโครงการที่จะทำให้มีรายได้กลับเข้ามาอย่างรวดเร็ว เพื่อนำไปเพิ่มในส่วนของงบพัฒนาของ อพท. ซึ่งเป็นโครงการที่ได้บรรจุไว้ในแผนยุทธศาสตร์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษฯ เพื่อเน้นย้ำความสำคัญของแผนระดับ 3 ของ อพท. ตามบทบาทภารกิจขององค์กร เช่น โครงการก่อสร้างศูนย์แห่งความเป็นเลิศและแหล่งเรียนรู้ด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (ศูนย์ท่าโสม) การพัฒนาท่าเทียบเรือสลักเพชร จังหวัดตราด ศูนย์เรียนรู้และแสดงผลงานสร้างสรรค์ จังหวัดสุโขทัย และ Co-working Space/Creative Space จังหวัดเลย เป็นต้น

ทบทวนแผนยุทธศาสตร์พื้นที่ ทำงานแบบมุ่งเป้า
ภารกิจสำคัญเร่งด่วนอีกอย่างหนึ่งของ อพท. คือ การทบทวนแผนยุทธศาสตร์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (รายพื้นที่) ให้สามารถเป็นเครื่องมือของรัฐบาลในการพัฒนาเศรษฐกิจของพื้นที่และส่งผลต่อเศรษฐกิจของประเทศ โดยแผนยุทธศาสตร์ฯ ต้องสามารถเป็นกรอบบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้อย่างแท้จริง รวมถึงการส่งเสริมพื้นที่ที่ อพท.ดำเนินการพัฒนาแล้วเข้าสู่การประกวด เพื่อสร้างการยอมรับในระดับนานาชาติ โดยปี พ.ศ.2566 เตรียมร่วมกับหน่วยงานและภาคีเครือข่าย ดำเนินการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา เพื่อรับรางวัลหรือมาตรฐานระดับชาติและนานาชาติ รวมถึงการเตรียมศึกษาศักยภาพพื้นที่เพื่อประกาศเป็นพื้นที่พิเศษฯ อีก 2 แห่ง คือ พื้นที่อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่ และพื้นที่เกาะคอเขา จังหวัดพังงา

“เราเน้นทำความเข้าใจในบทบาทหน้าที่ของ อพท. ทั้งระดับชุมชน และภาคีเครือข่าย เพื่อให้เข้ามามีส่วนร่วมในการปฏิบัติงานของ อพท. ให้เข้าใจเป้าหมายการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืน ที่มีส่วนสำคัญต่อการเข้าไปส่งเสริม การเป็นพี่เลี้ยง เพื่อให้พื้นที่อยู่ได้และขยายผลไปยังพื้นที่ใกล้เคียง เป็นพื้นที่เชื่อมโยงเส้นทางการท่องเที่ยวอย่างเป็นระบบ ควบคู่ไปกับการยกระดับแหล่งท่องเที่ยวเข้าสู่เกณฑ์มาตรฐานสากล ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของ อพท.” นาวาอากาศเอกอธิคุณ กล่าว

ผู้อำนวยการ อพท. ยังได้กล่าวว่า ปี 2566 อพท.จะครบรอบก่อตั้งองค์กร 20 ปีเต็ม และกำลังก้าวสู่ทศวรรษที่ 3 ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินงานของ อพท.คล่องตัวและสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี จึงเตรียมขอแก้ไขพระราชกฤษฎีกาจัดตั้ง อพท. โดยจะพิจารณาอำนาจในการเสนอเรื่อง การประกาศพื้นที่พิเศษ ตลอดจนการเสนอแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่ฯ ต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณา รวมถึงปรับปรุงนิยามของ ‘พื้นที่พิเศษ’ ให้เหมาะสมตามบริบทในการดำเนินงานของ อพท. ในปัจจุบัน

หารายได้ ลดการพึ่งพางบประมาณ
นาวาอากาศเอกอธิคุณ เปิดเผยด้วยว่า การพิจารณาหารายได้เพิ่มเติมจากทรัพย์สินและกิจกรรมสำคัญของ อพท. เพื่อลดภาระในการพึ่งพางบประมาณ โดยจะเสนอแผนงานที่เป็นรูปธรรม ในการสร้างประโยชน์และรายได้จากทรัพย์สินของ อพท.ที่มีในปัจจุบัน และที่บรรจุไว้ในแผนยุทธศาสตร์รายพื้นที่ รวมทั้งสร้างรายได้จากกิจกรรมสำคัญ อาทิ จากหลักสูตรและองค์ความรู้ของ อพท. การจัดประชุมวิชาการด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน รวมถึงการร่วมทุนในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งขณะนี้ อพท.อยู่ระหว่างการพิจารณาปรับโครงสร้างองค์กรให้สอดคล้องกับบริบทงานที่เปลี่ยนแปลงดังกล่าว

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

Picture of ลักขณา สุริยงค์

ลักขณา สุริยงค์

ทำหน้าที่สื่อมวลชนมาเกือบ 30 ปี ทั้งงานสายข่าวและจัดรายการทีวี-วิทยุมานับไม่ถ้วน "ไม่เป็นกลาง แต่เป็นธรรม พร้อมนำเสนอความจริง"