กรุงเทพฯ – รัฐมนตรีแรงงาน รับ 7 ข้อเรียกร้องจากแรงงาน ย้ำ กระทรวงแรงงานมุ่งมั่นส่งเสริมให้แรงงานมีงานทำ พัฒนาศักยภาพให้สูงขึ้นในทุกมิติ สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศที่เปลี่ยนไป
วันที่ 1 พฤษภาคม 2566 สภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานแห่งประเทศไทย เดินขบวนเนื่องในวันแรงงานแห่งชาติ และวันแรงงานสากล ประจำปี 2566 จากสะพานมัฆวานรังสรรค์ ไปยังลานคนเมือง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร สถานที่จัดงานวันแรงงาน ในวันนี้
โดยปีนี้ สภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานแห่งประเทศไทย ยื่นข้อเรียกร้อง 7 ข้อ ถึงรัฐบาล ผ่าน นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ประกอบด้วย
1.รัฐบาลต้องรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ
ข่าวน่าสนใจ:
2.ให้รัฐบาลตราพระราชบัญญัติ – หรือประกาศเป็นกฎกระทรวง ให้มีการจัดตั้งกองทุนประกันความเสี่ยง ‘เพื่อเป็นหลักประกัน’ ในการทำงานของลูกจ้าง
3.ให้รัฐบาลปฏิรูป แก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับประกันสังคม
4.ขอให้รัฐบาล (กระทรวงแรงงาน) จัดสร้างโรงพยาบาลประกันสังคม และจัดตั้งธนาคารแรงงานเพื่อผู้ใช้แรงงาน
5.ขอให้รัฐเร่งรัดให้ได้ข้อสรุปในแนวทางจัดระบบสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลหลังเกษียณอายุให้ลูกจ้างภาครัฐวิสาหกิจได้มีระบบสวัสดิการจากรัฐเทียบเคียงกับข้าราชการบำนาญและลูกจ้างที่อยู่ในระบบประกันสังคมมาตรา 33 รวมถึงการให้ลูกจ้างภาครัฐวิสาหกิจได้รับการลดหย่อนภาษีเงินได้จากค่าตอบแทนความชอบด้วยหลักเกณฑ์เช่นเดียวกับการลดหย่อนเงินได้ก้อนสุดท้ายหรือลดหย่อนเงินค่าชดเชยที่ลูกจ้างเอกชนได้รับเมื่อถูกเลิกจ้าง ซึ่งได้ยื่นข้อเรียกร้องในวันแรงงานแห่งชาติไปแล้วและภาครัฐกำลังอยู่ระหว่างพิจารณาดำเนินการ
6.เพื่อเพิ่มหลักประกันความมั่นคงให้กับลูกจ้าง ขอให้รัฐบาลเร่งดำเนินการให้พระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ มีผลบังคับใช้โดยเร็ว
7.ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน แต่งตั้งคณะทำงานติดตามข้อเรียกร้องวันแรงงานแห่งชาติ ปี พ.ศ.2566 และจัดให้มีการประชุมเพื่อติดตามผลทุก 2 เดือน โดยข้อเรียกร้องที่กล่าวมานั้น เพื่อนำเสนอปัญหาที่มีผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่และความต้องการของพี่น้องแรงงาน
ทั้งนี้ เชื่อมั่นว่าข้อเรียกร้องทั้ง 7 ข้อ จะเร่งดำเนินการและติดตามให้พี่น้องผู้ใช้แรงงานพึงได้รับตามกฎหมาย เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงในการทำงาน มีหลักประกัน และมีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป
รัฐบาล มุ่งมั่น ส่งเสริมให้แรงงานมีงานทำ พร้อมพัฒนาศักยภาพแรงงาน
นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ระบุว่า กระทรวงแรงงานตระหนักถึงความสำคัญของพี่น้องผู้ใช้แรงงาน ซึ่งถือว่าเป็นฟันเฟืองสำคัญ ในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศให้เจริญก้าวหน้า ทันสมัย ทัดเทียมกับนานาประเทศ ทั้งในภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตรกรรม และภาคธุรกิจบริการ ช่วงที่ผ่านมา ประเทศไทยประสบปัญหา การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รัฐบาลได้มีมาตรการลดภาระค่าครองชีพ และเพิ่มรายรับให้ผู้ใช้แรงงาน ผ่านโครงการสำคัญต่าง ๆ ทำให้โรงงานไม่ต้องปิดตัว ส่งผลให้การส่งออกปี 2564 ขยายตัวสูงสุดในรอบ 11 ปี แม้สถานการณ์จะคลี่คลายลง รัฐบาลยังคงมุ่งมั่นดูแลพี่น้องผู้ใช้แรงงาน โดยมีมติเห็นชอบให้ขยายความคุ้มครองให้ผู้ประกันตน โดยขยายอายุขั้นสูงจาก 60 เป็น 65 ปี ให้สิทธิผู้ประกันตน มาตรา 33 และมาตรา 39 ที่เข้าหลักเกณฑ์เป็นผู้มีสิทธิรับเงินกรณีชราภาพ เพิ่มอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรายวัน และปรับอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน
นอกจากนี้ ยังสนับสนุนการทำงานที่บ้าน (เวิร์คฟอร์มโฮม) โดยพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 8) พ.ศ.2566 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2566 เพื่อเปิดทางให้นายจ้างและลูกจ้างได้ตกลงเวลาทำงาน พักผ่อน วันลา ให้ชัดเจน ให้สิทธิลูกจ้างปฏิเสธการติดต่อสื่อสารหลังเวลางานได้
ทั้งนี้ รัฐบาลมีความมุ่งมั่น ส่งเสริมให้แรงงานมีงานทำ ได้รับการพัฒนาแรงงานให้มีศักยภาพสูงในทุกมิติ สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศที่เปลี่ยนแปลงไป ให้การส่งเสริมให้ผู้ใช้แรงงานได้รับความคุ้มครองอย่างทั่วถึง ให้มีความปลอดภัยในการทำงาน ยกระดับประกันสังคมเพื่อให้แรงงานได้รับประโยชน์สูงสุด เร่งรัดปรับปรุง แก้ไขกฎหมายให้สอดคล้องกับบริบทสถานการณ์ปัจจุบันและรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต นำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: