กรุงเทพฯ – พรรคพลังประชารัฐ นำเสนอนโยบายโค้งสุดท้าย ชู ดูแลปากท้องทุกด้าน ย้ำ ก้าวข้ามความขัดแย้ง เพื่อก้าวข้ามความยากจน พลิกโฉม กระตุ้นเศรษฐกิจไทย ลดราคาพลังงาน
วันที่ 4 พฤษภาคม 2566 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ นำทัพดรีมทีมเศรษฐกิจของพรรค ประกอบด้วย นายสันติ พร้อมพัฒน์ เลขาธิการพรรค, นายอุตตม สาวนายน ประธานคณะกรรมการฝ่ายจัดทำนโยบายพรรค, นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ที่ปรึกษาคณะกรรมการนโยบายพรรค, นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ประธานยุทธศาสตร์การเมืองพรรค, นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ กรรมการขับเคลื่อนนโยบายพรรค, นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เหรัญญิกพรรค, นายคณิศ แสงสุพรรณ ที่ปรึกษาคณะกรรมการนโยบายพรรค พปชร. และ ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี กรรมการจัดทำนโยบายพรรคพลังประชารัฐ แถลงข่าว ‘สรุปนโยบาย โค้งสุดท้าย สู่การเลือกตั้ง เป็นรัฐบาลประชารัฐ’
พล.อ.ประวิตร ระบุว่า วันนี้ ถือเป็นโค้งสุดท้าย ที่จะหาเสียงเลือกตั้ง การหาเสียง 45 วันที่ผ่านมา พรรคได้มุ่งเน้นการเข้าถึงประชาชน ทุกกลุ่ม ทุกเพศ ทุกช่วงวัย ให้ได้รับโอกาสที่ดี มีชีวิตความเป็นอยู่ การประกอบอาชีพที่มั่นคง และพร้อมจะนำนโยบายทั้งหมด สู่การลงมือทำทันที เมื่อได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล เพื่อที่จะทำให้ประชาชนได้รับประโยชน์ ประกอบด้วย
1.ก้าวข้ามความขัดแย้ง
2.ก้าวข้ามความยากจน
3.ลดความเหลื่อมล้ำ
4.สร้างระบบรัฐสวัสดิการที่เข้มแข็ง
5.พลิกฟื้นเศรษฐกิจ
6.สร้างความเป็นธรรมทางสังคม (สังคมสีขาว)
7. พลิกโฉมการบริหารงานภาครัฐ
พล.อ.ประวิตร ย้ำว่า เป้าหมายของการก้าวข้ามความขัดแย้ง ให้คนไทยทุกคนมีความรัก สามัคคี เป็นหนึ่งเดียว เพื่อให้ประเทศเกิดความสงบสุข รัฐบาลสามารถบริหารประเทศได้อย่างราบรื่น จะเกิดผลดีต่อเศรษกิจ การค้า การลงทุน ไม่หยุดชะงัก ความรักใคร่ของทุกคนจะทำให้ประเทศชาติเจริญรุ่งเรือง ส่วนการก้าวข้ามความยากจน จะเน้นเรื่องที่ทำกินและแหล่งน้ำ ซึ่งพรรคมีนโยบาย ‘มีเรามีน้ำไม่แล้ง’ โดยดูแลเกษตรกรให้มีความเข้มแข็ง
ข่าวน่าสนใจ:
- กทม. ร่วม"ฟูกูโอกะ" เปิดงาน "Fukuoka Fair" ฉลอง 18 ปีเมืองพี่เมืองน้อง
- ปิดตำนานนักเขียน "ตรี อภิรุม" ศิลปินแห่งชาติฯ เจ้าของผลงาน "นาคี"
- ศูนย์วัฒนธรรมเกาหลีฯ จัดกิจกรรม"วันกิมจิ"เผยแพร่การทำกิมจิ ผู้สนใจเข้าร่วมงานกว่า 700 คน
- ตรัง คู่ซี้ พระ-ฆราวาส เมาแอ๋ด่าทอชาวบ้านใกล้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก อาละวาดอ้างมีปืน ทำชาวบ้านแตกตื่น ตร.หิ้วปีกบังคับสึก กร่างไม่เลิกบอกรู้จักพระผู้ใหญ่
ด้านนายอุตตม นำเสนอนโยบายเร่งด่วนที่จะต้องทำทันที เมื่อได้เป็นรัฐบาล ประกอบด้วย
1.กระตุ้นเศรษฐกิจให้พลิกฟื้นจริงทันที
2.เร่งการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างมีพลัง เต็มศักยภาพ
3.เร่งรัดสร้างฐานรากการพัฒนาพลิกโฉมประเทศไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน ทั่วถึง ให้มีภูมิคุ้มกันที่เข้มแข็ง โดย ‘เปลี่ยนวิกฤติเป็นโอกาส เพื่ออนาคตที่ดีของคนไทย’
พปชร.มุ่งการแก้ปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม แก้ไขหนี้สินอย่างครบวงจร เติมทุนใหม่ เพิ่มโอกาสใหม่ เพิ่มทักษะให้ประชาชนมีโอกาสที่จะทำมาหากิน พร้อมเติมทุนให้เกษตรกร 30,000 บาทต่อครอบครัว เพื่อใช้ในการลงทุน
ส่วนนายสนธิรัตน์ เสนอสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน ด้วยการจัดโครงสร้างกองทุนหมู่บ้าน กองทุนละ 2 แสนบาท ภายใต้งบประมาณ 1 แสนล้านบาท ส่วนภาคเกษตร ที่มีประชากรอยู่ 10 ล้านคน จะลดค่าใช้จ่าย แก้ปัญหาปุ๋ยแพงทันที โดยโครงการปุ๋ยคนละครึ่ง จัดตั้งกองทุนปุ๋ยประชารัฐ จะให้ทุนการเพาะปลูก 30,000 บาท ครอบคลุม 8 ล้านครัวเรือน รวมถึงเขตเศรษฐกิจพิเศษด้านการเกษตร คือ เขตเศรษฐกิจพิเศษปาล์มน้ำมัน สำหรับนโยบายด้านสาธารณสุข จะเน้นสาธารณสุขเชิงป้องกันมากกว่ารักษา โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามา มี รพ.สต.เป็นฐานหลัก
ด้านนายมิ่งขวัญ ย้ำจะลดราคาพลัง โดยน้ำมันเบนซินลดลงลิตรละ 18 บาท ดีเซลลิตรละ 6.30 บาท ทันที เมื่อได้เป็นรัฐบาล ไม่ว่าน้ำมันโลกจะขึ้นหรือลง ค่าไฟฟ้า ภาคครัวเรือนจะอยู่ที่ 2.50 บาทต่อหน่วย ภาคอุตสาหกรรมจะอยู่ที่ 2.70 บาทต่อหน่วย นอกจากนี้ จะผลักดันนโยบายเบี้ยผู้สูงอายุ โดยอายุ 60 ปีขึ้นไป จะได้เบี้ยผู้สูงอายุ 3,000 บาท อายุ 70 ปี ขึ้นไปได้ 4,000 บาท อายุ 80 ปีขึ้นไป ได้ 5,000 บาท
ขณะที่นายสันติ กล่าวถึงนโยบาย ‘อีสานประชารัฐ’ ซึ่งการพัฒนาภาคอีสาน จะเริ่มต้นจากการมีโครงการรถไฟความเร็วปานกลาง วิ่งตั้งแต่ จ.บึงกาฬ มาถึงภาคตะวันออก ซึ่งเป็นพื้นที่อีอีซี
ส่วนนายคณิศ ยืนยันว่า นโยบายของ พปชร. จะไม่แจกเงินคนรวย เพื่อให้ทุกคนกลับฟื้นคืนมา ก้าวไปข้างหน้าร่วมกัน สำหรับนโยบายระยะยาวนั้น จะทำเขตพัฒนาเศรษฐกิจชายแดนภาคใต้ ใน 5 จังหวัด ซึ่งเป็นนโยบายที่ได้รับการตอบรับดี ไม่ได้ทำร้ายใคร แต่ทำให้ทุกคนดีขึ้น
นายธีระชัย กล่าวว่า พปชร.มีนโยบายสร้างรายได้ให้ประเทศและประชาชนนอกจากกลไกการลงทุน คือ วิธีไฟแนนซ์นโยบาย ได้แก่ 1.โยกมาจากงบประมาณประเภทอื่น 2.ปฏิรูปภาษี 3.มาจากการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ และ 4.ถ้างบประมาณไม่เพียงพอ จำเป็นต้องเพิ่มหนี้สาธารณะ ในส่วนของหนี้สาธารณะยังสามารถบริหารจัดการได้ ถ้าเพิ่มไปบ้างสามารถบริหารจัดการได้ถ้าเรามีนโยบายที่เพิ่มรายได้อย่างเหมาะสม แต่เราจะต้องได้คะแนนเสียงพอเพื่อจับมือกันแก้กฎหมาย หรือยกระดับในเรื่องการบริหารหนี้สาธารณะชั่วคราว
ทั้งนี้ เมื่อคำนวณไฟแนนซ์จากการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ
♦ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 700 บาทต่อเดือน จะก่อให้เกิดการหมุนเวียน 735,336 ล้านบาท จะทำให้เศรษฐกิจมหภาคขยายตัวได้ 0.6% ต่อปี
♦ เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ จะก่อให้เกิดเงินหมุนเวียน 3 ล้านล้านบาท จะทำให้เศรษฐกิจมหภาคขยายตัวได้ 2.5% ต่อปี
♦ นโยบาย 8 ล้านครอบครัว จะก่อให้เกิดเงินหมุนเวียน 1.4 ล้านล้านบาท จะทำให้เศรษฐกิจมหภาคขยายตัวได้ 1.2% ต่อปี
♦ นโยบายโซลาร์รูฟท็อป จะก่อให้เกิดเงินหมุนเวียน 7.2 แสนล้านบาท จะทำให้เศรษฐกิจมหภาคขยายตัวได้ 0.6% ต่อปี
♦ นโยบาย 1 อบต. 1 โซลาร์ฟาร์ม จะก่อให้เกิดเงินหมุนเวียน 7.2 แสนล้านบาท จะทำให้เศรษฐกิจมหภาคขยายตัวได้ 0.6%ต่อปี
♦ นโยบายเปลี่ยนรถน้ำมันเป็นรถไฟฟ้า จะก่อให้เกิดเงินหมุนเวียน 1.2 ล้านล้านบาท จะทำให้เศรษฐกิจมหภาคขยายตัวได้ 1% ต่อปี
♦ การจัดตั้งองค์กรทรัพยากรพลังงานแห่งชาติ ให้เป็นผู้รับประโยชน์จากสัมปทานแหล่งก๊าซและน้ำมันที่จะทยอยหมดอายุลง โดยภายใน 4 ปี รัฐจะมีรายได้เพิ่มขึ้นปี 1 แสนล้านบาท เสริมเข้ามาเป็นงบประมาณแผ่นดิน
นางนฤมล กล่าวถึงนโยบายเศรษฐกิจใน กทม. จากการลงพื้นที่ สิ่งที่ชาว กทม.ต้องการ คือ การพัฒนาคุณภาพชีวิต การฟื้นฟูเศรษฐกิจ และการพัฒนาอย่างยั่งยืน ต้องไม่ใช่นโยบายหรือแผนนโยบายที่ทำระยะสั้น จะต่อยอดสิ่งที่ พล.อ.ประวิตร ทำไว้ คือ ที่อยู่อาศัย จะทำบ้านประชารัฐต่อไป โดยไม่ต้องใช้งบประมาณจากรัฐบาล แต่ใช้การร่วมทุนกับเอกชน ส่งเสริมอุตสาหกรรมดิจิทัล ส่วนเรื่องการพัฒนาการยั่งยืนนั้น จะใช้กลไกกองทุนธุรกิจเพื่อสังคม สามารถทำได้ทันที จะใช้เม็ดเงินระดมทุนจากตลาดทุนส่งเสริมให้เกิดธุรกิจเพื่อสังคม
พล.อ.ประวิตร กล่าวสรุปในตอนท้าย ยืนยันว่า ถ้าเป็นรัฐบาล จะทำทุกนโยบายที่ประกาศไว้ทันที อีกนโยบายที่ถือว่าสำคัญ คือ นโยบายการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด จะต้องนำมารวมกัน ต้องมีการป้องกัน ปราบปราม และบำบัดฟื้นฟู จะหางบประมาณก้อนหนึ่งเพื่อดำเนินการเรื่องนี้โดยเฉพาะ
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: