กรุงเทพฯ – กรมอนามัย แจ้งท้องถิ่นงดจัดงาน ‘วันกัญชาโลก’ สูบเพื่อสันทนาการทุกประเภท ชี้ ก่อเหตุรำคาญ มีกลิ่น-ควันในที่สาธารณะ ผิดกฎหมาย ประชาชนร้องเรียนเจ้าพนักงานท้องถิ่นได้ทันที
วันที่ 20 เมษายน 2566 นายแพทย์อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย ระบุว่า วันที่ 20 เมษายน เป็นวันกัญชาโลก จึงขอเน้นย้ำประชาชนและผู้ประกอบการ ต้องระวังการจัดกิจกรรมที่สุ่มเสี่ยงต่อการผิดกฎหมาย เนื่องจากอาจมีการจัดงานสูบบ้องเลียนแบบต่างประเทศ ถ้าก่อให้เกิดกลิ่นและควัน ถือเป็นเหตุรำคาญ อาจต้องได้รับโทษ จำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 25,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เพราะในประเทศไทยอนุญาตให้ใช้ในทางการแพทย์และภายใต้การควบคุมเท่านั้น
การสูบกัญชาก่อให้เกิดกลิ่นและควัน ถือเป็นเหตุรำคาญ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดให้การกระทำให้เกิดกลิ่น หรือควันกัญชา กัญชง หรือพืชอื่นใด เป็นเหตุรำคาญ พ.ศ.2565 โดยมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่ 15 มิถุนายน 2565 เพราะการใช้กัญชา กัญชง หรือพืชอื่นใด ในทางที่ไม่เหมาะสม เช่น สันทนาการ อาจส่งผลกระทบต่อสภาวะความเป็นอยู่ที่เหมาะสม และเป็นอันตรายต่อสุขภาพ โดยควันของพืชดังกล่าวจะมีอนุภาคขนาดเล็ก ที่สามารถเข้าสู่ปอดได้ด้วยการหายใจเอาควันเข้าไป ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วย เช่น โรคปอด หอบหืด และหลอดลมอักเสบได้
รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวอีกว่า คณะกรรมการสาธารณสุข มีประกาศ เรื่อง แนวทางควบคุมเหตุรำคาญจากการกระทำให้เกิดกลิ่น หรือควันกัญชา กัญชง หรือพืชอื่นใด พ.ศ.2565 ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่น เจ้าพนักงานสาธารณสุข หรือผู้ซึ่งได้รับแต่งตั้งจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น ตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข มีหน้าที่และอำนาจในการควบคุมและกำกับดูแลการกระทำที่อาจก่อให้เกิดกลิ่น หรือควันกัญชา กัญชง หรือพืชอื่นใด จนเป็นเหตุรำคาญ เมื่อเจ้าพนักงานประสบเหตุ หรือได้รับเรื่องร้องเรียนว่ามีผู้ก่อให้เกิดเหตุเดือดร้อนรำคาญ มีอำนาจตรวจสอบการกระทำนั้น
หากพบการกระทำดังกล่าวจริง ให้ดำเนินการไต่สวนผู้เกี่ยวข้อง เช่น ผู้ก่อเหตุ ผู้ร้องเรียน ผู้อยู่ใกล้เคียง ถึงพฤติการณ์ของผู้ก่อเหตุ พร้อมออกคำแนะนำให้ผู้ก่อเหตุรำคาญระงับหรือป้องกันเหตุรำคาญนั้นภายในระยะเวลาอันสมควร หากผู้ก่อเหตุรำคาญไม่ดำเนินการตามคำแนะนำ ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นออกคำสั่งเป็นหนังสือ โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 27 กรณีเหตุเกิดขึ้นในที่หรือทางสาธารณะ หรือมาตรา 28 กรณีเหตุเกิดในสถานที่เอกชน แห่งพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม แล้วแต่กรณี เพื่อให้ผู้ก่อเหตุดำเนินการปรับปรุงแก้ไข หรือระงับเหตุรำคาญภายในเวลาอันสมควร หรือกำหนดวิธีการเพื่อป้องกันมิให้มีเหตุรำคาญเกิดขึ้นอีกในอนาคตได้
ในกรณีผู้ก่อเหตุรำคาญไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นดำเนินการส่งเรื่องให้ผู้มีอำนาจเปรียบเทียบตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข โดยอัตราโทษกรณีไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นดังกล่าวข้างต้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 25,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
“หากประชาชนพบเห็นการกระทำดังกล่าว สามารถแจ้งเรื่องร้องเรียนเหตุรำคาญแก่เจ้าพนักงานท้องถิ่นได้ทันที เพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ หรือในกรณีที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นตรวจตราเชิงรุกเพื่อเฝ้าระวังแล้วพบเห็นการกระทำดังกล่าวด้วยตนเอง สามารถดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายข้างต้นต่อไป” นายแพทย์อรรถพล กล่าว
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: