X

กทม.-ก้าวไกล จับมือ แก้ปัญหา ขับเคลื่อนกรุงเทพฯ แบบไร้รอยต่อ (มีคลิป)

กรุงเทพฯ – หัวหน้าพรรคก้าวไกล นำทีม ว่าที่ ส.ส.กทม. หารือ ผู้ว่าฯชัชชาติ ที่ยก 21 ข้อเสนอแนะขึ้นโต๊ะ ฟอร์มคณะทำงาน เดินหน้าแก้ปัญหาคนกรุง อย่างมีประสิทธิภาพ

วันที่ 6 มิถุนายน 2566 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมด้วย นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล, นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร และนายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ รวมถึง ว่าที่ ส.ส.กรุงเทพมหานคร และสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) พรรคก้าวไกล หารือร่วมกับ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และคณะผู้บริหารกรุงเทพฯ ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เพื่อออกแบบการทำงานร่วมกัน ในฐานะพรรคก้าวไกลมี ว่าที่ ส.ส.มากที่สุดในกรุงเทพฯ จำนวน 32 คน จากทั้งหมด 33 เขต

การหารือครั้งนี้ กทม.ได้นำเสนอ 21 ข้อเสนอ เพื่อแก้ปัญหา กทม. ซึ่งนายพิธา ระบุว่า หลายข้อเสนอของผู้บริหาร กทม. ตรงกับ 300 นโยบายของพรรคก้าวไกล และตรงกับร่างกฎหมาย 45 ฉบับ ที่พรรคก้าวไกลเตรียมยื่นทันที เมื่อเปิดสภาฯ

หลังการหารือ ทั้ง 2 ฝ่าย ได้แถลงข่าวร่วมกัน โดยชัชชาติ ระบุว่า การหารือวันนี้เป็นนิมิตหมายที่ดี เพราะการจะขับเคลื่อนเรื่องใดไปข้างหน้า การร่วมมือกันตั้งแต่ต้นเพื่อสร้างความเข้าใจเป็นสิ่งสำคัญ วันนี้ เป็นก้าวแรกของการเดินทางไกล ทั้ง กทม. และพรรคก้าวไกล มีเป้าหมายเดียวกัน คือ ผลประโยชน์สูงสุดของประชาชน การลงพื้นที่ของทีมงานว่าที่ ส.ส.ก็จะมีความเห็นจากประชาชนหลายด้าน และการเห็นถึงปัญหา

ด้านนายพิธา กล่าวว่า ที่ผ่านมา การทำงานมี 3 อุปสรรคสำคัญ คือ ข้อจำกัดด้านกฎหมาย ข้อจำกัดด้านงบประมาณ และการประสานงานระหว่างรัฐสภา กับ สภา กทม. หากแก้ไขทั้งหมดนี้ได้ จะทำให้ กทม.ทำงานได้คล่องตัวมากขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาของประชาชน

การจะก้าวให้ไกลต้องก้าวไปด้วยกัน เป็นสิ่งหนึ่งที่พรรคก้าวไกลคิดมาตลอดในการทำงานอย่างไร้รอยต่อ ปัญหาหลาย ๆ เรื่องในกรุงเทพฯ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเก่าที่มีมานาน หรือปัญหาใหม่ที่เกิดขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา หากสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างไร้รอยต่อ ตั้งแต่ระดับรัฐบาล นายกรัฐมนตรี สภาผู้แทนราษฎร ผู้ว่าฯ กทม. สภา กทม. ก็จะสามารถทำให้ กทม.ทำงานได้คล่องตัวมากขึ้น

นายพิธา กล่าวอีกว่า การหารือมี 3 ประเด็นหลัก คือ
1.ข้อเสนอ 21 ข้อของ กทม. ซึ่งต้องอาศัยการประสานงานกับรัฐสภาในการแก้ไขกฎหมาย พรรคก้าวไกลพร้อมให้ความร่วมมือ เช่น การแก้ไขฝุ่น PM2.5 ใน กทม. ซึ่งส่วนใหญ่มีสาเหตุจากรถยนต์ ถ้ารถน้อยกว่า 4 ล้อ กทม.มีอำนาจในการตรวจ แต่ถ้ามากกว่า 4 ล้อ จะเป็นอำนาจของกระทรวงอื่น

2.ร่างกฎหมาย 45 ฉบับ ที่พรรคก้าวไกลจะเสนอต่อสภาฯ ที่เกี่ยวข้องกับ กทม. คือ การแก้ไข พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร เพื่อให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าเขต

3.การตั้งคณะกรรมการเปลี่ยนผ่านในการทำงาน ระหว่างพรรคก้าวไกลและ กทม. (Bangkok Transition Team) หลังจากนี้ คณะทำงานจะประชุมติดตามความคืบหน้ากันต่อไป

เมื่อถามถึงปัญหาเรื่องการเดินทางและตั๋วร่วม นายพิธา ระบุว่า มีความตั้งใจที่จะนำเทคโนโลยีมาใช้แก้ปัญหาการเดินทางที่ยังคงมีรอยต่อ ทั้งการใช้ตั๋วโดยสารร่วมใบเดียวที่ราคาย่อมเยา การมีรถเมล์ไฟฟ้า หากทำได้ จะได้ประโยชน์ทั้งการจราจรและลดการใช้พลังงานที่เป็นปัญหาอยู่ทุกวันนี้ ด้านนายชัชชาติ เสริมว่า เทคโนโลยีตั๋วโดยสารร่วมในปัจจุบันทำได้ไม่ยาก สิ่งสำคัญ คือ ทำอย่างไรให้ราคาทั้งหมดถูกที่สุดสำหรับประชาชน นี่คือโจทย์ที่ท้าทายมากกว่า ซึ่ง กทม.ทำเองไม่ได้ เพราะโครงสร้างราคารวมหมายถึงรถเมล์ และเรือด้วย

สำหรับข้อเสนอแนะ 21 ข้อ ที่กรุงเทพมหานคร นำเสนอ ประกอบด้วย1.การใช้ที่ดินของหน่วยงานรัฐเพื่อประโยชน์ของประชาชน
2.ร่วมผลักดันโครงการตามวาระแห่งชาติ เรื่องฝุ่น PM2.5
3.ทบทวนภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
4.ร่วมมือกับรัฐในการแก้ไขปัญหาจราจร
5.ศึกษาแผนระยะยาวในการป้องกันน้ำทะเลขึ้นสูง เนื่องจากสภาวะโลกร้อน
6.หาแนวทางในการจัดสรรงบประมาณให้สะท้อนกับความเป็นจริง
7.นำสายสื่อสารลงดิน โดย กสทช. กทม. กฟน. และผู้ประกอบการ
8.หาข้อสรุปร่วมกันสำหรับโครงการรถไฟฟ้า
9.สนับสนุนการลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มความสะดวกในการเดินทาง ค่าโดยสารร่วม รถเมล์ รถไฟฟ้า เรือ ให้เป็นระบบเดียว
10.ร่วมกับรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยสำหรับคนเมือง
11.พัฒนา Open Bangkok โดยการสนับสนุนข้อมูลจากรัฐ
12.ส่งเสริมการดำเนินโครงการเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจเมือง
13.ปรับปรุงกฎหมายให้มีประสิทธิภาพ
14.แก้พรบ. กทม.ให้ทันสมัยยิ่งขึ้น
15.เร่งรัดโครงการค้างอยู่ที่ต้องอาศัยเงินจากรัฐบาล
16.ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการสร้างความปลอดภัยและความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยว
17.ส่งเสริมกลไกระบบสาธารณสุขปฐมภูมิ และการเชื่อมต่อกับเครือข่ายโรงพยาบาล Bangkok Health Zones
18.ยกระดับระบบการป้องกันบรรเทาสาธารณภัย และการบริหารเรื่องฉุกเฉินตั้งแต่การเผชิญเหตุไปจนถึงการชดเชยค่าเสียหาย
19.ทบทวนอัตราส่วนค่าใช้จ่ายการจัดการบุคลากรภาครัฐ โดยเฉพาะงานด้านสาธารณสุขและสาธารณภัย
20.ทบทวนแนวทางการจัดทำความร่วมมือบ้านพี่เมืองน้องของเมืองให้ท้องถิ่นสามารถดำเนินการได้คล่องตัวมากขึ้น
21.ยกระดับการศึกษาให้สอดคล้องกับบริบทของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

Picture of ลักขณา สุริยงค์

ลักขณา สุริยงค์

ทำหน้าที่สื่อมวลชนมาเกือบ 30 ปี ทั้งงานสายข่าวและจัดรายการทีวี-วิทยุมานับไม่ถ้วน "ไม่เป็นกลาง แต่เป็นธรรม พร้อมนำเสนอความจริง"