กรุงเทพฯ – ผู้ว่าฯ กทม.ขออย่ากังวลแผ่นดินไหว ยืนยัน อาคารสูงในพื้นที่รับมือได้ แต่จะเร่งติดตั้งเครื่องมือวัดความสั่นสะเทือนในอาคารสาธารณะ พร้อมให้ความรู้-ซักซ้อมแผนรับมือในอนาคต
วันที่ 19 มิถุนายน 2566 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงสถานการณ์แผ่นดินไหว นอกชายฝั่งทางตอนใต้ของประเทศเมียนมา เมื่อเวลา 08.40 น. ขนาด 6 ริกเตอร์ ความลึกประมาณ 10 กิโลเมตร ส่งให้ประชาชนในกรุงเทพมหานครและจังหวัดนนทบุรี รับความรู้สึกสั่นไหว ว่า เหตุแผ่นดินไหวครั้งนี้ ศูนย์กลางอยู่ห่างจากกรุงเทพมหานคร 500 กิโลเมตร แต่ส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่หลายเขตรู้สึกได้
จากข้อมูลการรายงานจากผู้อำนวยการเขต พบว่ามี 10 เขตที่รู้สึกได้ คือ จตุจักร บางรัก คลองเตย ลาดพร้าว บางเขนหลักสี่ ห้วยขวาง บางพลัด บางขุนเทียน และหนองแขม ซึ่งเป็นเขตที่มีอาคารสูง แต่ยังไม่มีรายงานความเสียหาย อย่างไรก็ตาม กรุงเทพมหานครร่วมกับ ทีมวิจัยหลายมหาวิทยาลัย เพื่อศึกษาการรับมือมานานแล้ว โดยติดตั้งเครื่องวัดความสั่นสะเทือนที่ ชั้น 36 อาคารธานีนพรัตน์ กทม.2 ดินแดง
ข่าวน่าสนใจ:
กทม.เตรียมแผนติดตั้งเครื่องมือวัดความสั่นสะเทือนในอาคารสาธารณะให้มากขึ้น
รศ.วิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า กรุงเทพมหานครส่งเจ้าหน้าที่สุ่มสำรวจตรวจสอบอาคาร ที่อาจได้รับผลกระทบจากแรงแผ่นดินไหว พบว่าไม่มีอาคารใดได้รับผลกระทบ จึงสรุปได้ว่า แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นวันนี้ อยู่ในระดับที่ทำให้คนรู้สึกได้ชัดเจน และทำให้เกิดความวิตกต่อผู้ใช้อาคาร แต่ยังไม่รุนแรงเพียงพอที่จะส่งผลทำให้เกิดความเสียหายของโครงสร้างอาคารได้
ด้าน ดร.อมรเทพ จิรศักดิ์จำรูญศรี อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนักวิจัยด้านแผ่นดินไหว ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เหตุแผ่นดินไหวครั้งนี้ไม่พบความเสียหาย เนื่องจากเกิดห่างจากประเทศไทยมาก เมื่อปี 2557 เคยเกิดที่จังหวัดเชียงราย และมีความเสียหายเกิดขึ้น แต่ครั้งนี้เกิดความรุนแรงในระดับต่ำที่มากประชาชนที่อยู่ในตึกสูงอาจจะรู้สึกได้ และเกิดความตระหนก ซึ่งการออกแบบอาคารในกรุงเทพฯ สามารถต้านทานได้ไม่มีปัญหา วันนี้ถือว่าเป็นการฝึกซ้อมเผชิญเหตุในอนาคตที่อาจเกิดขึ้นอีก ซึ่งยังไม่สามารถทำนายได้ ต้องเตรียมพร้อมอาคารให้เป็นไปตามมาตรฐาน โดยมาตรฐานที่กรมโยธาธิการและผังเมืองกำหนด ถือว่ามีรูปแบบและคุณลักษณะที่สูงเพียงพอ
อย่างไรก็ตาม อาคารในกรุงเทพฯ มีความหลากหลาย มีทั้งอาคารที่สร้างถูกต้อง และอาคารที่สร้างเองซึ่งจะมีความเสี่ยงมากกว่า โดยเฉพาะอาคารที่ชั้นล่างอ่อนแอ เปิดโล่ง มีเสาไม่กี่ต้น และด้านบนมีสิ่งก่อสร้าง มีกำแพง ทำให้ชั้นล่างจะมีความเสี่ยงมากกว่า
ส่วน รศ.ดร.ฉัตรพันธุ์ จินตนาภักดี อนุคณะกรรมการด้านแผ่นดินของ วสท. (วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย) วิศวกรรมโยธา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เสริมว่า ค่าความเร่งการสั่นสะเทือน หรือ ค่า milli-g ที่วัดได้จากอาคารธานีนพรัตน์ 3.5 milli-g นั้น ทำให้คนที่อยู่บนอาคารรู้สึกได้หรือสิ่งของสั่นไหวได้ ซึ่งหากรุนแรงถึงระดับ 10-20 milli-g อาจมีความเสียหายได้ แต่ขณะนี้ตัวเลขยังต่ำอยู่ อาคารจึงมีความปลอดภัยแน่นอน ซึ่งโครงการวิจัยที่ดำเนินการร่วมกับ กทม.อยู่ในอนาคต จะมีการติดตั้งเครื่องมือในอาคารให้มากขึ้น และสามารถแจ้งเตือนไปยังผู้ใช้งานอาคารได้ทันที
นายวิศณุ กล่าวเพิ่มเติมว่า การติดเครื่องมือ ทำให้ทราบพฤติกรรมตึกมากขึ้น ต่อไป กทม.จะติดเครื่องมือในอาคารสาธารณะ อาคารสูง และโรงพยาบาล กทม. 6 แห่ง กฎกระทรวงที่ใช้เพื่อควบคุมอาคารในเรื่องแผ่นดินไหวมีมาตั้งแต่2550 แต่ยังมีอาคารที่ก่อสร้างก่อนปี 2550 โดยเป็นอาคารสูงมากกว่า 6 ชั้นขึ้นไป จำนวน 11,482 อาคาร แต่อาคารเหล่ายี้ ออกแบบเพื่อรองรับอยู่แล้ว
เตรียมพร้อมซักซ้อมภัยแผ่นดินไหว เทียบเท่าไฟไหม้และสารเคมีรั่ว
รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยแผนการรับมือภัยพิบัติของ กทม.ว่า กทม.ยังคงสำรวจอาคารและทำแผนที่อาคารอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการสำรวจโครงสร้างเป็นระยะด้วย การเกิดแผ่นดินยังไม่สามารถเตือนล่วงหน้าได้ เมื่อเกิดเหตุจึงต้องมีเครื่องมือวัดและสามารถแจ้งเตือนประชาขนถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นได้
ทั้งนี้ ระบบที่ประเทศไทยมีอยู่ในขณะนี้ คือ Line Alert ของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ร่วมกับกรมอุตุนิยมวิทยา ซึ่ง กทม.ได้ร่วมแจ้งเตือนเรื่องฝุ่น PM2.5 จากนี้ไปจะเชื่อมโยงข้อมูลเพิ่มเติม โดยให้เขตสำรวจพื้นที่สั่นไหวที่รู้สึกได้ และรายงานเข้าสู่ระบบ อีกส่วนที่ต้องดำเนินการ คือ ให้ข้อมูลความรู้แก่ประชาชน เรื่องการปฏิบัติตนเมื่ออยู่ในอาคาร การซักซ้อมการเผชิญเหตุ การทำผังอาคารและสัญลักษณ์ต่าง ๆ ให้ชัดเจน ที่ผ่านมา กทม.ตรวจสอบอาคารที่เป็นสถานประกอบการ และอาคารที่ต้องเป็นไปตามกฎกระทรวงอยู่แล้ว เดิมเน้นภัยประเภทอัคคีภัย แต่ขณะนี้ต้องเพิ่มเรื่องสารเคมีรั่วไหลและแผ่นดินไหวด้วย
ส่วนข้อกังวลเกี่ยวกับอาคารสูง ซึ่งส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในเขตเมืองชั้นในนั้น นายชัชชาติ กล่าวว่า อาคารสูงออกแบบตามมาตรฐานอยู่แล้ว มีการคำนวณโดยวิศวกร เชื่อว่าไม่มีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องกังวล เช่นเดียวกับพื้นที่ตั้งของอาคาร ซึ่งเป็นเรื่องของฐานรากและไม่น่าเป็นห่วง แต่ที่น่าเป็นห่วง คือ อาคารลักลอบก่อสร้างและไม่ได้มาตรฐาน
“อาคารทั่วไปสามารถรับแผ่นดินได้ระดับหนึ่งแล้ว การก่อสร้างไม่ได้ต้องการเฉพาะความแข็งแรง แต่ต้องการเรื่องความเหนียวด้วย การใส่เหล็กหลอก การมีเสาให้เป็นไปตามมาตรฐาน หากการก่อสร้างได้มาตรฐานบ้านเรือน 2 ชั้นก็สามารถรับแรงได้ระดับหนึ่งอยู่แล้ว ในส่วนของโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ที่ต้องใช้งานได้หลังเหตุแผ่นดินไหวจะเข้มข้นในเรื่องของการออกแบบอยู่แล้ว เช่น สถานที่สาธารณะ โรงพยาบาล สถานีดับเพลิง ซึ่งหลังแผ่นดินไหวต้องใช้งานได้ ความสำคัญของโครงสร้างจะมีผลต่อความเข้มข้นของการออกแบบด้วย” นายชัชชาติ กล่าวให้ความมั่นใจ
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: