กรุงเทพฯ – มวลชนเห็นต่าง ปะทะคารมหน้ารัฐสภา กดดัน ส.ว. เรียกร้องยกเลิก ม.112 แต่ถูกบุกถาม ออกมากดดัน ส.ว.ทำไม ไม่เกิดผลดีกับ ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ และพรรคก้าวไกล ขณะที่วงเสวนาเห็นพ้อง ส.ว.ควรโหวตนายกรัฐมนตรี ตามฉันทามติประชาชน
วันที่ 23 พฤษภาคม 2566 ที่บริเวณหน้าอาคารรัฐสภา กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม จัดเวทีเสวนาวิชาการ เพื่อย้ำจุดยืนกดดัน ส.ว.โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ตามนัดหมายเวลา 17.00 น. ซึ่งมีมวลชนหลายกลุ่มเข้าร่วม
กระทั่งเหตุชุลมุน มีปากเสียงกันอย่างรุนแรง จนเกือบเกิดการปะทะกันขึ้น หลังจากเวลา 19.00 น. กลุ่มมวลชนอิสระ ต่อต้านมาตรา 112 และ ส.ว. นำโดย นายนภสินธุ์ ตรีรยาภิวัฒน์ นำป้ายข้อความ คัดค้าน ม.112 และป้ายตำหนิ ส.ว. รวมทั้งภาพกรอบสีทอง มาชูบริเวณพื้นที่ชุมนุม มีความพยายามจะขึงป้ายผ้า แต่การ์ดของกลุ่มวีโว่พยายามเข้าห้ามและเก็บป้ายผ้าออกไป
สถานการณ์รุนแรงขึ้น เมื่อมีหญิงรายหนึ่งซึ่งอ้างว่าเป็นผู้สนับสนุนพรรคก้าวไกล และไม่เห็นด้วยกับการออกมาชุมนุมเพื่อกดดัน ส.ว. จะโกนแสดงท่าทีไม่พอใจ และต่อว่าการจัดการชุมนุม ระบุว่า การออกมากดกัน ส.ว.เช่นนี้ ไม่ได้มีประโยชน์อะไร อีกทั้งอาจจะทำให้ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากเสียงของ ส.ว. มีผลต่อการจัดตั้งรัฐบาลและการเลือกนายกรัฐมนตรี อยากให้รอการโหวตในรัฐสภาก่อน ถ้าไม่โหวตให้ค่อยว่ากัน ค่อยออกถนนกัน แต่ตอนนี้เพิ่งจะเริ่ม อย่าเพิ่งกดดัน เพราะพรรคกำลังเจรจากับ ส.ว.อยู่
ข่าวน่าสนใจ:
- ตรัง คู่ซี้ พระ-ฆราวาส เมาแอ๋ด่าทอชาวบ้านใกล้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก อาละวาดอ้างมีปืน ทำชาวบ้านแตกตื่น ตร.หิ้วปีกบังคับสึก กร่างไม่เลิกบอกรู้จักพระผู้ใหญ่
- ปิดตำนานนักเขียน "ตรี อภิรุม" ศิลปินแห่งชาติฯ เจ้าของผลงาน "นาคี"
- ศูนย์วัฒนธรรมเกาหลีฯ จัดกิจกรรม"วันกิมจิ"เผยแพร่การทำกิมจิ ผู้สนใจเข้าร่วมงานกว่า 700 คน
- "เบิร์ด ธงไชย" ศิลปินแห่งชาติ ร่วมสืบสานนาฏศิลป์สยาม ชมการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ
ขณะที่อีกกลุ่ม ออกมาชูป้ายยกเลิก ม.112 และป้ายตำหนิ ส.ว. พร้อมโต้เถียงกลับอย่างรุนแรง ว่าเป็นสิทธิในการแสดงออก
สุดท้าย ผู้จัดงานต้องมาแยกทั้งสองฝ่ายออกจากกัน พร้อมบอกให้นำป้ายคัดค้าน ม.112 ลง เนื่องจากวันนี้ไม่ได้มาเพื่อกดดัน ม.112 แต่มาเพื่อกดดัน ส.ว.ให้เคารพเสียงประชาชน
แต่กลุ่มต่อต้านมาตรา 112 ยังคงเคลื่อนไหวอยู่ในพื้นที่ชุมนุม ต่อมา ได้นำป้ายไปวางไว้บริเวณหน้าประตูอาคารรัฐสภา
อย่างไรก็ตาม การชุมนุมวันนี้ ‘น้องหยก’ เยาวชนวัย 15 ปี ที่ตกเป็นผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 เดินทางมาชุมนุมและแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ที่สื่อถึงสถาบันด้วย
อ่านจดหมายถึง ส.ว. เรียกร้องเคารพเจตจำนงประชาชน
นายรัฐภูมิ เลิศไพจิตร โฆษกกลุ่มวีโว่ พร้อมด้วย นายอัลเจโล สาธร กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม เป็นตัวแทนอ่านจดหมายทั้งภาษาไทยและอังกฤษ ที่ทางกลุ่มต้องการส่งถึง ส.ว. ในวันที่ 24 พฤษภาคม 2566 เรื่อง ขอให้สมาชิกวุฒิสภาเคารพเจตนารมณ์ของประชาชน ในการลงมติเห็นชอบให้ผู้ที่ได้รับเสียงข้างมากจากประชาชน ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มีเนื้อหาว่า
สืบเนื่องจากวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ได้มีการจัดเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผลปรากฏว่าพรรคก้าวไกลได้รับความไว้วางใจจากประชาชนมาเป็นลำดับที่ 1 ได้ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎร 152 ที่นั่ง และสามารถรวมเสียงจากพรรคการเมืองอื่นๆ ในการจัดตั้งรัฐบาลรวมกันได้มากกว่ากึ่งหนึ่งของสภา จึงหมายความว่าพรรคก้าวไกลมีสิทธิอันชอบธรรมโดยสมบูรณ์ในการจัดตั้งรัฐบาล แต่ปรากฏว่า ส.ว.บางท่าน แสดงท่าทีไม่เห็นด้วยในการเลือกนายกรัฐมนตรีที่มาจากเจตจำนงและความต้องการส่วนใหญ่ของประชาชน
ด้วยท่าที่ของ ส.ว.บางท่าน ที่ปฏิเสธเจตจำนงของประชาชน นำมาซึ่งการตั้งคำถามต่อ ส.ว. ในการดำรงไว้ซึ่งหลักการพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ที่ประชาชนไม่ว่าจะมีฐานะหรือสถานภาพแตกต่างกันเพียงใด ล้วนมีหนึ่งสิทธิหนึ่งเสียงเท่ากัน ด้วยเกียรติและศักดิ์ศรีของ ส.ว. ผู้ซึ่งต้องรับผิดชอบต่อผลประโยชน์ของประชาชน ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
จึงขอความกรุณา ส.ว.เคารพเจตจำนงของประชาชน โดยการลงคะแนนเสียงเห็นชอบให้ตัวแทนพรรคการเมืองที่ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนมากที่สุด ในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและสนับสนุนให้พรรคการเมืองที่มาจากประชาชนในการจัดตั้งรัฐบาล เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศและประชาชน ทั้งนี้ การกระทำที่สง่างามและตามหลักการของประชาธิปไตยในครั้งนี้ จะถูกบันทึกในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย
ส่วนการเสวนาบนเวทีเป็นไปอย่างราบรื่น ผู้ร่วมเสวนาต่างแสดงความคิดเห็น ไปในทิศทางเดียวกันว่า ส.ว.ควรจะโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี จากพรรคการเมืองที่ประชาชนออกเสียงเลือกมา ก่อนจะจบการเสวนา ในเวลา 20.00 น. ตามกำหนดการ และมวลชนทยอยเดินทางกลับ โดยไม่มีเหตุวุ่นวายใด ๆ อีก
ตำรวจวางกำลัง 3 กองร้อย รักษาความสงบ
ตำรวจสถานีตำรวจนครบาลบางโพ และเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน 3 กองร้อย รวมถึงตำรวจหญิง กระจายกำลังรักษาความปลอดภัย ตามประตูทางเข้า-ออกรัฐสภา และอาคารต่าง ๆ ตามแผนเผชิญเหตุดูแลรักษาความปลอดภัย ทั้งทางบกและทางน้ำ
นอกจากนี้ ยังมีรถกระจายเสียง รถตำรวจ รถดับเพลิง จอดประจำการอยู่ที่หน้าทางเข้า-ออกรัฐสภา ส่วนที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา มีเรือตรวจการณ์ของตำรวจน้ำประจำการรักษาความปลอดภัยให้สมาชิกวุฒิสภา
วุฒิสภาปิดประชุมตั้งแต่บ่ายสอง ส.ว.รีบกลับหนีม็อบ
การประชุมสมัยวิสามัญ เพื่อพิจารณาลงมติการดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ของวุฒิสภา ในวันนี้ ปิดการประชุมตั้งแต่เวลา 14.00 น. หลังเสร็จสิ้นการประชุม บรรดาสมาชิกวุฒิสภาต่างรีบเดินทางกลับที่พักทันที เพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับกลุ่มผู้ชุมนุม
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: