กรุงเทพฯ – จบดีล 8 พรรคการเมืองรวม 313 เสียง ร่วมลงนามข้อตกลงจัดตั้งรัฐบาล 23 ข้อ ‘วาระเปลี่ยนประเทศ’ และ 5 ข้อตกลงแนวทางการบริหารประเทศ โดยตัดมาตรา 112 ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ ย้ำ ใช้กลไกแก้ไขผ่านสภาฯ
วันที่ 22 พฤษภาค 2566 เวลาประมาณ 15.30 น. แกนนำจาก 8 พรรคการเมืองที่ร่วมจัดตั้งรัฐบาล ได้แก่ พรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทย พรรคประชาชาติ พรรคไทยสร้างไทยพรรคเสรีรวมไทย พรรคเพื่อไทรวมพลัง พรรคเป็นธรรม และพรรคพลังสังคมใหม่ ทยอยเดินทางร่วมประชุม ที่โรงแรมคอนราด กรุงเทพมหานคร ก่อนจะร่วมแถลงการลงนามข้อตกลงร่วม (MOU) ในการจัดตั้งรัฐบาล โดยนัดหมายสื่อมวลชนไว้เวลา 16.30 น. ซึ่งตรงกับเวลารัฐประหาร เมื่อปี 2557
กระทั่ง เวลา 16.50 น. นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมด้วย หัวหน้าและแกนนำพรรคการเมืองอีก 7 พรรค เดินขึ้นเวทีแถลงข่าว
ข่าวน่าสนใจ:
- บ้านใหญ่พรรคเพื่อไทยเชียงราย เปิดตัวผู้สมัครนายก อบจ.พร้อมกับนำทีมผู้สมัคร สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย ทั้ง 36 เขต ในนามพรรคเพื่อไทย
- ระทึก ไฟไหม้โรงงานผลิตกล่องโฟมใส่อาหารหวิดวอดหมดหลัง
- ศึกษาธิการระยอง จับมือเทคนิคระยอง และศูนย์การค้าเซ็นทรัลระยอง จัดกิจกรรมโครงการเรียนดี มีความสุขสู่อนาคตที่สดใส
- สงขลา จัดใหญ่สุดในภาคใต้ Hatyai Coundown 2025 Happiness illumination ห้ามพลาด
นายพิธา ระบุว่า วันนี้ (22 พ.ค.) เป็นวันสำคัญทางประวัติศาสตร์การเมืองไทย โดยนอกจากครบรอบรัฐประหาร พ.ศ.2557 แล้ว ยังเป็นวันที่เราลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกันในการจัดตั้งรัฐบาล เป็นหมุดหมายของความสำเร็จร่วมกันของสังคมไทย ที่เราสามารถเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตยโดยสันติผ่านระบบรัฐสภาได้
จุดประสงค์ของการจัดทำบันทึกความเข้าใจร่วมกันในการจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้ เป็นการรวบรวม ‘วาระร่วม’ ที่ทุกพรรคเห็นตรงกัน และพร้อมผลักดันผ่านกลไกของรัฐบาลและรัฐสภา ขณะเดียวกัน ถือเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล เพื่อเสนอต่อประชาชนทั้งประเทศ
ทำขึ้นเพื่อสร้างพื้นฐานในการจัดตั้งรัฐบาล และการทำงานร่วมกันระหว่าง พรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทย พรรคประชาชาติ พรรคไทยสร้างไทย พรรคเสรีรวมไทย พรรคเพื่อไทรวมพลัง พรรคเป็นธรรม และพรรคพลังสังคมใหม่ ทุกพรรคเห็นร่วมกันว่า ภารกิจของรัฐบาลที่ทุกพรรคจะผลักดันนั้น ต้องไม่กระทบต่อรูปแบบของรัฐ การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และการดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ขององค์พระมหากษัตริย์ ประกอบไปด้วยวาระร่วม 23 ข้อ ดังนี้
1.ฟื้นฟูประชาธิปไตย รวมถึงการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของประชาชนให้เร็วที่สุดโดยมีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน
2.ยืนยันและผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียม เพื่อรับประกันสิทธิสมรสสำหรับคู่รักทุกเพศ โดยจะไม่บังคับประชาชนที่เห็นว่าขัดแย้งกับหลักการของศาสนาที่ตนเองนับถือ
3.ผลักดันการปฏิรูประบบราชการ ตำรวจ กองทัพ และกระบวนการยุติธรรม ให้สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตย โดยยึดหลักความโปร่งใส ทันสมัย มีประสิทธิภาพ และผลประโยชน์สูงสุดของประชาชน
4.เปลี่ยนการเกณฑ์ทหารแบบบังคับ เป็นระบบสมัครใจ ทั้งนี้ ยังคงไว้ซึ่งการเกณฑ์ทหารยามศึกสงคราม
5.ผลักดันกระบวนการสร้างสันติภาพอย่างยั่งยืน ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยคำนึงถึงหลักการด้านสิทธิมนุษยชน การอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน รวมถึงทบทวนภารกิจของหน่วยงานและการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับความมั่นคง
6.ผลักดันการกระจายอำนาจทั้งในแง่ภารกิจและงบประมาณ เพื่อให้ท้องถิ่นตอบสนองความต้องการของประชาชนในพื้นที่ได้อย่างเหมาะสม มีประสิทธิภาพ ปราศจากการทุจริต
7.แก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น โดยการสร้างระบบและวัฒนธรรมรัฐโปร่งใส เปิดเผยข้อมูลรัฐในทุกหน่วยงาน
8.ร่วมฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยยึดหลักเพิ่มรายได้ประชาชน ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างระบบเศรษฐกิจที่เติบโต อย่างเป็นธรรม
9.ยกเครื่องกฎหมายเกี่ยวกับการทำมาหากิน และการดำรงชีวิตของประชาชน เช่น ตัดลด หรือพักใช้ชั่วคราว ซึ่งใบอนุมัติ อนุญาตที่ไม่จำเป็นและเป็นอุปสรรคเพื่อปรับปรุงใหม่ ให้ความช่วยเหลือสภาพคล่อง ทางด้านการเงินและสร้างแต้มต่อให้กับ SME พร้อมกับมุ่งเน้นการเติบโต GDP ของ SME สนับสนุน อุตสาหกรรม และสินค้าไทยให้มีความเข้มแข็ง สามารถแข่งขันกับตลาดโลกได้
10.ยกเลิกการผูกขาดและส่งเสริมการแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรมในทุกอุตสาหกรรม เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ขอสงวนสิทธิเฉพาะพรรคประชาชาติ ในการไม่ส่งเสริมเรื่องเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วยเหตุผลด้านศาสนา
11.ปฏิรูปที่ดินทั้งระบบ ด้วยการผลักดันกฎหมายปฏิรูปที่ดิน กระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม แก้ปัญหาแนวเขตป่าไม้และที่ดินของรัฐที่ทับซ้อนกับที่ดินของประชาชนรวมถึงการทบทวนคดีที่เป็นผล จากนโยบายทวงคืนผืนป่า
12.ปรับปรุงโครงสร้างการผลิตไฟฟ้า การคำนวณราคา และกำลังการผลิตที่เหมาะสม เพื่อลดค่าครองชีพประชาชนและสร้างความมั่นคงทางพลังงาน
13.จัดทำงบประมาณแบบใหม่ โดยเน้นใช้วิธีการจัดงบประมาณฐานศูนย์ (Zero-based budgeting)
14.สร้างระบบสวัสดิการดูแลประชาชนตั้งแต่เด็กแรกเกิดจนถึงผู้สูงวัย โดยคำนึงถึงความเหมาะสมและภาระทางการคลังระยะยาว
15.แก้ไขปัญหายาเสพติด โดยเร่งด่วน
16.นำกัญชากลับไปอยู่ในบัญชียาเสพติดให้โทษ โดยมีกฎหมายควบคุมและรองรับการใช้ประโยชน์จากกัญชา
17.ส่งเสริมเกษตรและปศุสัตว์ปลอดภัย คุ้มครอง รักษาผลประโยชน์ของเกษตรกร ลดต้นทุนการผลิต ส่งเสริมการตลาด ส่งเสริมการเข้าถึงเทคโนโลยี และแหล่งน้ำ ส่งเสริมการรวมกลุ่มของเกษตรกรเพื่อวางแผนการผลิตและรักษาผลประโยชน์เกษตรกร ส่งเสริมอุตสาหกรรมแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรเพื่อให้ เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ
18.แก้ไขกฎหมายประมง ขจัดอุปสรรค เยียวยา ฟื้นฟู และพัฒนาอาชีพประมงให้ยั่งยืน
19.ยกระดับสิทธิแรงงานทุกอาชีพให้มีสภาพการจ้างงานที่เป็นธรรม และได้รับค่าแรงที่เป็นธรรมสอดคล้อง กับค่าครองชีพและการเติบโตทางเศรษฐกิจ
20.ยกระดับสาธารณสุขให้ประชาชนเข้าภถึงระบบสาธารณสุขที่มีคุณภาพ
21ปฏิรูประบบการศึกษาเพื่อยกระดับคุณภาพ ลดความเหลื่อมล้ำ และส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต
22.สร้างความร่วมมือและกลไกภายในและระหว่างประเทศ เพื่อแก้ปัญหาฝุ่นพิษ รวมถึงการลดการปล่อย ก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ (Net Zero) โดยเร็วที่สุด
23.ดำเนินการนโยบายการต่างประเทศ โดยการฟื้นฟูบทบาทผู้นำอาเซียน และรักษาสมดุล การเมืองระหว่างประเทศของไทยกับประเทศมหาอำนาจ
ทุกพรรคเห็นพ้องกันว่าจะร่วมกันบริหารประเทศด้วยแนวทางปฏิบัติ ดังต่อไปนี้
1.ทุกพรรคจะคุ้มครองสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองของประชาชนทุกคน
2.ทุกพรรคจะทํางานโดยซื่อสัตย์สุจริต หากมีบุคคลของพรรคใดมีพฤติกรรมทุจริตคอร์รัปชัน ทุกพรรคจะ ยุติการดำรงตำแหน่งของบุคคลนั้น ๆ ทันที
3.ทุกพรรคจะทำงานโดยให้เกียรติซึ่งกันและกัน จริงใจต่อกัน สนับสนุนการทำงานซึ่งกันและกัน โดยยึดถือ ผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง มากกว่าผลประโยชน์ของพรรคใดพรรคหนึ่ง
4.ทุกพรรคมีสิทธิในการผลักดันนโยบายอื่นเพิ่มเติม แต่ไม่ขัดแย้งจากนโยบายในบันทึกข้อตกลงร่วมฉบับนี้ โดยอาศัยอ้านาจฝ่ายบริหารของรัฐมนตรีที่เป็นตัวแทนของแต่ละพรรคการเมือง
5.ทุกพรรคมีสิทธิในการผลักดันนโยบายอื่นเพิ่มเติม แต่ไม่ขัดแย้งจากนโยบายในบันทึกข้อตกลงร่วมฉบับนี้ โดยอาศัยอำนาจนิติบัญญัติของผู้แทนราษฎรที่สังกัดแต่ละพรรคการเมือง
หลังนายพิธา อ่าน MOU ทั้ง 23 ข้อ หัวหน้าพรรคทั้ง 8 พรรค ได้ลงนาม MOU โดยเริ่มจาก นายพิธา เป็นคนแรก จากนั้นเป็น พรรคเพื่อไทย ประชาขาติ ไทยสร้างไทย เสรีรวมไทย ไทรวมพลัง เป็นธรรม และพรรคพลังสังคมใหม่ ตามลำดับ
การลงนาม MOU และการแถลงข่าวครั้งนี้ นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ นักเคลื่อนไหว ได้เข้านั่งฟังด้วย พร้อมแสดงความเห็น โดยเฉพาะการนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติด การปิดร้านจำหน่ายกัญชา ท่ามกลางกองทัพสื่อมวลชนทั้งไทยและต่างประเทศทุกแฃนง
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: