จ.พังงา กฟผ. และสมาคมกีฬายกน้ำหนักสมัครเล่นแห่งประเทศไทย Kick Off ปลูกป่าอย่างมีส่วนร่วม นำร่องลงกล้าไม้ 4 สายพันธุ์ ในพื้นที่สนามกีฬา อบจ.พังงา คืนความสมบูรณ์ให้ระบบนิเวศ ดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ ร่วมสร้างอากาศที่ดีให้คนไทย
วันที่ 27 เมษายน 2566 นางสาวนิรชา บัณฑิตย์ชาติ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา, นายชัยวุฒิ หลักเมือง ผู้ช่วยผู้ว่าการบริหารจัดการความยั่งยืน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.), พลเอกวิสุทธิ์ เดชสกุล เลขาธิการสมาคมกีฬายกน้ำหนักสมัครเล่นแห่งประเทศไทย, ดร.ประจวบ แก้วเขียว รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพังงาพร้อมด้วย นักกีฬาและผู้ฝึกสอนจากสมาคมฯ ชาว จ.พังงา ร่วมกัน Kick Off ปลูกป่าในจ.พังงา ภายใต้โครงการปลูกป่าอย่างมีส่วนร่วมของ กฟผ. ณ สนามกีฬาองค์การบริหารส่วนจังหวัดพังงา (อบจ.พังงา)
นางสาวนิรชา บัณฑิตย์ชาติ รองผู้ว่าฯ พังงา ระบุว่า โครงการปลูกป่าอย่างมีส่วนร่วมของ กฟผ. เป็นโครงการที่สอดคล้องกับนโยบายส่งเสริมและพัฒนา จ.พังงา ด้านสิ่งแวดล้อม (Smart Environment) และเป็นโครงการที่ช่วยยกระดับการแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศจากก๊าซเรือนกระจก สร้างประโยชน์จากการดูดซับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เป็นภารกิจที่ได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายในการส่งเสริมและฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศ ตลอดจนช่วยส่งเสริมการยกระดับคุณภาพชีวิตด้านเศรษฐกิจและสังคมของคนในชุมชน ให้สามารถนำไปใช้ดำเนินการต่อยอดและขยายผลในพื้นที่อื่น ๆ ได้อย่างกว้างขวาง สร้างคุณภาพชีวิต และคุณภาพอากาศที่ดี
ข่าวน่าสนใจ:
ด้าน นายชัยวุฒิ หลักเมือง ผู้ช่วยผู้ว่าการบริหารจัดการความยั่งยืน กฟผ. เสริมว่าปัจจุบันโลกร้อนขึ้น จะเห็นว่าในพื้นที่บางแห่ง อุณหภูมิสูงถึง 50 องศาเซลเซียส กฟผ.ตั้งใจส่งเสริมและฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศ สร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนในการปลูกป่าอย่างยั่งยืน ตอบสนองนโยบายมุ่งสู่ EGAT Carbon Neutrality ภายในปีค.ศ.2050 หรือปี พ.ศ.2593 และ Thailand Carbon Neutrality ตามกรอบแผนพลังงานชาติ
โครงการปลูกป่าอย่างมีส่วนร่วมของ กฟผ. เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์สร้างความยั่งยืนด้านทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และพลังงาน สอดคล้องกับนโยบายฯ ที่มีเป้าหมายดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ เพิ่มพื้นที่สีเขียวของประเทศ ช่วยลดโลกร้อน
ซึ่งการปลูกป่าในพื้นที่สนามกีฬา อบจ.พังงา จำนวน 2 ไร่นี้ กฟผ. และพันธมิตรได้ลงกล้าไม้กว่า 250 ต้น จากพันธุ์ไม้ 4 สายพันธุ์ ประกอบด้วย ต้นรวงผึ้ง ต้นเทพทาโร ต้นชมพูพันธุ์ทิพย์ และต้นทองอุไร ซึ่งเป็นพันธุ์ไม้ที่ออกดอกสวยงาม สามารถพัฒนาเป็นจุดเช็คอินอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดได้ต่อไป โดยในวันนี้ได้รับความร่วมมือจากสมาคมกีฬายกน้ำหนักสมัครเล่นแห่งประเทศไทย ส่งนักกีฬาและผู้ฝึกสอนจากสโมสรต่าง ๆ ทั่วประเทศ ที่ร่วมการแข่งขัน EGAT ยกน้ำหนักชิงชนะเลิศแห่งประเทศไทย ประจำปี 2566 เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรมครั้งนี้ด้วย
โครงการปลูกป่าอย่างมีส่วนร่วมของ กฟผ. มีหลักการปลูกป่าร่วมกับพันธมิตร ดำเนินการทั้งป่าอนุรักษ์ ป่าชุมชน ป่าเศรษฐกิจ และป่าชายเลน มีเป้าหมายในการปลูก ปีละ 1 แสนไร่ รวม 1 ล้านไร่ ภายในเวลา 10 ปี ระหว่างปี พ.ศ.2565-2574 และบำรุงรักษาต่อเนื่องอีก 9 ปี จนถึงปี พ.ศ.2583 ครอบคลุมพื้นที่ทุกภาคของประเทศไทย
คาดว่าจะสามารถชดเชยการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่า 1.2 ล้านตันต่อปี และจะสามารถดูดซับกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ทั้งสิ้น ประมาณ 23.6 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ ตลอดระยะเวลาโครงการฯ
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: