กรุงเทพฯ – กรมอุตุนิยมวิทยา ยืนยัน ไม่มีพายุ 2 ลูกเคลื่อนเข้าไทย ขนาบซ้าย-ขวาตามข่าวลือในสื่อออนไลน์ ส่วนพายุไซโคลน ‘โมคา’ ส่งผลทางอ้อมให้มีฝนตกต่อเนื่องทางตอนบน ตั้งแต่ 11-14 พ.ค.66 ซึ่งเป็นวันเลือกตั้ง ที่จะมีฝนตกต่อเนื่องหลายพื้นที่ อาจเป็นอุปสรรคต่อการออกไปใช้สิทธิ แนะ เตรียมการรับมือภัยแล้ง
วันที่ 9 พฤษภาคม 2566 นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ชี้แจงข่าวในสื่อสังคมออนไลน์ กรณี #ฝนชุ่มฉ่ำวันเลือกตั้ง มาพร้อมกับพายุ 2 ลูกขนาบซ้ายขวา และ จะมีพายุหมุนเขตร้อน 2 ลูกก่อตัวในอ่าวเบงกอลและในทะเลจีนใต้ ในช่วงวันที่ 8-13 พ.ค.2566 ว่า จากการตรวจสอบสภาพอากาศ ของกรมอุตุนิยมวิทยา ล่าสุด
ในช่วง 1 สัปดาห์ข้างหน้า (9-15 พ.ค.66) ไม่มีพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศไทย เบื้องต้น พบพายุก่อตัวขึ้นในอ่าวเบงกอลเพียง 1 ลูก และไม่มีแนวโน้มเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทย ส่วนในทะเลจีนใต้ งไม่ปรากฏว่ามีพายุเกิดขึ้น เป็นเพียงหย่อมความกดอากาศต่ำเท่านั้น
ซึ่งหย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณอ่าวเบงกอล มีแนวโน้มจะทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุดีเปรสชัน ช่วงวันที่ 9-10 พ.ค.66 คาดว่าจะทวีกำลังแรงขึ้นอีกเป็นพายุไซโคลน ‘โมคา’ (MOCHA) ในวันที่ 11 พ.ค. แนวโน้มการเคลื่อนตัวจะขึ้นไปทางเหนือค่อนไปทางตะวันตก เข้าสู่บริเวณอ่าวเบงกอลตอนกลางและอ่าวเบงกอลตอนบน ช่วงวันที่ 13-14 พ.ค. แม้จะไม่เคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทย แต่จะส่งผลให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนต่อเนื่องใน โดยมีฝนตกหนักบางพื้นที่ ช่วงวันที่ 11-14 พ.ค.
ขณะที่คลื่นลมในทะเลอันดามันจะแรงขึ้น โดยทะเลอันดามันตอนบนคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนทะเลอันดามันตอนล่าง คลื่นสูงประมาณ 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอีเอส ยังกล่าวถึงสภาพอากาศ วันเลือกตั้ง 14 พ.ค. จะยังคงมีฝนตกต่อเนื่องในหลายพื้นที่ จากอิทธิพลทางอ้อมของพายุไซโคลน ‘โมคา’ โดยจะมีฝนฟ้าคะนองบริเวณไทยตอนบน โดยเฉพาะด้านตะวันตกของภาคเหนือ ซึ่งมีโอกาสเกิดฝนประมาณร้อยละ 60 ของพื้นที่ ส่วนภาคอื่น ๆ รวมถึง กทม.และปริมณฑล มีโอกาสเกิดฝนร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคต่อการออกไปใช้สิทธิในวันเลือกตั้งได้
สามารถติดตามข่าวพยากรณ์อากาศได้ที่ เว็บไซต์ www.tmd.go.th หรือเพจเฟซบุ๊ก : กรมอุตุนิยมวิทยา โทร.สายด่วน 1182
นายชัยวุฒิ ยังกล่าวถึงสถานการณ์ ‘เอลนีโญ’ ที่จะส่งผลกระทบต่อประเทศไทยในปีนี้ ว่า สถานการณ์ลานีญาที่ต่อเนื่องมา 3 ปี ตั้งแต่กลางปี 2563 สิ้นสุดลงแล้วในช่วงต้นปีนี้ การวิเคราะห์ข้อมูลและคาดการณ์แบบจําลองศูนย์ภูมิอากาศชั้นนำของโลกคาดว่า สภาวะเอลนีโญจะเกิดขึ้นในช่วงเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคม และจะต่อเนื่องไปจนถึงช่วงเดือนธันวาคม 2566 ถึงกุมภาพันธ์ 2567 ซึ่งจะส่งผลให้สภาวะอากาศของประเทศไทยปี 2566 มีแนวโน้มที่อุณหภูมิสูงกว่าค่าปกติ ปริมาณฝนรวมของทั้งประเทศในช่วงฤดูฝน จะน้อยกว่าค่าเฉลี่ยปกติประมาณร้อยละ 5 และจะน้อยกว่าปี 2565 ที่ผ่านมาอย่างชัดเจน
ส่วนแนวโน้มสภาวะอากาศปี 2567 อุณหภูมิเฉลี่ยจะยังคงสูงกว่าค่าปกติ (ประมาณ 0.5-1 องศาเซลเซียส) อาจจะใกล้เคียงกับกับปี 2559 ซึ่งเป็นปีที่เกิดเอลนีโญรุนแรง ปริมาณฝนรวมของประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะต่ำกว่าค่าปกติร้อยละ 10 และมีโอกาสสูงที่จะเกิดความแห้งแล้งได้ จึงขอให้เตรียมการรับมือภัยแล้ง
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: