กรุงเทพฯ – สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ระบุ วิธีการลงคะแนนเสียงในแต่ละประเทศแตกต่างกัน ผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องติดตามข้อมูลข่าวสาร รายละเอียดของประเทศที่ตนมีสิทธิเลือกตั้งอย่างใกล้ชิด
วันที่ 28 เมษายน 2566 สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แจ้งเน้นย้ำผู้มีสิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร ให้ติดตามข้อมูลข่าวสาร รายละเอียด และวิธีการลงคะแนนเสียงนอกราชอาณาจักรในแต่ละประเทศ ที่ตนเองมีสิทธิเลือกตั้งอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะทางสื่อสังคมออนไลน์ อาทิ Facebook Page ของสถานเอกอัครราชทูตที่ตนเองพำนักอยู่ ว่ากำหนดวิธีการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ด้วยวิธีการใด และกำหนดระยะเวลาออกเสียงไว้อย่างไร เนื่องจากแต่ละประเทศอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งแตกต่างกันไป เช่น บางประเทศเปิดให้ลงคะแนนผ่านทางไปรษณีย์ได้ทางเดียว หรือบางประเทศมีการเปิดคูหาที่สถานเอกอัครราชทูต หรือสถานกงสุลใหญ่ และสถานที่อื่น ๆ ได้แก่ แคมป์คนงาน เป็นต้น
ดังนั้น ผู้มีสิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร จะต้องติดตามข้อมูลข่าวสารว่า ประเทศที่ตนเองพำนักอยู่นั้น เปิดให้ลงคะแนนเสียงด้วยวิธีใด
นอกจากนี้ ในแต่ละประเทศยังกำหนดระยะเวลาการลงคะแนนเสียงที่แตกต่างกัน ซึ่งผู้มีสิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรที่ตนเองพำนักอยู่ จะต้องปฏิบัติตามขั้นตอนที่เอกอัครราชทูต หรือกงสุลใหญ่ กำหนด พร้อมทั้งตรวจรหัสเขตเลือกตั้ง 5 ตัว (ซึ่งไม่ใช่รหัสไปรษณีย์) ให้ถูกต้องครบถ้วน
ข่าวน่าสนใจ:
- ตรัง "โลกเปลี่ยน เราไม่เปลี่ยน" บอกรักทะเลด้วยสองมือ ณ หาดฉางหลาง ทะเลตรัง ก้าวขา-พาสองมือเก็บขยะทะเล รังสรรค์งานศิลป์
- เปิดศึกชิงนายก อบจ.ปัตตานี อดีต สส.ท้าชน อดีตนายก อบจ.4 สมัยเดือดตั้งแต่วันแรก (มีคลิป)
- กองเชียร์นายกก้อยคึก แม้ไม่มีคู่แข่งดีกรีพอทาบบารมีได้ ในสนามชิงนายก อบจ.แปดริ้ว
- สมัคร อบจ.สมุทรสาคร วันแรก “ปลัดแต” ชน “เฮียโต้” พรรคประชาชน
โดยผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะได้รับซอง 2 แบบ คือ
1.ซองใส่บัตรเลือกตั้ง (ส.ส.5/2) ซึ่งเป็นซองขนาดเล็ก สำหรับใส่บัตรเลือกตั้ง เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศ จ่าหน้าซองพร้อมรหัสเขตเลือกตั้ง 5 ตัว (ซึ่งไม่ใช่รหัสไปรษณีย์) ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งแล้ว ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะต้องนำบัตรเลือกตั้งที่ (กากบาท) ลงคะแนนเลือกตั้งแล้ว ทั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง และแบบบัญชีรายชื่อพรรคการเมือง พับใส่ในซอง แล้วปิดผนึก ซึ่งซองดังกล่าวนี้จะมีช่องให้กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง เป็นผู้ลงนามกำกับตรงรอยปิดผนึก เพื่อยืนยันว่า
ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งได้ใส่บัตรเลือกตั้งทั้ง 2 แบบ เรียบร้อยแล้ว
2.ซองใส่เอกสาร (ส.ส.5/21 (นร)) ซึ่งเป็นซองขนาดใหญ่ สำหรับใส่ซองบัตรเลือกตั้ง (ตามข้อ 1) และใส่สำเนาหลักฐานที่ใช้ประกอบการลงคะแนนเลือกตั้ง ที่ได้ลงลายมือชื่อรับรองความถูกต้อง เช่น สำเนาหนังสือเดินทาง สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน บรรจุในซองใส่เอกสาร พร้อมกับปิดผนึกลงลายมือชื่อกำกับตรงรอยต่อผนึกแล้วส่งคืนแก่เอกอัครราชทูตภายในเวลาที่กำหนด
ส่วนกรณีใช้สิทธิออกเสียงลงคะแนนทางไปรษณีย์ จะมีขั้นตอนที่ 3 คือ
หลังสถานเอกอัครราชทูต หรือผู้ได้รับมอบหมาย ได้รับซองใส่เอกสาร (ตามข้อ 2) กลับคืนจากผู้มีสิทธิเลือกตั้งแล้ว กรรมการประจำที่เลือกตั้งจะลงลายมือชื่อกำกับตรงรอยต่อผนึก เพื่อมาคัดดแยกเป็นรายจังหวัดและรายเขตเลือกตั้ง แล้วใส่ในถุงวัสดุใส ในถุงเมล์การทูตหรือหีบบัตรเลือกตั้ง เพื่อนำส่งไปนับคะแนน ณ สถานที่นับคะแนนของแต่ละเขตเลือกตั้ง ในจังหวัดที่ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน
หากมีข้อสงสัยประการใด สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้ที่สถานเอกอัครราชทูต และสถานกงสุลใหญ่ ของแต่ละประเทศที่ตนพำนักอยู่ เพื่อรักษาสิทธิในการเลือกตั้ง ส.ส.เป็นการทั่วไป พ.ศ.2566
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: