X

54 ปี กฟผ. เร่งขยาย ‘โซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริด’ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียว สังคมไร้คาร์บอน

กรุงเทพฯ – กฟผ. เร่งเดินหน้าโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดในเขื่อน รองรับความต้องการไฟฟ้าสีเขียวภาคธุรกิจ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ พร้อมศึกษาเทคโนโลยีผลิตไฟฟ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เตรียมยกระดับฉลากเบอร์ 5 แสดงตัวเลขลดการปล่อยคาร์บอน ควบคู่กับการเพิ่มพื้นที่สีเขียวผ่านโครงการปลูกป่าล้านไร่

นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยทิศทางการขับเคลื่อน กฟผ. เนื่องในโอกาสครบรอบ 54 ปี วันคล้ายวันสถาปนา กฟผ. ในวันที่ 1 พฤษภาคม 2566 ว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังสถานการณ์โควิด-19 ทำให้คาดการณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าในระบบ กฟผ. ปี 2566 อยู่ที่ 208,187 ล้านหน่วย (GWh) เพิ่มขึ้น 3.32% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ซึ่งเทรนด์พลังงานโลกรวมถึงประเทศไทย มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสีเขียวจากพลังงานหมุนเวียนในภาคธุรกิจและการลงทุนมากขึ้น เพื่อลดอุปสรรคทางการค้า จากมาตรการภาษีคาร์บอน ในปี 2566

กฟผ. จึงเร่งเดินหน้าโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำ ร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำ เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ชุดที่ 1 กำลังผลิต 24 เมกะวัตต์ ที่มีการติดตั้งแบตเตอรี่กักเก็บพลังงาน (BESS) เพื่อรักษาเสถียรภาพของระบบไฟฟ้า ในช่วงเปลี่ยนผ่านพลังงาน ระหว่างพลังงานแสงอาทิตย์เป็นพลังงานน้ำ รวมทั้งเพิ่มความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศ

โซลาร์เซลล์ สิรินธรทั้งนี้ กฟผ. มีศักยภาพดำเนินโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดในเขื่อนสูงถึง 10,000 เมกะวัตต์ โดยเตรียมเสนอโครงการต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อรองรับความต้องการไฟฟ้าสีเขียวของภาคธุรกิจ ควบคู่กับการเดินหน้าส่งเสริมใบรับรองเครดิตการผลิตพลังงานหมุนเวียน (REC) เพื่อยืนยันการใช้พลังงานไฟฟ้าสีเขียวตามมาตรฐานสากล โดย กฟผ. ได้รับสิทธิ์จาก I-REC ประเทศเนเธอร์แลนด์ ให้เป็นผู้รับรอง (Local Issuer) รายเดียวของประเทศไทย ซึ่งตลอด 3 ปีที่ผ่านมา กฟผ. ออกใบรับรอง REC ให้แก่ผู้ผลิตพลังงานหมุนเวียนของไทยแล้วกว่า 5.58 ล้าน REC โดยในปี 2565 การออกใบรับรอง REC ขยายตัวเพิ่มขึ้นกว่า 106%

นายบุญญนิตย์ กล่าวอีกว่า กฟผ. ยังเดินหน้าศึกษาเทคโนโลยีพลังงานสะอาด อาทิ การใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนและแอมโมเนีย ที่ไม่ปล่อยคาร์บอนระหว่างการเผาไหม้ เพื่อเป็นเชื้อเพลิงทางเลือกในการผลิตไฟฟ้า เทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture Utilization and Storage : CCUS) เช่น การนำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการผลิตไฟฟ้า มาแปรรูปเป็นเมทานอลสำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิงในภาคอุตสาหกรรม โดยศึกษาใน 2 พื้นที่หลัก ได้แก่ โรงไฟฟ้าน้ำพอง จ.ขอนแก่น และ กฟผ.แม่เมาะ จ.ลำปาง

เดินหน้าโครงการนำร่องการพัฒนาสมาร์ทกริด ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน เพื่อเป็นต้นแบบการพัฒนาระบบไฟฟ้าสำหรับพื้นที่สูงหรือพื้นที่ห่างไกลให้มีความมั่นคงทางพลังงาน โดยนำเทคโนโลยีสมาร์ทกริดเข้ามาบริหารจัดการเชื่อมโยงระบบผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์และโรงไฟฟ้าในพื้นที่ใน จ.แม่ฮ่องสอน ให้ทำงานร่วมกันอย่างสมดุล ควบคู่กับการพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าให้มีความทันสมัย (Grid Modernization) เพื่อรองรับการเพิ่มขึ้นของพลังงานหมุนเวียน เช่น

♦ พัฒนาโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ ซึ่งเป็นระบบกักเก็บพลังงานขนาดใหญ่ด้วยพลังน้ำที่มีต้นทุนการผลิตไฟฟ้าต่อหน่วยต่ำ สามารถปล่อยน้ำมาผลิตไฟฟ้าภายในเวลาไม่ถึง 5 นาที จึงรองรับความไม่เสถียรของกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้อย่างทันท่วงที โดยปัจจุบัน กฟผ. มีแผนดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับเขื่อนจุฬาภรณ์ จ.ชัยภูมิ กำลังผลิต 800 เมกะวัตต์ ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

♦ จัดตั้งศูนย์พยากรณ์การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (RE Forecast Center) ตั้งเป้าดำเนินการ 17 แห่ง ทั่วประเทศ แบ่งเป็น ระดับภูมิภาค 6 แห่ง และระดับพื้นที่ที่มีศักยภาพของพลังงานหมุนเวียนตามสถานีไฟฟ้าแรงสูง 11 แห่ง คาดว่าเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการได้ในปี 2567 และ 2570 ตามลำดับ

♦ นำร่องปรับปรุงสถานีไฟฟ้าแรงสูงดิจิทัล (Digital Substation) ปัจจุบันดำเนินการแล้วเสร็จ 2 แห่ง คือ สถานีไฟฟ้าแรงสูงกันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ และสถานีไฟฟ้าแรงสูงตราด จ.ตราด ส่วนสถานีไฟฟ้าแรงสูงสตูล จ.สตูล และสถานีไฟฟ้าแรงสูงแม่เมาะ 2 จ.ลำปาง คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จในเดือนพฤษภาคม 2566 ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสามารถในการควบคุมและส่งจ่ายไฟฟ้าอย่างมีเสถียรภาพมากขึ้น

สำหรับภารกิจด้านเชื้อเพลิง กฟผ. ได้ร่วมกับ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เพิ่มความมั่นคงในการจัดหาเชื้อเพลิง LNG ของประเทศ โดยเข้าร่วมทุนในบริษัท LNG Receiving Terminal แห่งที่ 2 บ้านหนองแฟบ จ.ระยอง ในสัดส่วนการถือหุ้นร้อยละ 50 ซึ่งคาดว่าจะร่วมลงทุนได้ภายในปี 2566

ผู้ว่า กฟผ. ยังเปิดเผยถึงการสนับสนุนระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศ ว่า ปัจจุบัน กฟผ. เปิดให้บริการสถานีชาร์จ EleX by EGAT และสถานีพันธมิตรในเครือข่าย EleXA แล้ว 120 แห่งทั่วประเทศ โดยในปี 2566 ตั้งเป้าขยายสถานีให้ได้รวมกว่า 180 แห่ง รวมถึงขยายความร่วมมือจาก 5 หน่วยงาน เป็น 12 หน่วยงานพันธมิตรเชื่อมโยงโครงข่ายสถานีชาร์จอีวี เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้อีวี สามารถดูหมุดสถานีชาร์จข้ามค่ายได้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ กฟผ. ยังเตรียมยกระดับการจัดการใช้พลังงานของภาคประชาชนให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และลดคาร์บอนอย่างเป็นรูปธรรม ผ่านฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 โฉมใหม่ ที่แสดงค่าการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของเครื่องใช้ไฟฟ้า กำหนดเปิดตัวอย่างเป็นทางการในเดือนกันยายนนี้ รวมถึงเดินหน้าเพิ่มพื้นที่สีเขียวอย่างต่อเนื่องผ่านโครงการปลูกป่าล้านไร่อย่างมีส่วนร่วม ทั้งป่าต้นน้ำ ป่าชุมชน และป่าชายเลน โดยในปี 2565 สามารถเพิ่มพื้นที่ปลูกป่ารวมกว่า 1.03 แสนไร่ ตั้งเป้าปลูกป่าในปี 2566 จำนวน 1 แสนไร่ โดยมีเป้าหมายปลูกป่าให้ครบ 1 ล้านไร่ในปี 2574

“กฟผ. มุ่งมั่นเดินหน้าเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนและพัฒนานวัตกรรมพลังงาน หวังชูจุดแข็งไฟฟ้าสีเขียวและความมั่นคงเชื่อถือได้ของระบบไฟฟ้าเพื่อความอยู่ดีมีสุขของคนไทย และขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศทั้งในระดับภูมิภาคและนานาชาติสู่สังคมไร้คาร์บอนอย่างยั่งยืน” นายบุญญนิตย์ กล่าวทิ้งท้าย

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

Picture of ลักขณา สุริยงค์

ลักขณา สุริยงค์

ทำหน้าที่สื่อมวลชนมาเกือบ 30 ปี ทั้งงานสายข่าวและจัดรายการทีวี-วิทยุมานับไม่ถ้วน "ไม่เป็นกลาง แต่เป็นธรรม พร้อมนำเสนอความจริง"