X

สธ.ปรับแนวทาง หากระบุสาเหตุการตายไม่ได้ ให้ผ่าชันสูตรทุกราย

กรุงเทพฯ – โฆษกกระทรวงสาธารณสุข แจง การตัดสินใจผ่าพิสูจน์ศพ เป็นอำนาจของพนักงานสอบสวน แต่หลังกรณีฆาตกรรมด้วยไซยาไนด์ กระทรวงได้ปรับแนวทาง ให้แพทย์ผ่าชันสูตรทุกศพที่ไม่สามารถระบุสาเหตุการเสียชีวิตที่แท้จริงได้ ฟรี

วันที่ 29 เมษายน 2566 นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ หัวหน้าที่ปรึกษาระดับกระทรวง (นพ.ทรงคุณวุฒิระดับ 11) และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข ชี้แจงข่าวการฆาตกรรมโดยใช้สารไซยาไนด์ ซึ่งมีผู้ตั้งประเด็นคำถาม ถึงการชันสูตรพลิกศพที่ตายผิดธรรมชาติ ว่า  กระบวนการและขั้นตอนการพิสูจน์ศพ เมื่อพนักงานสอบสวนไปตรวจสอบที่เกิดเหตุจะแจ้งแพทย์ไปร่วมตรวจสอบด้วย โดยอำนาจในการตัดสินใจผ่าพิสูจน์ศพเป็นของพนักงานสอบสวน ในฐานะหัวหน้าทีมชันสูตรพลิกศพในที่เกิดเหตุ ซึ่งจะให้มีการผ่าพิสูจน์ เมื่อแพทย์ไม่สามารถหาสาเหตุการตายที่ชัดเจนได้ และเป็นการตายที่ผิดธรรมชาติ 5 ลักษณะ ได้แก่ การฆ่าตัวตาย, ถูกผู้อื่นทำให้ตาย, สัตว์ทำร้าย, ตายโดยอุบัติเหตุ และตายโดยไม่ปรากฎเหตุ

แต่หากญาติไม่ติดใจการตาย และพนักงานสอบสวนเห็นด้วยกับญาติ ก็จะไม่มีการส่งผ่าพิสูจน์ โดยแพทย์จะทำความเห็นเบื้องต้น เขียนใบรายงานชันสูตรพลิกศพในที่เกิดเหตุ และออกหนังสือรับรองการตาย เพื่อให้ญาตินำศพไปประกอบพิธีกรรมทางศาสนาซึ่งจะระบุเหตุผลการเสียชีวิตกว้าง ๆ เช่น ระบบไหลเวียนโลหิตล้มเหลว หรือหัวใจวายเฉียบพลัน เนื่องจากไม่มีร่องรอยบาดแผล ถูกทำร้าย หรือฆ่าตัวตาย

นพ.รุ่งเรือง กล่าวต่อว่า จากกรณีล่าสุดที่เกิดขึ้น กระทรวงสาธารณสุขได้ปรับแนวทางในการชันสูตรพลิกศพ โดยให้แพทย์ผ่าชันสูตรทุกศพ ที่ไม่สามารถระบุถึงการเสียชีวิตที่แท้จริงได้ และจะไม่มีการเรียกเก็บค่าใช้จ่าย เพื่อสร้างความชัดเจนและนำไปสู่การป้องกันเหตุ หรือสืบหาต้นตอของการเสียชีวิตได้

สำหรับการตรวจหาสารไซยาไนด์ หน่วยงานของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ทั่วประเทศ สามารถตรวจวิเคราะห์ยืนยันไซยาไนด์ ในตัวอย่าง น้ำล้างกระเพาะอาหารวัตถุต้องสงสัย ได้ในระยะเวลา 5-7 วันทำการ  ส่วนการหาปริมาณไซยาไนด์ในตัวอย่างเลือด ใช้ระยะเวลา 22-30 วันทำการ และการหาปริมาณเมตาบอไลด์ในตัวอย่างปัสสาวะใช้ระยะเวลา 5-10 วันทำการ

สารไซยาไนด์ เป็นสารเคมีที่มีความเป็นพิษสูงมาก พบได้ 2 รูปแบบ คือ

ลักษณะของแข็ง เรียกว่า ‘เกลือไซยาไนด์’ เป็นโซเดียมไซยาไนด์ หรือ โปแตสเซียมไซยาไนด์

และลักษณะของก๊าซ เรียกว่า ‘ไฮโดรเจนไซยาไนด์’

ซึ่งเมื่อได้รับเข้าสู่ร่างกาย จะไปยับยั้งขบวนการทำงานของเซลล์ ทำให้เกิดภาวะขาดออกซิเจน มีผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด ทำให้ความดันโลหิตตก รวมถึงเกิดภาวะสมองขาดออกซิเจน ส่งผลทำให้ชักหรือหมดสติ และมีการหายใจช้าถึงหยุดหายใจนอกจากนี้ ยังพบได้ตามธรรมชาติในพืชบางชนิด เช่น มันสำปะหลัง สบู่ดำ หน่อไม้ ถั่วลิมา อัลมอนด์ชนิดขม โดยอยู่ในรูปไซยาโนไกลโคไซด์ต่างๆ กัน หากรับประทานในปริมาณมากๆ อาจเกิดการสะสมเป็นพิษได้ โดยเฉพาะหน่อไม้หมักดอง และมันสำปะหลังจึงควรต้องทำความสะอาดและทำให้สุกก่อนรับประทาน

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

Picture of ลักขณา สุริยงค์

ลักขณา สุริยงค์

ทำหน้าที่สื่อมวลชนมาเกือบ 30 ปี ทั้งงานสายข่าวและจัดรายการทีวี-วิทยุมานับไม่ถ้วน "ไม่เป็นกลาง แต่เป็นธรรม พร้อมนำเสนอความจริง"